ทั้งนี้ แม้ “วันยิ้มโลก” ศุกร์แรกในเดือน ต.ค.ของทุกปี ปีนี้ผ่านไปแล้ว แต่กับสิ่งที่เกิดหลังมีการริเริ่มวันยิ้มโลกโดยศิลปินอเมริกันเจ้าของภาพ “วงกลมอมยิ้มสีเหลือง” ชื่อว่า “ฮาร์วีย์ บอลล์” ที่ภาพนี้นิยมกันแพร่หลาย และผู้คนทั่วโลกก็หันมาสนใจ “มอบรอยยิ้มให้แก่กัน”…กับคนไทยเรา “เจ้าของยิ้มสยาม” ก็ “น่าคิดนะ??”…  

ในยุค “เรื่องร้ายเกลื่อนไทยจนยิ้มยาก”

หาก “คนไทยเร่งฟื้นยิ้มสยามก็น่าจะดี”

จริง ๆ แล้วเรื่อง “ความสำคัญ” และ พลัง” แห่ง “การยิ้ม” นี่ในไทยเองก็มีการให้ความสนใจ มีการทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่น้อยเช่นกัน รวมถึงมี “คำแนะนำเพื่อฝึกยิ้ม” และการ “ใช้รอยยิ้มบำบัด” ด้วย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากคนไทยจำนวนไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะเมืองไทยยุคนี้ที่เป็น “ยุคเครียดง่าย” จากปัญหาสารพัดมากมาย จึงทำให้หลายคนหันมาสนใจ “ใช้การยิ้มบำบัดชีวิต” โดย “ฝึกยิ้ม-มอบรอยยิ้ม” ให้กับตนเองและคนรอบข้าง ด้วยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ที่…

“ดี” ต่อตัวเอง…รวมถึงคนรอบข้างด้วย

ทั้งกับ“สุขภาพกาย” และ“สุขภาพจิต”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับกรณี“บำบัดชีวิตด้วยการยิ้ม” นั้น ทาง ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้อธิบายกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยระบุถึง “พลังแห่งการยิ้ม” ไว้ว่า… ประโยชน์ของการยิ้มมีมากมาย เริ่มจากด้านกายภาพ หรือทางด้านร่างกาย โดยเวลาที่คนเรายิ้ม ถือเป็นการบริหารกล้ามเนื้อบนใบหน้า ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า และเมื่อยิ้มหรือหัวเราะ สมองจะรับรู้ถึงความสบายและความผ่อนคลาย และจะส่งสัญญาณไปที่เซลล์สมอง ซึ่งก็จะ ทำให้เซลล์สมองมีการเคลื่อนไหว ตามไปด้วย…

ช่วยกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูเซลล์สมอง

ทำให้ช่วยป้องกันภาวะโรคสมองเสื่อม

นอกจากนี้ ทาง ดร.วัลลภ ยังได้แจกแจงถึง “สรรพคุณของการยิ้ม” เอาไว้เพิ่มเติมอีกว่า… การยิ้มยัง ช่วยเสริมสร้างสุขภาพทางอารมณ์ โดยการยิ้มแต่ละครั้งเปรียบเสมือนการมอบอาหารดี ๆ ให้กับสมอง เพราะการยิ้ม ช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขออกมาถึง 3 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ เอ็นโดฟินส์ (Endophins) เซโรโทนิน (Serotonin) และ โดพามีน (Dopamine) ซึ่งสารเหล่านี้ ช่วยทำให้เซลล์สมองสื่อสารถึงกันได้ดีขึ้น และช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ที่สำคัญการยิ้มยัง ลดปัญหาการแก่ก่อนวัยได้อีกด้วย อีกทั้ง ช่วยให้ปอดแข็งแรงเพิ่มขึ้น จากการฉีกยิ้มกว้าง ๆ หรือการหัวเราะ

นี่เป็น“ประโยชน์” สารพัน“จากการยิ้ม”

