โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้ยกสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ขึ้นมาให้ดูก็พบว่า เฉพาะมะเร็งเต้านมรายใหม่ในไทยพบราวๆ 17,000 รายต่อปี เสียชีวิตกว่า 4,800 รายต่อปี คิดเป็น 40% ส่วนมะเร็งปากมดลูก มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5,400 รายต่อปี เสียชีวิต 2,200 รายต่อปี คิดเป็น 50%
นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย ดังนั้น จึงได้เป็นนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ที่ต้องเร่งเสริมป้องกันโรค การวินิจฉัยและรักษาให้เร็ว เพราะมะเร็งเต้านมนั้นหากพบเร็วโอกาสในการรักษาหายมากถึง 90% จึงได้ฝากให้ สปสช. พิจารณาการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเมมโมแกรม ในผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
ส่วนมะเร็งปากมดลูก ก็ได้ขยายการให้วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง ดังกล่าวให้กับกับผู้หญิงอายุระหว่าง 11 – 20 ปี ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน เริ่มวันที่ 8 พ.ย.นี้ เบื้องต้น “กรมควบคุมโรค” รายงานว่าเตรียมวัคซีนไว้ 1.43 ล้านโดส พร้อมฉีดในพื้นที่ 3.8 แสนโดส รอส่งวัคซีนอีก 4.5 แสนโดส และวัคซีนจากกรมควบคุมโรคอีก 6 แสนโดส
“มะเร็งปากมดลูกพบในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยพบมาก ในสตรีอายุระหว่าง 45-50 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเมื่ออยู่ในระยะลุกลาม ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากถึง 90% ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้าได้”
ขณะที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินหน้าโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) ในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 1.8 แสนคน เพิ่งตรวจไปได้ประมาณ 8 หมื่นราย เท่ากับว่าเหลือที่ยังต้องดำเนินการตรวจประมาณ 90,000 คน
“สาเหตุที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังไม่เป็นไปตามเป้า คือปัญหาเรื่องความครอบคลุมของหน่วยบริการแล้ว และที่สำคัญคือ “ผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย” ที่มารับการตรวจน้อยเพราะติดภารกิจ หรือไม่พร้อมเข้ารับการตรวจ เขินอาย” พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผอ. สปสช. เขต 9 นครราชสีมา ให้ข้อมูล
ดังนั้น จึงได้หารือกับ สปสช. ส่วนกลาง สำนักงานสาธาณณสุขจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลกรุงเทพ ในเข้ามาช่วยเติมเต็มการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่ม Non-UC หรือประชาชนที่ไม่ได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) เช่น ผู้ประกันตน เป็นต้น นำร่องที่โรงงานของบริษัท ซีพีเอฟ ก่อน กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 2,500 คนระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค.นี้ ทั้งนี้การการเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้สตรีกลุ่มเป้าหมายรับการตรวจได้สะดวกในด้านเวลาในการเก็บสิ่งส่งตรวจและลดความเขินอายได้มากยิ่งขึ้น