เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดเหตุเด็กชายวัย 14 ปี กระทำการอุกอาจเอาปืนไล่กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 ศพ และรอดชีวิตแต่ต้องรักษาอีก 5 คน ซึ่งก็มีคนพยายามเอาคำพูดของจาซินดรา อาเดิร์น นายกฯ นิวซีแลนด์ ที่พูดถึงเหตุการณ์กราดยิงที่โบสถ์ในเมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์  มาพูดซ้ำว่า “เราจะไม่พูดถึงฆาตกร ไม่ให้แสงเขา ให้เขาถูกลบเลือนไป” ทำนองว่าจะไม่มีการเผยแพร่ให้เกิดการยกย่องฆาตกร จนนำไปสู่การเลียนแบบเป็นอันขาด ว่าการกระทำนั้นเป็นฮีโร่

มองในมุมนั้นมันก็มองได้ แต่มันก็ตงิดๆ อยู่ว่า “มันไม่ควรพูดถึงเลยหรือ ?” โอเคว่า กรณีที่จาซินดราพูดมันไม่ควรพูดถึงในประเด็นว่า ฆาตกรที่ก่อเหตุนั้นเป็น “อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” ( hate crime ) ที่ก่อขึ้นด้วยการถูกบ่มเพาะให้เกิดความเกลียดชังกับบุคคลที่แตกต่างจากตัวเอง ซึ่งลักษณะของ hate crime  มักจะเลือกเหยื่อจากอัตลักษณ์ที่อาชญากรเกลียด เช่น การเหยียดเชื้อชาติ ในอเมริกาก็มีพวกนีโอนาซีหรือคลูคลักแคนไล่ฆ่าคนดำ ( มีมากในรัฐทางใต้ ) หรือเรื่องความแตกต่างทางศาสนาเช่นกรณีก่อการร้ายต่างๆ ที่มาจากลัทธิ ความเชื่อ ศาสนาที่ต่างกัน , กระทั่งความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง ในเมืองไทยเคยมีประวัติศาสตร์เรื่อง “ถีบลงเขา เผาถังแดง” สมัยกวาดล้างคอมมิวนิสต์  กระทั่งเรื่องเพศก็เป็นอัตลักษณ์ที่สร้าง hate crime ได้ เช่นในบราซิล กลุ่มข้ามเพศ ( trans ) ถูกฆ่าด้วยเหตุแห่งความเกลียดชังมาก

กรณีที่จาซินดรา อาเดิร์นพูด น่าจะเหมาะกับอาชญากรรมจากความเกลียดชังมากกว่า เพราะมันมี “กลุ่มผู้ร่วมอุดมการณ์กับอาชญากร” ที่พร้อมเลียนแบบ หรือพร้อมยกเป็นผู้นำทางความคิด ..การกำจัดผู้นำทางความคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ก็ดูขนาดศพของโอซามา บิน ลาเดน ทางอเมริกายังต้องเอาไปทิ้งทะเล ไม่ฝังที่ใดที่หนึ่งให้กลายเป็น “อนุสาวรีย์”สำหรับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอย่างอัลกออิดะห์ , ตอลีบัน หรือกลุ่มอื่นๆ ให้เป็นสัญลักษณ์ของความโกรธแค้นและต้องเอาคืน การแก้ปัญหา hate crime นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

แต่กับกรณีเด็กอายุ 14 ปีนี้ เราจะไม่พูดถึง“สาเหตุ”กันเลยหรือ ปล่อยเงียบๆ เพื่อไม่ให้เกิดการเลียนแบบ ..ความเห็นส่วนตัว การกราดยิงไม่ใช่รูปแบบการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ดังนั้น มันจึงมีคุณค่าที่จะถอดบทเรียนมากกว่าจะปล่อยเงียบ หรือทำแค่ถอดบทเรียนวิธีเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิง ในประเทศไทยก็เคยเกิดเหตุกราดยิงทั้งที่ห้างเทอร์มินอล โคราช, โรงเรียนอนุบาลหนองบัวลำภู ซึ่งคนก่อเหตุเป็นทหารและตำรวจ ว่ากันว่า “ไม่ได้รับความเป็นธรรม” จึงเกิดความเครียดแล้วก่อเหตุ ..แต่ก็หยิบมาถอดบทเรียนอะไรไม่ได้แล้ว เพราะคนตายไม่อาจเจรจาความ..แล้วถามจริงว่า กรณีที่โคราชกับหนองบัวลำภู ตอนนี้ใครรู้บ้าง ? ว่ามีการรังแกเอาเปรียบผู้กราดยิงจนฟิวส์ขาดอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง และที่สำคัญ “ใครควรต้องได้รับโทษบ้าง”

