สังคมไทยมีความ “เหลื่อมล้ำ” กันหลายมิติ โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 49 ภาพของ “ชนชั้นนำ” ยิ่งสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนใน 3 บริบท คือ 1.ความอิจฉาริษยาต่อคนที่เก่งกว่าในการบริหารจัดการประเทศ 2.กลัวชาวบ้านลืมตาอ้าปาก และ 3.กลัวลูก-หลานของชาวบ้านฉลาด!

4 ปีก่อน นั่งคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีหลายเรื่อง จู่ ๆแกพูดว่า “สนามบินสุวรรณภูมิ เขาไม่อยากให้สร้างเสร็จ”

น่าจะจริงของแก (ผมคิด) เพราะสนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) มีการศึกษาและเวนคืนที่ดินเกือบ 2 หมื่นไร่ มาตั้งแต่ปี 2503 ช่วงปี 2514-2515 บริษัทนอร์ททรอปฯ แห่งสหรัฐจะมาสร้างให้ ด้วยอายุสัมปทาน 10-20 ปี แล้วจ่ายให้ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่สำเร็จ ผ่านมาหลายปีค่าก่อสร้างไม่กี่พันล้านบาท จนทะลุแสนล้านบาท หลังปี 2540

ผมเป็นสื่อฯ มา 30 ปี ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ (.) ของทหารครั้งแรก ตอนที่มี “คณะนายพล” เข้ามาคุมงานสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงปี 42-43 เอาฮ. มาขึ้นบินพาสื่อฯ ดูความคืบหน้าการถมทราย ดูการสูบน้ำขึ้นจากบ่อที่เจาะลึกลงไป นับเป็นร้อย ๆ บ่อ แล้วสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาทั้งวัน เพื่อเร่งการทรุดตัวของพื้นดิน แล้วถมทรายอัด ๆ ลงไป

สนามบินสุวรรณภูมิเกือบ 50 ปี จึงสร้างเสร็จในปี 49 รับผู้โดยสาร 45 ล้านคน/ปี แค่ไม่กี่ปีก็ทะลุ 45 ล้านคน ซึ่งคนสร้างให้เสร็จ ไม่ใช่แค่เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการเท่านั้น แต่ต้อง “ตีมึน” ต้องทำเป็นมึน ๆ ด้วย! ไม่งั้นไม่เสร็จ!

หรือแม้แต่ “กองทุนหมู่บ้าน” ก็ห่วงกันว่าหนี้จะเสียเยอะ เพราะกู้ไปซื้อมือถือ ซื้อมอเตอร์ไซค์ กู้ไปซื้อหวย ช่วงปี 52 ผมเคยไปถามผอ.กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งตอนนั้นรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นคนกำกับดูแลกองทุนหมู่บ้าน ข้อมูลที่ได้คือหนี้เสียทั้งระบบไม่ถึง 0.5% สรุปว่าชาวบ้านมีความละอาย และมีวินัยการเงินดีมาก!

มาเรื่อง “รถไฟฟ้าความเร็วสูง” ไทยจะทำก่อนอินโดนีเซียเมื่อปี 55-56 แต่เจอกลุ่มคนห่วงใย (ถ่วง) ประเทศขวางไว้! แต่มาทำหลังรัฐประหารปี 57 ตอกหมุดสร้างปลายปี 60 ราคาแพงกว่าเก่า ล่าช้าไม่เป็นไร! (ไม่มีใครห่วง) สายแรกกรุงเทพฯ-โคราช 5 ปี สร้างยังไม่ถึง 50% แต่อินโดนีเซีย สายจาการ์ตา-บันดุง ไม่ถึง 150 กม. สร้าง 3-4 ปีเสร็จแล้ว!

เหมือนการแจก “แท็บเล็ต” นักเรียนทั่วประเทศ ก็ห่วงเด็กติดเกม แต่ปี 63-65 โควิดระบาด! ต้องทำการเรียนการสอนกันที่บ้าน เด็กจำนวนมากอยู่กับปู่ย่า ตายาย ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต เด็กไทยยิ่ง “เหลื่อมล้ำ” กันชัดเจน!

มาถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท มีอดีตคนแบงก์ชาตินักวิชาการออกมาห่วงกันตั้งแต่ไก่โห่ แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยห่วงเรื่องการกู้มาแจกแบบเบี้ยหัวแตก จนหนี้สาธารณะปูดขึ้นไป 19-20 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/66 พุ่งขึ้นไป 15.96 ล้านล้านบาท เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ยิ่งแจก ยิ่งจน!

แต่พอมีรัฐบาลใหม่ จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยรูปแบบใหม่ เพราะวิธีเดิม ๆ ไม่ได้ผล และเศรษฐกิจยังไม่ดี โดยหลายสำนักได้ปรับลดประมาณการ “จีดีพี” ทั้งปีจาก 3% ลงไปเหลือ 2.8% และบางคนบอกว่าจะถึง 2.5% หรือเปล่า?

หลังการเลือกตั้ง มีอาจารย์เศรษฐศาสตร์ 2-3 คน บอกผมว่าปี 67 เศรษฐกิจไทยยังเหนื่อย! เพราะสถานการณ์โลก-ราคาพลังงาน-หนี้สิน การจะดันจีดีพีโต 4-5% ไม่ง่าย! แต่พอเขาจะแจกเงินดิจิทัลเท่านั้นแหละ มองเศรษฐกิจปีหน้าจะดีขึ้นมาเชียว! นายกฯเศรษฐา ทวีสิน บริหารประเทศแค่เดือนเดียว มีสัญญาณเศรษฐกิจจะดีแล้ว…ว่าอย่างนั้นเถอะ!!

——————
พยัคฆ์น้อย