แน่นอนว่ารวมถึงการเสนอในชุด “รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน” แต่ทุกครั้งก็จะมีนักวิชาการ ภาคประชาชน หยิบยกงานวิจัย รายงานตัวเลขผลกระทบออกมาชี้ใหเห็นถึงผลกระทบชัดที่จะเกิดขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ที่ไม่คุ้มค่ากันเสียเลยกระทั่ง นิด้าโพล ซึ่งทำการสำรวจความเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา 41.67% เห็นว่าการเปิดผับถึงตี 2 เหมาะสมแล้ว ไม่กระทบกับผู้อื่น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดเวทีระดมความเห็นนักวิชาการและภาคประชาสังคม ต่อนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ ตี 4 มีกายหยิบรายงานการศึกษาในต่างประเทศ ทั้งออสเตรเลีย ยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการขยายเวลานั่งร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรงแรม ล้วนพบว่าทำให้มีจำนวนอุบัติเหตุทางถนน และความรุนแรง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการทบทวน
อีกหนึ่งนักวิชาการด้านเศรษศาสตร์ อย่าง รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อภิปรายในเวทีเดียวกันนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ และน่าคิดตาม โดยอาจารย์เข้าใจถึงเหตุผลหลักที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต้องการให้คนจ่ายเงินมากขึ้น แต่คำถามก็คือว่า ถ้าจะกระตุ้นให้คนไทยจ่ายเงินมากขึ้นมันก็คงวนอยู่ในประเทศเท่านั้น เอาเงินมาจ่ายค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่มีเงินไปจ่ายอย่างอื่นที่จำเป็นในครัวเรือนแล้ว นี่คือปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญ แต่ถ้าจะพูดแบบนี้รัฐบาลคงโดนคนบ่นเยอะจึงอ้างชื่อนักท่องเที่ยวขึ้นมา
แต่ที่จริงคงเหลือคงแค่คำว่า “นักเที่ยว“ เพราะจริงๆ นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีโปรแกรมอยู่แล้วว่า จะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง ถ้ามัวแต่อยู่ในสถานบันเทิง ร้านเหล้าถึงตี 4 ก็คงนอนทั้งวันไม่ได้ไปเที่ยวไหน เพราะฉะนั้นเขามีจุดมุ่งหมายในการท่องเที่ยวอยู่แล้ว และถ้าดูในการสำรวจทุกๆ ครั้งที่ถามนักท่องเที่ยวว่ามาแล้วอยากจะไปดูอะไร อาหารมาเป็นอันดับ 1 ส่วนสถานบันเทิงเข้าใจว่าอยู่ในความสนใจอันดับท้ายๆ
ทุกวันนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนเพราะทุกพื้นที่ทุกจังหวัดทุกชุมชนของประเทศไทย ได้ปรับตัวเพื่อให้เห็นว่า ในพื้นที่ของตัวเองมีสถานที่น่าสนใจ สำหรับการศึกษาท่องเที่ยวในเชิงประเพณีวัฒนธรรมธรรมชาติที่สวยงาม เป็นประเทศที่มีความพร้อมในการท่องเที่ยวสูงมาก แต่การมาพูดแบบนี้กลับทำให้เหมือนว่าประเทศไทยไม่มีแหล่งท่องเที่ยวอะไรเลย จนต้องผลักให้คนไปเที่ยวสถานบันเทิง
รศ.ดร.นวลน้อย ยังบอกอีกว่า ถ้ารัฐบาลจะทำนโยบายนี้ แล้วอ้างคำว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว” ก็ควรจะมีข้อมูลอะไรมาให้เราดูเสียหน่อยว่า จะเพิ่มอะไร เท่าไหร่ แต่ส่วนตัวคิดว่าคงเพิ่มขึ้นบ้าง แต่น่าจะเป็นเพียงส่วนน้อย คำถามคือได้คุ้มกับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการประเมินมูลค่าของผู้ที่ต้องสูญเสียอย่างจริงจัง
“บางคนโต้เถียงว่าเป็นความชอบของส่วนตัว แต่ปัญหาคือความชอบของส่วนตัวของคนบางคนไม่สามารถชดใช้ให้คนที่ได้รับผลกระทบ เพราะอุบัติเหตุ 1 ครั้งทั้งบาดเจ็บ เสียชีวิต พิการ ไม่มีใครไปตามเลยว่ามูลค่าเท่าไหร่ แต่ที่เห็นคือคนที่เมาแล้วขับส่วนใหญ่ไม่มีปัญญาชดใช้กับความเสียหายที่เกิดขึ้น นี่คือคำตอบอยู่แล้วว่าถ้าคุณไม่มีวิธีป้องกัน หรือแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่จะป้องกัน รัฐบาลต้องคิดให้เยอะเพราะหน้าที่ของรัฐบาลจริงๆ คือ การทำให้สังคมนี้มีความสุข มีความกินอยู่ที่ดีขึ้น มีความปลอดภัย”
ถ้ารัฐบาลคิดว่า ถ้ามีปัญหาขึ้นมาและรัฐบาลแก้ได้ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าแก้อย่างไร แต่ตอนนี้ไม่มีใครเชื่อถือเท่าไหร่ ซึ่งไม่เกี่ยวว่าเป็นรัฐบาลปัจจุบันหรือรัฐบาลไหน แต่เป็นเรื่องที่พูดกันมาตลอด
ฉะนั้น ตอบได้เลย ณ ขณะนี้ว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” แต่ถ้าสมมุติอยากจะลองมากๆ และถ้าจะทำก็ควรทำในพื้นที่ทดลอง ในพื้นที่ผับ บาร์ที่แยกจากพื้นที่ชุมชนอย่างแท้จริง และเลือกทำเป็นบางวันเท่านั้น แต่ส่วนตัวเห็นว่ามีอย่างอื่นที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพได้มากกว่า.
อภิวรรณ เสาเวียง