ประเทศไทยน่าเบื่อก็อย่างนี้ พอเป็นระบบทหารตำรวจ มันก็มีเรื่องอุปถัมภ์เข้ามามาก จะสอบอะไรก็เจอตอใหญ่ถ้าคู่กรณีมีพวกใหญ่โต ก็อย่างคดียิงหัวตำรวจในงานเลี้ยงกำนันคนดัง ก็ยึกๆ ยักๆ งึกๆ งักๆ ไม่เสร็จซะที  

กรณีเด็ก 14 ปีนี้ เราควรจะถอดบทเรียนอะไร ? อันดับแรก คือ บทเรียนจากสภาพแวดล้อมของเด็กเอง ..ทฤษฎีการก่ออาชญากรรมมีมากมาย ตั้งแต่ยุคก่อนๆ ที่เชื่อว่า บุคคลมีลักษณะแบบนี้ ( หรือทางจีนเรียกโหงวเฮ้ง ) มีโอกาสเป็นฆาตกร เพราะลักษณะภายนอกบอกความผิดปกติบางอย่าง , บ้างก็ว่า อาชญากรรมเกิดจากอาการป่วย ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารในสมองจากสาเหตุต่างๆ เช่น พันธุกรรม การถูกใช้ความรุนแรง การใช้ยาเสพติด ความเครียด ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “จิตเภท” (Schizophrenia ) คือโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ..คนไทยรู้จักโรคจิตเภทมากขึ้นจากคดีหญิงปริศนาบุกแทงเด็กโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เพราะได้ยินเสียงสั่งในหูว่าให้ทำ ..และต่อมา เมื่อไม่นานมานี้ผู้ป่วยรายเดิมได้ก่อเหตุซ้ำอีก น่าจะเกิดจากอาการขาดยา

กราดยิง พารากอน

การเป็นอาชญากรฆ่าต่อเนื่อง ( serial killer ) ด้านหนึ่งก็มีปัจจัยจากความเกลียดชังอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว อีกด้านหนึ่งมันก็มาจากการสะสมบ่มเพาะความรุนแรง ผู้ก่อเหตุอาจเป็นผู้ถูกกระทำมาตั้งแต่ยังเด็ก และมีลักษณะฝังใจบางอย่างกับผู้กระทำ หรือวิธีที่ถูกกระทำ ก็มักจะเลือกเหยื่อที่มีลักษณะเหมือนผู้เคยกระทำตนเอง หรือเลือกเหยื่อจากกลุ่มชายขอบ ( เช่นในสหรัฐอเมริกา การฆ่าต่อเนื่องจะเกิดกับกลุ่มโสเภณีหรือกลุ่มแรงงานเถื่อนมาก เพราะเป็นกลุ่มที่ตำรวจไม่ได้สนใจนัก ) มาทรมานแบบที่ตัวเองเคยโดย … เขาให้สังเกตว่าเยาวชนคนไหนชอบทรมานสัตว์ ชอบเล่นไฟ ฉี่รดที่นอน ( แสดงอาการควบคุมอาการตัวเองไม่ได้ ) มีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรง ..หรือคนอีกประเภทหนึ่งที่ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีกับการกระทำความรุนแรง มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ( psychopath ) ก็เป็นต้นตอของการก่ออาชญากรรมได้

มีนิยายเรื่องหนึ่งน่าสนใจคือเรื่อง “คอลเลคชั่นฆาตกรรม” เขียนโดยโยชิดะ ชูอิชิ แปลโดยแพรวสำนักพิมพ์ ที่พูดถึงประเด็นของคนปกติทั่วไป ออกจะเป็นคนดีด้วยซ้ำ อยู่ๆ กลายเป็นอาชญากรได้ เรื่องนี้มันแบ่งเป็น 5 คดี ..ที่น่าสนใจคือ ผู้ก่อเหตุนั้นมีความคับแค้นต่อสังคมเนื่องจากถูกเข้าใจผิดด้วยเหตุอะไรบางอย่าง จนเกิดความกดดันและรู้สึกกลายเป็น “คนนอก” ที่ไม่ต้องแคร์ ไม่ต้องสนใจอะไรแล้ว จึงก่อเหตุแบบ “ก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เอาให้ตายตกกันไปตามกัน” จากนิยายเรื่องนี้บอกว่า บางที การเป็นอาชญากรเกิดจากการสะสมความเครียดจากการเป็นผู้ถูกกระทำที่หาทางออกไม่ได้

