สถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ส่งผลกระทบทำให้แรงงานไทยเสียชีวิตเกือบ 30 คน รวมทั้งบาดเจ็บ ถูกจับเป็นตัวประกันอีกจำนวนหนึ่ง และขออพยพกลับบ้านเกิดจำนวนหลายพันคน
ทำไม? คนไทยจึงแห่ไปทำงานในประเทศอิสราเอลกันมาก เพราะค่าแรงสูงอย่างนั้นหรือ? ทีมข่าว Special Report อัปเดตสถานการณ์ของแรงงานไทยในต่างประเทศกับ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าได้ค่าแรงกันเท่าไหร่? เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยที่ยังถกเถียงกันว่าสมควรจะปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท ได้หรือยัง!
แรงงานไทยไปอยู่เยอะ “ไต้หวัน-อิสราเอล-เกาหลีใต้”
รศ.ดร.กิริยากล่าวว่าจากข้อมูลเดือนก.ย.66 มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด 10 ประเทศแรก คือ 1.ไต้หวัน 49,820 คน 2.อิสราเอล 25,887 คน 3.เกาหลีใต้ 18,962 คน 4.ญี่ปุ่น 8,570 คน 5.มาเลเซีย 4,760 คน
6.สิงคโปร์ 3,395 คน 7.ฟินแลนด์ 1,654 คน 8.สวีเดน 1,500 คน 9.ฮ่องกง 1,390 คน และ 10.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1,017 คน
ทำไมแรงงานไทยไปอยู่ประเทศอิสราเอลกันมาก? รศ.ดร.กิริยากล่าวว่าเพราะเรื่องของรายได้ แรงงานไทยแทบทุกคนในอิสราเอลทำงานทางด้านการเกษตร อาจมีทำงานก่อสร้างอยู่บ้าง โดยนายจ้างที่นั่นบอกว่าคนไทยอดทนและขยัน ตรงข้ามกับนายจ้างที่เมืองไทย บอกว่าคนไทยเลือกงาน ไม่ทำงานเกษตร-ก่อสร้างแล้ว ไม่ขยัน ไม่อดทน สู้แรงงานจากเมียนมา และกัมพูชาไม่ได้
“อิสราเอล-เกาหลีใต้” ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2 พันบาท
เนื่องจากค่าตอบแทนมันแตกต่างกันมากนี่นะ! ผลิตภาพ (เทคโนโลยี+ประสิทธิภาพ) ต้องต่างกันแค่ไหน บ้านเขาถึงจ่ายได้เดือนละ 4-5 หมื่นบาท คนไทยจึงยอมห่างครอบครัว เพื่อไปลำบาก ทนทำงานที่นั่น 1 เดือน ได้เงินเท่ากับทำในประเทศไทย 3 เดือน เพราะอยากลืมตาอ้าปาก ต้องการเก็บเงินใช้หนี้ สร้างบ้าน ส่งลูกเรียนหนังสือ
โดยค่าจ้างขั้นต่ำของอิสราเอล คือ 50,914.49 บาท/เดือน หรือ 2,036-2,354 บาท/วัน หรือ 279บาท/ชั่วโมง หักภาษี ประกันสังคม ที่พัก ประกันสุขภาพ น่าจะเหลือราวๆ 38,678 บาท/เดือน
สำหรับแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล 25,962 คน (ส.ค.66) บวกกับแรงงานผิดกฎหมายอีกประมาณ 1,852 คน (ข้อมูลก.ย.62) คิดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน
ทางด้านเกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานกันมาก เพราะค่าแรงสูงวันละ 76,960 วอน (1 วอน = 0.027 บาท ณ วันที่ 16 ต.ค.66) ถ้าคิดเป็นเงินบาท ไปทำงานเกาหลีใต้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 2,077 บาท (ทำงาน8ชั่วโมง) พอๆ กับอิสราเอล
ภาพรวมคือเกาหลีใต้ กับอิสราเอลจ่ายค่าแรงค่อนข้างดี แต่รับคนน้อย ดังนั้นเกาหลีใต้จึงมี “ผีน้อย” หรือแรงงานเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายเยอะ แต่อิสราเอล “ผีน้อย” ไม่ค่อยมี เพราะเดินทางไปยากกว่า ส่วนค่าจ้างในไต้หวันสู้ไม่ได้กับ 2 ประเทศนี้ แต่ไต้หวันรับคนงานมากกว่า จึงเห็นว่าตัวเลขคนงานไทยไปทำงานในไต้หวันมากที่สุด
เหตุการณ์ใน “อิสราเอล” เป็นบทเรียนให้กระทรวงแรงงาน
ส่วนประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ปีที่แล้ว ส่งไปเยอะ 10,000 กว่าคน (สวีเดน 7,000คน) เพราะหลังโควิด-19 ผลไม้ป่ามีผลผลิตเยอะ แต่รายได้ผันผวนขึ้นอยู่กับการเก็บผลไม้ป่าได้มากหรือน้อย ยิ่งส่งคนไปเยอะ ตัวหารเยอะ รายได้น้อยลงตามสัดส่วน ต้องทำงานหนักเพื่อเก็บให้ได้หลายๆกิโลกรัม จะได้กำไร เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสูง คนไปครั้งแรกยังไม่มีประสบการณ์ก็ได้น้อยหน่อย ต้องทนสภาพอากาศหนาวเย็น ต้องก้มๆ ต้องคลานไปเก็บผลไม่ป่า แต่สวีเดนมีสหภาพแรงงานเข้มแข็งช่วยดูแล ประกันค่าจ้างขั้นต่ำ 80,000 กว่าบาท/เดือน
ขณะที่ฟินแลนด์ไม่รับรองสถานะแรงงานให้แก่คนงานผลไม้ป่า คนงานจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน จึงทำสัญญากันในลักษณะนายจ้างในประเทศไทย หรือบริษัทผู้ประสานในประเทศไทยขออนุญาตพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ โดยประกันรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน
รศ.ดร.กิริยากล่าวด้วยว่า สำหรับแรงงานไทยที่เสียชีวิตจำนวนมากในอิสราเอลครั้งนี้ น่าจะมากที่สุด ถือเป็นบทเรียนที่กระทรวงแรงงานต้องนำมาทบทวน ทั้งเรื่องการจัดส่งแรงงานไปยังพื้นที่ปลอดภัย ไม่อยู่ใกล้บริเวณพื้นที่เสี่ยงการสู้รบ รวมทั้งแผนการเคลื่อนย้ายแรงงานไปพื้นที่อื่นที่ปลอดภัยกว่า รวมถึงประเทศใกล้เคียง ตลอดจนงบประมาณที่ต้องใช้ในการส่งกลับกรณีสถานการณ์ควบคุมไม่ได้
“กระทรวงแรงงานควรเตรียมหางานให้แรงงานคืนถิ่นจากอิสราเอลที่ไม่ประสงค์กลับไปทำงานที่นั่นอีก โดยทำโครงการพิเศษ ดึงเอาประสบการณ์ทำงานต่างแดนมาขยายผลให้เกิดประโยชน์ในไทย ตรงนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย” รศ.ดร.กิริยา กล่าว