จากปัญหาความไม่ชอบมาพากล ’ตัดไม้พะยูง“ ในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ และอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ ตามเกาะติดนำข้อมูลมานำเสนอตีแผ่ นอกจากจะทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มตื่นตัว

ปลายสัปดาห์ที่แล้วปัญหาตัดไม้พะยูง ยังถูกนำเข้าไปถกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติขอให้สภา พิจารณาปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ของส่วนราชการทั่วประเทศ ทำให้เห็นข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ของไทย ปัจจุบันลดลงจากปี 2559 (มีทั้งหมด 194 ล้านไร่) ล่าสุด ปี 2564 ลดเหลือแค่ 104 ล้านไร่ (หายไปกว่า 60%) ปัจจุบันไม้หวงห้ามมีค่า โดยเฉพาะ ไม้พะยูง ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้สัก ไม้ยางป่า ในพื้นที่ราชพัสดุ ป่าชุมชน ส่วนราชการ โรงเรียน ฯลฯ ซึ่งอยู่ในการดูแลของ กรมธนารักษ์

ตั้งแต่ ปี 2562 ทางกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อนุญาตให้มีการตัดไม้มีค่าได้ ในที่ดินส่วนตัว และ ที่ดินส่วนราชการ เกิดปัญหาติดตามมา คือ ขบวนการลักลอบเข้าไปบุกตัดไม้พะยูง และไม้มีค่า ตามพื้นที่ราชพัสดุ ตัดโดยไม่ต้องขนไม้ออกมา รอเวลาแค่มา ประมูลไม้ของกลาง กลายเป็นว่า ฟอกขาวไม้เถื่อน ได้ใบอนุญาตซื้อขายถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องเสียเวลาเข้าป่า แต่มาลอบตัดไม้มีค่าสวย ๆ ตามพื้นที่ ป่าชุมชน โรงเรียน แม้กระทั่งหน้าจวนผู้ว่าฯ

ก่อนที่นายวิรัช จะหยิบปัญหาเข้าไปพูดในสภา ยังนำคณะ กมธ.การเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร เข้าไปหารือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เกี่ยวกับ แนวทางการแก้ปัญหาการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุ ยิ่งทำให้ได้เห็นข้อมูลที่ทาง กรมธนารักษ์ สรุป ฐานข้อมูลของ “ที่ดินราชพัสดุ” ทั่วประเทศไทย มีประมาณ 12.601 ล้านไร่ (88,323 แปลง คิดเป็นร้อยละ 4% ของที่ดินประเทศไทย)

ข้อมูล การขอตัดต้นไม้มีค่า ในพื้นที่ราชพัสดุ 67 จังหวัด (..2563-2566) พบรายละเอียด ไม้พะยูง 28 จังหวัด/478ต้น, ไม้สัก 45 จังหวัด/2,092 ต้น,ไม้มีค่าอื่น ๆ 61 จังหวัด/9,640 ต้น แต่ถ้าแยกเฉพาะของพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ (.. 2563-2566) พบการตัดไม้พะยูง 122 ต้น (ปี พ.. 2566 ยังไม่สิ้นปี ขอตัดไม้พะยูงไปแล้ว 60 ต้น)

หลังปัญหาไม้พะยูงถูกตีแผ่ออกมา มีคำถามแบบตรง ๆ ไปถึง 3 หน่วยงาน ว่า 1.ภาครัฐไม่มีเงินถึงขนาดต้องตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุขายให้กับพ่อค้า ชาวบ้านก็อยากรู้ว่า เงินที่ได้จากการขายไม้ไปอยู่ส่วนไหนแน่ นำไปใช้ทำอะไร 2.ขอให้ตรวจสอบการประเมินราคาไม้พะยูงของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มีหลักเกณฑ์อย่างไร ทำไมขายราคาถูกกว่าปกติ และ3.ปัจจุบันสถาบันการศึกษา สามารถขอตัดไม้พะยูงหรือไม้หวงห้ามมีค่าขาย เพื่อหาเงินเข้าโรงเรียนได้จริงหรือไม่

แม้ตอนนี้ทางกระทรวงการคลัง จะเด้งรับทราบปัญหา สั่งห้ามตัดไม้มีค่าในพื้นที่ราชพัสดุทุกชนิด ยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็น!! พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง หาก “เจ้าหน้าที่ธนารักษ์” เข้าไปมีเอี่ยวจะเอาผิดขั้นเด็ดขาด รวมทั้งวางมาตรการแก้ปัญหา ระยะสั้น-กลาง-ยาว และขีดเส้น 1 ปี เร่งทำบัญชีไม้มีค่าในพื้นที่ราชพัสดุทั่วประเทศ

อีก 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหา คือ กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ต้องไปเร่งหาคำตอบถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทำไมปี 2566 สถานศึกษาจึงขออนุญาตตัดต้นพะยูงมากผิดปกติ ทั้งที่น่าจะเป็นพื้นที่ของการอนุรักษ์ เงินที่ได้จากขายไม้ตอนนี้อยู่ไหน การประเมินราคาไม้มีค่าถูกต้องตามเกณฑ์หรือไม่

หากภาครัฐหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมกันสืบสวนต่อเนื่องจริงจัง ขยายผลสาวต่อไปให้สุด ถึง “ขบวนการค้าไม้พะยูงข้ามชาติ” กระชากหน้ากาก “เจ้าหน้าที่รัฐนอกรีต” เห็นแก่เงิน และ “นายทุน” ฟอกขาวไม้เถื่อนส่งออกไปขายต่างประเทศ นอกจากจะปราบขบวนการค้าไม้ข้ามชาติแล้ว ยังได้ร่วมกันอนุรักษ์ต้นไม้มีค่าให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง!!

——————–
เชิงผา