การจะเป็นอาชญากรเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย การถอดบทเรียนแค่ซ้อมวิธีเผชิญเหตุกราดยิง , ควบคุมอาวุธปืน มันก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ( เอาจริงปราบยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล พวกปล่อยกู้นอกระบบหนักๆ ก็ช่วยได้อีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องยานี่มีแต่คนว่าเดี๋ยวนี้หาง่าย )  แต่บทคนจะก่ออาชญากรรม ไม่ต้องใช้ปืนก็ทำได้ อะไรรอบๆ ตัวแค่ให้มันแหลมๆ ยาวๆ ก็ดัดแปลงเป็นอาวุธได้แล้ว หรือกระทั่งสารพิษที่จากคดี “แอม ไซยาไนต์”ทำให้คนไทยได้ผวากันว่า ยาพิษร้ายขนาดโพรแทสเซี่ยมไซยาไนต์มันหากันไม่ยากเลย อย่างกรณี “แอม ไซยาไนต์”นี่น่าจะมีลักษณะของ psychopath ร่วมด้วยคือกระทำไปโดยมีสติสัมปชัญญะทุกอย่าง แต่ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี..พวกแบบนี้ต้องระวังอย่างสูง ..

ถ้าใครเคยดู the green mile จะเข้าใจว่า อาชญากรบางคนไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ เพราะมันก่อเหตุเมื่อไรก็ได้..กระบวนการขัดเกลาทางสังคมไม่ช่วย ฉากนั้นใน green mile คือฉากที่ Gary Sinise อธิบายกับ Tom Hank ว่าทำไมต้องฆ่าหมาที่ฝึกไม่ได้ ..เพราะมันคลั่งกัดเจ้าของอีกเมื่อไรก็ไม่รู้ อบรมไม่ได้ ออกมาก็ไม่รู้ไปเรียนเทคนิคอะไรมาจากคุก

สำหรับกรณีของเด็กกราดยิงในสยามพารากอน มีคนวิจารณ์ว่า “อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นจิตเภท มันแอ๊บได้” เขายกตัวอย่างหนังแจ้งเกิด Edward Norton ที่เล่นฆาตกรฆ่าบาทหลวง แล้วแกล้งเป็นโรคจิตแบบสองบุคลิก ( split personality disorder ) พระเอกก็หลงเชื่อช่วยให้ชนะคดี แต่สุดท้ายพอคดีจบก็จับได้ว่า นั่นคือการแสดงทั้งนั้น… ส่วนอาการเพ้อๆ เหม่อๆ ที่เด็กเป็นหลังโดนจับนั้น ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร อาจเครียด กลัวโดนวิสามัญหรือไม่ก็ไม่รู้

มือปืนยิง สยามพารากอน จับได้แล้ว

แต่การประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามีการเตรียมการ ตั้งแต่การเปลี่ยนชุดในห้องน้ำ เดินไล่ยิงไปอย่างใจเย็น ..อย่างไรก็ตาม เราต้องให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้ว่า เด็กอาจอยู่ในภาวะแบบเดียวกับเรื่อง “คอลเลคชั่นฆาตกรรม” ที่กล่าวถึงข้างต้น คือถูกกดดันจนกลายเป็นคนนอก เกิดความรุนแรงขึ้นในใจและนาทีนั้นคิดว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้วก็เข้าก่อเหตุอุกฉกรรจ์เสียเลย… แล้วอะไรคือ “ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ลาหลังหัก” อันนี้ก็ต้องสอบผู้ปกครองและผู้ร่วมชั้นเรียน แต่จากข่าวที่นำเสนอมา คือ การทะเลาะกับผู้ปกครองเรื่องผลการเรียนบ่อยครั้ง ทำนองว่า …เด็กเรียนไม่ได้ดังใจ ..ซึ่งก็น่าเห็นใจทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง เด็กเองก็ไม่อยากกดดัน ขณะที่ผู้ปกครองเองก็พยายามส่งบุตรหลานไปในสังคมที่ดี ซึ่งก็ต้องอาศัยการแข่งขันสูงมาก ต้องมีทักษะความสามารถอะไรนอกจากวิชาเรียน ค่าเรียนพิเศษสูงลิบ พูดได้สามภาษา ฯลฯ

