เสถียรภาพด้านความมั่นคงของอิสราเอลเผชิญกับแรงสั่นคลอนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อกลุ่มฮามาสเปิดฉากปฏิบัติการ “อัล-อักซอ ฟลัด” เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ขอบเขตและความสูญเสียที่เกิดขึ้น ถือได้ว่า รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามยมคิปปูร์ ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์และซีเรีย เมื่อเดือนต.ค. 2516 และยิ่งตอกย้กความบาดหมางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่ยืดเยื้อยาวนานหลายศตวรรษ
สำหรับชนวนเหตุของความขัดแย้งครั้งล่าสุด มาจากการที่อิสราเอลปิดจุดผ่านแดนในฉนวนกาซานาน 2 สัปดาห์ เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการจลาจลของชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ จนกระทั่งอิสราเอลยินยอมเปิดจุดผ่านแดนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 ก.ย.
นอกจากนั้น ยังมีการที่ตำรวจอิสราเอลตรวจค้น และ “จัดระเบียบ” มัสยิดอัล-อักซอ ในเมืองเยรูซาเลม ตั้งแต่ต้นปีนี้ และการรื้อค้นเขตที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกลุ่มฮามาสยังกล่าวถึง “ความโกรธแค้นถึงขีดสุด” ต่อการที่อิสราเอลยังไม่ยุติการปิดล้อมฉนวนกาซา
อนึ่ง ข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านความมั่นคงหลายแห่ง ระบุไปในทางเดียวกัน ว่าหน่วยข่าวกรองของอียิปต์เตือนอิสราเอลหลายครั้ง เกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซาว่า มีความเสี่ยงสูง “ที่จะระเบิด” เนื่องจากสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและการเมืองภายในพื้นที่ ซึ่งเลวร้ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ขณะที่แหล่งข่าวคนหนึ่งเปรียบเทียบสงครามครั้งนี้ว่าเป็น “9/11 แห่งภูมิภาคตะวันออกกลาง” และมีแนวโน้มสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งภูมิภาค “จนอาจสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลบางประเทศได้” เนื่องจากรัฐบาลอียิปต์มีความกังวลด้วยว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งมีฐานอยู่ในเลบานอน และเป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮามาส อาจสมัครใจร่วมการต่อสู้ครั้งนี้ด้วย โดยเคยมีการประเมินว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีจรวดประมาณ 100,000 ลูกอยู่ในคลังแสงของตัวเอง
ด้านแหล่งข่าวในรัฐบาลอิสราเอลเพิ่งกล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าสถานการณ์ในฉนวนกาซา “มีเสถียรภาพขึ้นมาก” เนื่องจากเชื่อมั่นว่า ผู้นำกลุ่มฮามาสแสวงหาหนทางพัฒนาเศรษฐกิจและสภาพสังคมในพื้นที่ มากกว่าการทำสงครามครั้งใหญ่กับอิสราเอล
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งชาวอิสราเอลเรียกกันว่า “บีบี” กลับมารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลอิสราเอล เป็นสมัยที่สาม เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังการอยู่ในวาระระหว่างปี 2539-2542 และ 2552-2564 โดยพรรคลิคุดของเนทันยาฮูและพันธมิตรขวาจัด ซึ่งมีพรรคที่มีแนวคิดสุดโต่งทางศาสนารวมอยู่ด้วย ร่วมกันครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด หลังการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565
ทั้งนี้ เนทันยาฮูประกาศว่า การยุติ “ความขัดแย้งระะหว่างอาหรับกับอิสราเอล” ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาลอิสราเอลชุดใหม่ เช่นเดียวกับ “การหยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน” ซึ่งในความเป็นจริงคือการสานต่อหนึ่งในนโยบายสายเหยี่ยวของเนทันยาฮูตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน และการยกระดับขีดความสามารถทางทหาร ให้แก่กองกำลังป้องกันอิสราเอล ( ไอดีเอฟ )
การกลับมาของเนทันยาฮูในรอบนี้ สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็นความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ จากการที่หนึ่งในแนวทางปฏิบัติด้านนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ระบุว่า หนึ่งในวาระสำคัญคือ “การเดินหน้าและพัฒนาโครงการนิคมที่อยู่อาศัยของชาวยิว “บนดินแดนที่เป็นของอิสราเอล” รวมถึง “ยูเดียและสะมาเรีย” ซึ่งเป็นชื่อของเขตเวสต์แบงก์ ตามที่ระบุอยู่ในพระคัมภีร์
นับตั้งแต่อิสราเอลยึดครองพื้นที่ดังกล่าว ร่วมกับฉนวนกาซา และฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเลม หลังชนะสงครามหกวัน เมื่อปี 2510 รัฐบาลเทลอาวีฟทุกสมัยสานต่อแผนการขยายอาณาเขตนิคมชาวยิว ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนนี้ประมาณ 500,000 คน ตรงข้ามกับชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่มากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งต้องดำเนินชีวิตภายใต้การควบคุมโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงของอิสราเอล
การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเนทันยาฮูตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่า คือการใช้การทูตกดดัน ไม่ให้ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ เดินหน้าการสถาปนารัฐปาเลสไตน์อย่างสมบูรณ์ ด้วยการตีกรอบให้รัฐบาลปาเลสไตน์ของอับบาสมีขอบเขต จำกัดอยู่เฉพาะในเขตเวสต์แบงก์
อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวกลับกลายเป็นการเพิ่มอิทธิพลให้กับกลุ่มฮามาส สู่การเป็นองค์กรมีอิทธิพลทางการเมืองโดยปริยาย ควบคู่กับการมีกองกำลังของตัวเอง และหลายครั้งที่อิสราเอลต้องเป็นฝ่ายยอมเจรจา โดยมีอียิปต์ จอร์แดน และกาตาร์ ทำหน้าที่คนกลาง
แม้จนถึงตอนนี้ กลุ่มฮามายังไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับ “เป้าหมายที่ชัดเจน” นอกเหนือจาก “การหมดความอดทนแล้วอย่างสิ้นเชิง” กับอิสราเอล แต่การวางแผนและการเตรียมการของกลุ่มฮามาสรอบนี้ สะท้อนเจตนาต้องการดึงอิสราเอลให้ทำสงครามยืดเยื้อ เพื่อหวังกระตุ้นการลุกฮือในเขตเวสต์แบงก์ และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผลของการที่อิสราเอลสร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ให้กับชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นในฉนวนกาซา หรือเขตเวสต์แบงก์ กลับกลายเป็น “ระเบิดเวลา” และ “บูมเมอแรง” ย้อนศร กลับมาทำร้ายอิสราเอลให้ต้องเจ็บปวดเสียเอง.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP