สงครามการสู้รบระหว่าง “กลุ่มฮามาสอิสราเอล” ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยที่หวังไปขุดทองที่ประเทศตะวันออกกลาง เพื่อกลับมาลืมตาอ้าปากได้ ให้ครอบครัวมีชีวิตที่เป็นอยู่ดีขึ้น และครั้งนี้ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีแรงานไปทำงานจำนวนมาก ซึ่งมีรายงานแรงงานไทยเสียชีวิตกว่า 30 ราย สูงที่สุดในกลุ่มคนต่างชาติที่อยู่ในอิสราเอล และยังถูกจับไปเป็นตัวประกัน เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องระดมความช่วยเหลือนำแรงงานไทยกลับประเทศสู่อ้อมกอดของครอบครัวโดยเร็วที่สุด

 “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ “นายไพโรจน์ โชติกเสถียร” ปลัดกระทรวงแรงงาน  ถึงภารกิจในการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลในภาพรวมจะดำเนินการอย่างไรให้ครบวงจรในการช่วยเหลือในช่วงที่แรงงานเสียขวัญ และรวมไปถึงในอนาคตการที่ส่งออกแรงงานไทยไปทำงานต่างแดน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร

โดย “ปลัดกระทรวงแรงงาน” เปิดประเด็นถึงการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ว่า ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะมองแค่ตลาดแรงงานเดิม เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน หรือ แค่ประเทศตะวันออกกลางไม่ได้แล้ว เราต้องหาตลาดใหม่ที่ต้องการแรงงานไทย เช่น ออสเตรเลีย  แคนาดา สหรัฐอเมริกา ที่ยังต้องการแรงงานในภาคบริการ ยุโรปต้องการแรงงานภาคบริการโรงแรมหรือ การดูแลผู้สูงอายุ รวมถึง ญี่ปุ่น เมื่อก่อนแรงงานไทยไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก แต่ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงมีความต้องการใช้แรงงานในภาคบริการสูงมาก จึงต้องพัฒนาแรงงานไทยให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มโอกาสในการไปทำงานดูแลผู้สูงอายุในประเทศที่มีความต้องการ และมีรายได้ที่สูง

@ นอกจากค่าตอบแทน จะดูเรื่องพื้นที่เสียงอันตรายด้วยหรือไม่ 

สงครามในอิสราเอลครั้งนี้ ทำให้เราต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของแรงงานที่ส่งไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น  ประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะสงคราม ต้องดูว่านายจ้างหรือรัฐบาลของประเทศที่เราส่งแรงงานไปทำงานนั้นมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลหรือรักษาความปลอดภัยของแรงงานไทยมากแค่ไหน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเหตุการณ์สู้รบในอิสราเอลครั้งนี้ก็นับเป็นความสูญเสียที่เกิดกับแรงงานไทย ที่ไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดในประวัติศาสตร์

 ครั้งสุดท้ายที่มีภาวะสงคราม แรงงานไทยไม่เคยมีความสูญเสียถึงแก่ชีวิตมากขนาดนี้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการถูกเลิกจ้างต้องกลับประเทศมากกว่า แต่ในภาวะสงครามครั้งนี้ แรงงานไทยทั้งบาดเจ็บ เสียชีวิต กระทบสภาพจิตใจ เป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายกับความรู้สึกของแรงงานไทย ดังนั้นการส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศต้องคำนึงถึงความเสี่ยง ความปลอดภัยของแรงงานไทยมาเป็นอันดับแรก

“การส่งแรงงานไปทำงานในพื้นที่อิสราเอลครั้งต่อไป ต้องดูว่านายจ้างมีการเตรียมความพร้อมในการดูแล หรือหาพื้นที่หลบภัยให้กับแรงงานหรือไม่ เพราะตอนนี้เท่าที่ทราบบางแห่งสถานที่หลบภัยมีน้อย ไม่เพียงพอกับจำนวนแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตร เราต้องเข้มงวดในการตรวจสอบความปลอดภัยของแรงงานที่จะไปทำงานที่อิสราเอลมากขึ้น”