เด็กอยู่ในภาวะที่ถูกกดดันในครอบครัวก็รู้สึกกลายเป็น“คนนอก” ที่ทำอะไรไม่ถูกใจ “บรรทัดฐานของครอบครัว” จนเกิดภาวะ“ทิ้งดิ่ง”ขอทำทุกอย่างเพื่อเอาคืนพ่อแม่ หรือใครก็ตามที่ใจร้ายต่อเขา  …หรืออาจมาจากปัญหาในโรงเรียนก็ได้เราก็ไม่รู้แน่ แต่ที่ต้องถอดบทเรียนคือ ภาวะความกดดันจากการแข่งขันทางการศึกษาในปัจจุบัน ..เราเจอพวก “อายุน้อยร้อยล้าน”ออกสื่อมากมาย ในสังคมวัตถุนิยมนี้ ทำให้ผู้ปกครองก็อยากให้ลูกประสบความสำเร็จแต่เด็ก เป็นสตาร์ทอัพเงินล้านแทนเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือถ้ารับราชการก็ต้องไต่เต้าขึ้นตำแหน่งสูงๆ ได้เร็ว มีอำนาจ

สิ่งที่เด็กเกลียดที่สุดคือ “การเปรียบเทียบลูกชาวบ้าน” ว่าคนโน้นประสบความสำเร็จอย่างไร คนนี้สำเร็จอย่างไร ปัจจัยพื้นฐานแต่ละครอบครัว แต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างพวกขายตรงชอบอ้างไม่จบปริญญาก็รวยได้ แล้วไปยกตัวอย่างแบบบิล เกตส์ , มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อะไรพวกนี้ ไม่บอกปูมหลังว่าเขารวยอยู่ก่อนแล้ว และมีหัวในการทำสตาร์ทอัพไม่ใช่วิ่งขายตรง ..เชื่อเถอะว่า การเปรียบเทียบลูกชาวบ้านเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทำร้ายลูกที่สุดแล้ว เพราะทำให้ลูกรู้สึกว่า ทำอะไรพ่อแม่ก็ไม่เคยเห็นถึงความดี มีแต่คนอื่นดีกว่า พยายามไปเดี๋ยวก็มี “คนดีกว่า”มาเปรียบเทียบอีก

Free photo parents berates her teenage child

ก็คงไม่อาจหาญไปสอนพ่อแม่เด็กเดี๋ยวนี้ แต่จะบอกว่า พื้นฐานแรกของความรุนแรงมันมาจากสังคมที่ใกล้ชิดเขาที่สุด คือ พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อน ชุมชน ไล่ระดับกันไป แต่หน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัว  พ่อแม่นั้นจะต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนเด็กในทางที่ดี และเฝ้าสังเกตเมื่อบุตรหลานมีปัญหาพร้อมทั้งพยายามแก้ ไม่ใช่เอะอะๆ ก็หาคนโทษไปมั่ว โทษสื่อ โทษเกม โทษเพื่อนๆ ลูก..ลืมไปว่าตัวเองนั่นแหละเป็นคนกำหนดทิศทางการใช้ชีวิตตอนลูกยังเด็ก

มีบางคนบอกว่า กรณีปัญหาเยาวชนนี้ สิ่งที่ควรทำคือ

1.การเชือดไก่ให้ลิงดู คือแสดงเรื่องโทษที่เยาวชนต้องรับให้หนักๆ เพื่อจะได้ไม่เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ นำไปสู่การแก้กฎหมายที่กำหนดให้การก่อคดีอุกฉกรรจ์ สามารถพิจารณาโทษเยาวชนเท่าผู้ใหญ่ได้ และนำเสนอถึงสิ่งที่ผู้ก่อเหตุต้องสูญเสียไปในอนาคต เพื่อเป็นการให้เยาวชนรวมทั้งผู้ปกครองตระหนักถึงผลที่ตามมามากยิ่งขึ้น อันนี้แนะนำหนังสือ “จดหมายจากฆาตกร” ของฮิงาชิโนะ เคโงะ ให้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา ว่า เครือญาติที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรเจอปัญหาอะไรในสังคมบ้าง  

2.กฎหมายต้องให้ผู้ปกครองมีส่วนรับผิดชอบในความผิดของบุตรหลานด้วย ไม่ใช่ลอยตัว ..ยิ่งถ้าเป็นพ่อแม่ตลาดล่างมักจะโยน..เรื่องของมันฉันไม่เกี่ยว..ดังนั้นต้องมีส่วนร่วมในความผิดของบุตรหลานตัวเอง เหมือนหมาบ้านใครไปกัดคนอื่น เจ้าของหมาต้องโดนความผิด

มีบทเรียนให้ถอดเยอะแยะ ก็ใช้เป็นประโยชน์ได้ ไม่ใช่ซุกไว้โดยอ้างกลัวพฤติกรรมเลียนแบบ

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”