ทั้งนี้ ที่ยังคงเสี่ยงอันตรายนั้น ก็ทั้งแรงงานไทยในอิสราเอลที่ประสงค์จะกลับไทยแต่ ยังไม่ได้กลับ และโดยเฉพาะแรงงานไทยส่วนที่ ยังไม่ประสงค์จะกลับไทย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงของ “สงคราม” แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยง เพราะขึ้นชื่อว่าอยู่ในดินแดนที่เกิดศึกสงคราม…อะไร ๆ ที่ร้ายแรงก็ย่อมเกิดขึ้นได้!! ซึ่งทางครอบครัวก็ย่อมต้องห่วง…

“เอาตัวรอดในเขตสงคราม” ไม่ง่าย!!…

แต่ครอบครัวย่อมหวัง “เอาตัวรอดได้”

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เรา “ก็ขอเอาใจช่วย”

และว่าด้วยเรื่องการ“เอาตัวรอดในเขตสงคราม” นี่วันนี้ ณ  ที่นี้ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ ซึ่งเรื่องนี้ “สนใจไว้ใช่ว่า…” เพราะ “วันร้ายคืนร้ายอาจกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวโดยไม่คาดคิด!!” อย่างที่แรงงานไทยในอิสราเอลต้องเผชิญ!! ทั้งนี้ กับเรื่องการเอาตัวรอดในเขตสงคราม ซึ่ง “หลักวิธีต่าง ๆ” ก็สามารถจะปรับใช้เป็นวิธี “เอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤติ-เหตุฉุกเฉินร้ายแรง” ได้ กับเรื่องนี้กรณีนี้…ก็มีคำแนะนำไว้ผ่านบทความ “วิธีเอาชีวิตรอดจากสงคราม” ที่จัดทำโดย ทีมงานวิกิฮาว (wikihow.com) โดยมีการแบ่งออกเป็น “4 หลักวิธี” ด้วยกัน นั่นคือ… 1.การดูแลความปลอดภัย 2.การค้นหาเสบียง 3.การหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บและเรียนรู้การปฐมพยาบาล 4.การตั้งสติให้ดี ซึ่งแต่ละวิธีมีรายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้…

หลักวิธีที่ 1 “ดูแลความปลอดภัย” ได้แก่… พยายามย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากการต่อสู้ หรือเกิดสถานการณ์ เช่น บริเวณที่ห่างจากสมรภูมิรบหลัก พื้นที่ที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ หรือแถบชนบท อย่างไรก็ตาม แม้ชนบทจะปลอดภัยกว่า แต่การขอความช่วยเหลือก็จะยากตามไปด้วย, หาอาคารอิฐแข็งแรงและมีชั้นใต้ดินหลบภัย เพราะอาคารประเภทนี้ทนต่อการปะทะได้ดีที่สุด ทั้งยังช่วยกำบังให้รอดพ้นสายตาผู้ประสงค์ร้าย ส่วนกรณีที่ต้องหลบซ่อนในป่าถ้าเป็นไปได้ก็ควรสร้างที่พักเพื่อป้องกันตนเองจากสภาพอากาศ และควรจะสามารถซ่อนตัวได้ง่าย กรณีที่มีอันตรายมาถึงบริเวณดังกล่าว

นอกจากนี้ กับหลักวิธีนี้ยังมีคำแนะนำเพิ่มว่า ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งแม้สงครามอาจทำให้คิดเรื่องการต่อสู้ แต่ในความเป็นจริงแล้วพลเรือนส่วนใหญ่มักจะเอาชีวิตรอดได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการปะทะให้ได้มากที่สุด ซึ่งสำหรับการหลีกเลี่ยงการปะทะนี้ยังอาจหมายถึงการหลบหนีจากบริเวณที่ไม่ปลอดภัยด้วย …นี่เป็นหลักวิธีแรกที่มีการแนะนำ