และกับ “ประโยชน์ด้านสุขภาพจิต” นั้น ดร.วัลลภ ยังระบุว่า… การยิ้มบ่อย ๆ ช่วยส่งผลดีต่อภาวะทางอารมณ์ ตั้งแต่เรื่องความนึกคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ซึ่งหากใครเป็นคนที่ชอบ คิดมาก หรือเป็นคนที่มีความ วิตกกังวลสูง ก็อยากให้ลองใช้วิธี บำบัดง่าย ๆ…ด้วยการหลับตาและฝึกยิ้มกว้าง ๆ ครั้งละ 5-7 วินาที โดยการบำบัดรูปแบบนี้ใคร ๆ ก็ทำได้ และสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งถ้าหากมีการฝึกทำบ่อย ๆ ก็จะช่วยในเรื่องของการปรับสภาวะทางอารมณ์ได้ เนื่องจากการบำบัดวิธีนี้จะช่วยทำให้สมองได้หยุดพักบ้าง เพราะเวลาที่รู้สึกวิตกกังวลสมองจะเกิดการหดตัวมากกว่าในเวลาอารมณ์ปกติ 

ขณะที่ “การฝึกยิ้มตามหลักจิตวิทยา” โดยเฉพาะกับคนประเภท“เสือยิ้มยาก” นั้น ดร.วัลลภ ก็ได้ให้แนวทางการฝึกฝนมาว่า…  มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ วิธีที่ 1 ปิดปากแล้วยื่นปากออกและยื่นปากขึ้น โดยทำค้างไว้ 5 วินาที, วิธีที่ 2 อมแก้มให้แก้มบุ๋มทั้งสองข้าง ทำปากจู๋ให้เหมือนปลาบู่ ค้างไว้ 5 วินาที และ วิธีที่ 3 ปิดปากแล้วแยกมุมปากให้กว้างกับสูงขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที

“การฝึกยิ้มครั้งละ 5-7 วินาทีนี้ ควรทำตั้งแต่ตอนตื่นนอน และก่อนจะเข้านอนตอนกลางคืน ซึ่งยิ่งทำบ่อย ๆ ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อสมองและภาวะทางอารมณ์ เพราะเวลาที่เรายิ้มจะทำให้เรามีสติและทำให้จิตใจสงบมากขึ้น และนั่นก็จะส่งผลดี โดยเฉพาะกับคนที่มีแนวโน้มความเสี่ยงจากโรคซึมเศร้า ซึ่งการฝึกยิ้มบ่อย ๆ ช่วยป้องกันภาวะนี้ได้”

ทั้งนี้ ทางนักจิตวิทยาท่านเดิมยังได้ย้ำถึง “พลังแห่งการยิ้ม” ว่า… นอกจากจะ ดีต่อร่างกาย สมอง ปอด และสุขภาพจิต แล้ว ยัง ดีต่อสังคมและโลก ด้วย เพราะเวลาที่คนเรายิ้มให้กันนั้น ผู้ที่พบเห็นจะสัมผัสและรับรู้ได้ถึงความสุขที่ส่งต่อให้กัน อีกทั้งการยิ้มยังทำให้ดูหล่อดูสวยขึ้น รอยยิ้มนั้นยังช่วยเพิ่มเสน่ห์หรือแรงดึงดูดต่อเพศตรงข้ามด้วย แต่… หลักสำคัญก็คือผู้ที่ยิ้มต้องยิ้มด้วยความสุข ยิ้มด้วยความจริงใจ จึงจะทำให้ผู้ที่พบเห็นนั้นได้รับพลังความสุขตามไปด้วย

ยิ่งสังคมตอนนี้มีแต่เรื่องทำให้เครียด การยิ้มก็ยิ่งสำคัญกับผู้คน โดยนอกจากช่วยทำให้ตัวเองมีความสุข ก็ยังสร้างสุขให้คนรอบข้างด้วย ที่สำคัญการยิ้มยังเป็นการปลุกปลอบ และฝึกฝนให้จิตใจตัวเองแข็งแกร่ง ทำให้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็สามารถที่จะยิ้มสู้ได้”…เป็นข้อมูลโดยสังเขปจาก ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ถึง “สรรพคุณแห่งยิ้ม”…

“พลังยิ้ม-พลังหัวเราะ” นั้น “มีมากมาย”

เพียง “ยิ้มดี-หัวเราะดี” จะ “ดีต่อชีวิต”…

แต่ “ยิ้มเย้ย-หัวเราะเยาะ…ไม่ดีนะ!!”.