อย่างไรก็ตามหากมีการซักซ้อมถึงวิธีการเอาตัวรอดกันตั้งแต่ที่ประเทศไทยก็จะเป็นเรื่องที่ดี ต่อไปกระทรวงแรงงานอาจจะต้องมีการเตรียม ความพร้อมให้กับแรงงาน ในการดูแลตัวเอง หากมีการสู้รบ หรือเกิดความรุนแรง

@ เรามีแรงงานไทยทำงานที่อิสราเอลเท่าไหร่ จนถึงขณะนี้ได้รับการช่วยเหลือเท่าไหร่แล้ว

แรงงานที่กลับมาก็เป็นหลักพัน เทียบกับยอดที่มีอยู่ประมาณ 29,000 คนถือว่า เป็นจำนวนที่น้อย แต่ทางรัฐบาลก็มั่นใจว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ จะทยอยนำคนไทยกลับประเทศให้หมด หรือเกือบหมด อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานจากทูตแรงงานว่า ได้ให้การช่วยเหลือเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยได้เกือบหมดแล้ว ยังมีเพียงส่วนน้อยที่ยังอยู่ในพื้นที่สีแดง

@ สิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศในปัจจุบันมีความเหมาะสมหรือไม่

ส่วนตัวมองว่าสิทธิประโยชน์จากเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งกรณีภัยสงครามนั้นจ่ายแค่ 15,000 บาท ทุพพลภาพ 30,000 บาท ค่าทำศพไม่เกิน 40,000 บาท หรือเงินให้กับทายาทผู้เสียชีวิต 40,000 บาทนั้น มองว่า ยังน้อยอยู่เมื่ออยู่ในสภาพเศรษฐกิจ กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงจะแจ้งให้กรมการจัดหางานไปปรับอัตราการจ่ายเงินเยียวยาใหม่ให้มีความเหมาะสม แต่อาจจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นเป็นอัตราเดียว 1,000 บาท เท่ากันทุกประเทศ

 เดิมประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะเก็บค่าสมาชิกกองทุน 300 บาท ยกเว้นประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง หรือประเทศแถบยุโรปที่จะเก็บเงินเข้ากองทุน 500 บาท ดังนั้นถ้าเก็บเป็น 1,000 บาทเท่ากัน แล้วไปเพิ่มประโยชน์เงินทดแทน  เช่น กรณีบาดเจ็บจากสงครามก็เพิ่มจาก 15,000 บาทเป็น 30,000 บาท หรือ 50,000 บาท เสียชีวิตคือ 80,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหมาะสมมากกว่า

@ จะชี้แจงอย่างไรให้เข้าใจที่ต้องจ่ายอัตราที่เท่ากันทั้งๆ ที่บางพื้นที่ไม่มีความรุนแรง

เราได้จ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาเรื่องนี้  เห็นว่าการเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตราเดียวกันเท่ากันทุกประเทศ เก็บครั้งเดียว จาก 300 บาท 500 บาทมาเป็น 1,000 บาท เป็นสมาชิกกองทุน 7 ปี มีการดูแลเรื่องการบาดเจ็บ การเสียชีวิต และเพิ่มการชดเชยให้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นตัวเลข ที่มีความเหมาะสมมากกว่า ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไหร่นั้น จะมอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งดำเนินการ ให้เร็วที่สุดภายใน 1-2 เดือน จากนี้จะต้องมีการประชุมชี้แจง และเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติก่อนดำเนินการอย่างเป็นทางการ

@ ปัจจุบันประเทศไทยส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็จ้างแรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก จึงเกิดคำถามว่า ปัญหาอยู่ที่ค่าแรงในไทยต่ำใช่หรือไม่  