หลักวิธีที่ 2 “พยายามหาเสบียง” ได้แก่… พยายามตุนทรัพยากรทันทีที่เริ่มมีการสู้รบ โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง อาหารที่ไม่เน่าเสีย อาหารบรรจุห่อ น้ำดื่ม รวมถึงยาและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดด้วย เพราะจำเป็นต่อการรักษาสุขภาพในภาวะสงคราม, พยายามหาแหล่งน้ำสะอาด เพราะเป็นทรัพยากรสำคัญที่มักขาดแคลนช่วงสงคราม และหลักวิธีนี้ยังรวมถึง รวบรวมเอกสารสำคัญ เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ยืนยันตัวตน ซึ่งกับคนในพื้นที่ ก็เช่น สูติบัตร ทะเบียนสมรส บัตรประกันสังคม โดย เอกสารยืนยันตัวตนจะมีความสำคัญมากในกรณีต้องหนีออกนอกประเทศ …หลักนี้ก็ต้องทำทันทีเมื่อเริ่มมีการสู้รบ

หลักวิธีที่ 3 “หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บและโรคภัยไข้เจ็บ” โดยแม้จะไม่มีสถานการณ์ร้ายแรงใด ๆ ก็ ควรมีการเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเตรียมไว้ หากเกิดสถานการณ์ เกิดสงคราม จะได้ใช้รักษาอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด ซึ่งถ้ามีแผล พยายามใช้น้ำสะอาดล้างแผล อย่าใช้น้ำสกปรกที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อกับแผลเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ, ควรอยู่ให้ห่างจากอาวุธยุทโธปกรณ์ ในกรณีที่บังเอิญไปพบเจอ เพราะอาจทำให้เป็นอันตรายได้อย่างไม่คาดคิด, พยายามกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ได้มากที่สุด แม้จะทำไม่ได้เสมอไป แต่ถ้าทำได้ก็พยายามทำให้ได้มากที่สุด

หลักวิธีที่ 4 “ตั้งสติให้ดี” หลักนี้ก็ควรทำตั้งแต่แรกซึ่งข้อมูลโดย ทีมงานวิกิฮาว ได้ให้คำแนะนำไว้อีกว่า… พยายามติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสงครามให้ได้มากที่สุด เพราะคือสิ่งสำคัญในการที่จะเอาตัวรอด แม้ข่าวสารจะมีน้อย แต่ก็ควรพยายามให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข่าวสารข้อมูลพื้นที่ปลอดภัย สถานการณ์พื้นที่หลบภัย, พยายามรักษาความสัมพันธ์ กับครอบครัว เพื่อนบ้าน คนอื่น ๆเพื่อช่วยกันให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ อีกทั้งยังอาจมีการแบ่งปันอาหารและทรัพยากรให้กันอีกด้วย, สร้างทัศนคติทางใจเชิงบวก ที่แม้อาจจะยากเป็นพิเศษในกรณีสงคราม แต่ก็ต้องพยายามรักษาทัศนคติที่เป็นบวกเอาไว้ เพื่อไม่ให้สิ้นหวังในการจะเอาชีวิตรอดจากภัยสงครามที่เกิดขึ้น …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโดยสังเขปจาก “คำแนะนำที่รู้ไว้ใช่ว่า…”

และในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นยังชี้ “ข้อพึงระลึก” เพื่อ“เอาชีวิตรอดจากสงคราม” ไว้ด้วยว่า… “ต้องตั้งสติและปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย” ซึ่งวิธีการ-ทักษะต่าง ๆ ดังที่ว่ามาจะช่วยในการพยายามเอาชีวิตรอด ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าสงครามไม่ใช่หนังหรือวิดีโอเกม อย่าเลียนแบบโดยเด็ดขาด ต้องอาศัยการแก้ปัญหาตามความเป็นจริง …ทั้งนี้ คำแนะนำต่าง ๆ นี้… รู้ไว้-เตรียมไว้เผื่อปรับใช้เป็นวิธีเอาตัวรอดในเหตุฉุกเฉินร้ายแรงได้ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมสะท้อนต่อข้อมูลไว้ และ ขอเอาใจช่วยให้แรงงานไทยในอิสราเอลที่ยังไม่ได้เดินทางกลับไทยปลอดภัยทุกคน…

ขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสีย

หวังว่าจะไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีก

ในศึกที่คนไทยเราไม่ได้เกี่ยวข้อง!!.