จากประเด็นของการมีการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ทำให้อัตราค่าจ้างในประเทศไทยยังไม่เป็นที่พึงพอใจของแรงงานไทย ทำให้บางคนไปทำงานต่างประเทศ เพราะมองว่า ในต่างประเทศอย่างน้อยได้เดือนละ 30,000 บาทขึ้นไป ก็สูงกว่าในประเทศไทยหนึ่งเท่าตัว ในส่วนเรื่องของค่าแรงค่าตอบแทนแรงงานนั้น เรากำลังพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้มีรายได้ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ คิดว่าต้นปีหน้าคงมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ อาจจะเป็น 400 บาท หรือ 450 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการไตรภาคีด้วยว่าจะมีการพิจารณาความเหมาะสมกันอย่างไร

@ การปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมีการมองว่า คนที่ได้ผลประโยชน์ คือ แรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานไทยส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานมีฝีมือ ที่มีค่าจ้างสูงกว่า ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับฝีมือ จึงเลือกจะไปขายแรงที่ต่างประเทศมากกว่า ตรงนี้จะมีความเป็นไปได้ในการพิจารณาปรับค่าแรงตามฝีมือ

เราต้องพิจารณาตามความถนัดของฝีมือตามอาชีพ แต่ละสาขาอาชีพ ในการขึ้นค่าจ้างเช่น ถ้าช่างเชื่อมควรจะปรับเป็นเท่าไหร่ อย่างน้อยวันละ 500 หรือ 600 บาท หรือ 1,000 บาท ช่างปูน ช่างไม้ เราจะต้องพิจารณาเป็นแต่ละสาขาอาชีพจะดีกว่า อย่างน้อยก็ทำให้คนไทยสามารถมีรายได้ที่สูงขึ้นตามที่รัฐบาลกำหนด

@ การ up skill, reskill แรงงานไทยเป็นอย่างไร คนที่มีงานทำและมีรายได้เป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้ได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไปดำเนินการเพิ่มทักษะแรงงาน และกำหนดค่าจ้างตามสาขาวิชาชีพแล้ว แต่ตัวเลขการอัพสกิลถือว่ายังน้อยอยู่ ซึ่งเราตั้งเป้าให้ทำให้ได้มากกว่าเดิมอย่างน้อย 2 เท่า 3 เท่าตัว เพื่อให้รายงานไทย มีรายได้เหมาะสมกับกลุ่มสาขาวิชาชีพ

@ ฝากถึงคนไทย ครอบครัวที่กำลังติดตามสถานการณ์สู้รบอยู่ขณะนี้  

ขณะนี้ กระทรวงแรงงานกำลังทำแนวทางช่วยเหลือแรงงานที่กลับมาจากอิสราเอล 1. การจ่ายเงินตามกองทุน 2. การจัดหางานทดแทนให้ในประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีก็มีการรับแรงงานภาคเกษตรอยู่ หรือจะกลับไปทำงานที่อิสราเอล ก็มีการเจรจาตามคอนแทคเดิม หรือจะทำงานที่ประเทศไทย 3. การพัฒนาทักษะฝีมือการฝึกอาชีพ ให้แรงงานได้มีงานทำตามตำแหน่งงานที่มีความสนใจ และ 4. การติดตามทวงเงินค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างที่อิสราเอลที่ยังคงค้างจ่ายอยู่ในงวดสุดท้าย เพราะบางคนค่าจ้างเงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท แต่ยังไม่ครบรอบการจ่ายเงินเดือนก็ต้องกลับมาประเทศไทยก่อน กระทรวงแรงงานก็จะไล่บี้ หรือว่าทวงค่าจ้างที่ค้างจ่ายอยู่กลับมาให้ กรณีนายจ้างเสียชีวิต ทางการอิสราเอลจะมีการรับผิดชอบในส่วนนี้ และมีเงินจากกองทุนประกันสังคมใดๆ อีกที่อิสราเอลอาจจะรับผิดชอบเพิ่มเติมให้ ซึ่งเป็นเงินชดเชยที่นอกเหนือจากเงินประกันทางอิสราเอลที่จะให้ ตามการประเมินความสูญเสีย.