ปกติ อาหารแปรรูป (Processed food) ก็ถูกมองว่าเป็นอาหารที่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่แล้ว เมื่อมีการผลิตอาหารที่แปรรูปขั้นสูง (Ultra-processed food หรือเรียกย่อ ๆ ว่า UPF) ออกมา ย่อมไม่น่าแปลกใจที่อาหารประเภทนี้ ไม่เพียงมีคุณค่าทางโภชนาการน้อย แต่ยังจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเสี่ยงต่อโรคภัยมากขึ้นด้วย

กระนั้น อาหารเหล่านี้ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงมาตลอดเพราะความสะดวก สะอาด ราคาโดยเฉลี่ยถูกกว่าอาหารสด เก็บรักษาง่ายและเก็บไว้ได้นาน สามารถเตรียมพร้อมเพื่อรับประทานได้ในเวลาอันสั้น รวมถึงรสชาติที่ “เชื่อถือได้” ว่าจะไม่ผิดเพี้ยน 

อาหาร UPF คืออาหารจำพวกปรุงสำเร็จ พร้อมรับประทานหรืออุ่นด้วยความร้อนในเวลาสั้น ๆ โดยมีวัตถุดิบที่ผ่านการปรุงแต่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะผสมสารปรุงแต่งทั้งในแง่รสชาติและการรักษาคุณภาพของวัตถุดิบ เช่น สารกันบูด สารรักษาความคงตัว สารแต่งกลิ่น น้ำตาล ไขมันอิ่มตัวและโซเดียม (เกลือ) 

อาหาร UPF ที่เราคุ้นเคยกันดีมีอยู่มากมาย เริ่มตั้งแต่น้ำอัดลม, เครื่องดื่มบำรุงกำลัง, ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ, ลูกอม, ไอศกรีม, คุกกี้, เค้ก, ขนมอบ, ขนมปังที่ผลิตแบบจำนวนมาก ๆ จากโรงงาน, บะหมี่สำเร็จรูป, ไส้กรอกและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น นักเก็ตไก่, ซีเรียลแบบหวาน, บะหมี่สำเร็จรูป ฯลฯ 

แม้กระทั่งอาหาร-เครื่องดื่มที่ได้ถูกมองว่า “เพื่อสุขภาพที่ดี” อย่างเช่น โยเกิร์ตรสต่าง ๆ ที่ไม่ใช่รสธรรมชาติ, กาแฟดีแคฟ (decaffeinated), นมที่ทำจากพืชและเนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากพืช (Plant based), โปรตีนบาร์ ก็เป็นอาหาร UPF เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสหรัฐชี้ว่า ปริมาณแคลอรี่ต่อวันของชาวอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่ราว 60% จะมาจากการบริโภคอาหารแปรรูปขั้นสูงเหล่านี้ ขณะที่อัตราส่วนของเด็ก ๆ ชาวอเมริกันจะอยู่ที่ 67% โดยประมาณ

สิ่งที่น่ากังวลคือมีผลงานวิจัยล่าสุดได้ชี้ให้เห็นผลกระทบของ UPF ต่อสุขภาพของผู้บริโภคในหลายแง่มุม โดยผู้ที่รับประทานอาหาร UPF บ่อย ๆ และต่อเนื่องจะมีระดับน้ำตาล, ไขมันอิ่มตัวและไขมันโดยรวมในร่างกายสูง ขณะที่มีระดับของใยอาหาร, โปรตีน, โปตัสเซียม, สังกะสีและแมกนีเซียม รวมถึงวิตามินเอ ซี ดี เอ บี12 กับไนอาซินในระดับที่ต่ำ ทั้งที่เป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย

นอกจากนี้ การรับประทานอาหาร UPF ยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ, เบาหวานแบบที่ 2, มะเร็ง, โรคลำไส้แปรปรวน, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง รวมถึงโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า อีกด้วย

ผลการวิจัยล่าสุดยังชี้ให้เห็นแนวโน้มของผลกระทบเชิงลบใหม่ ๆ ที่เกิดจากการรับประทานอาหาร UPF หลายประการต่อผู้บริโภค เช่น ทำให้อ้วนง่าย, เพิ่มระดับความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานประเภท 2 โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, ทำให้ระบบไตทำงานแย่ลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังระบุว่า อาหาร UPF มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและโรคสมองเสื่อม โดยเร่งให้เกิดอาการเร็วขึ้น หากบริโภคอาหารประเภทนี้เป็นประจำในปริมาณมาก

อย่างไรก็ตาม การจะหลีกเลี่ยง ไม่รับประทานอาหาร UPF โดยสิ้นเชิงนั้น อาจเป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยก็ควรลดปริมาณลง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หากจำเป็นต้องรับประทานอาหาร UPF ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความประหยัดหรือเพราะความสะดวก การปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจช่วยได้ เช่น การเติมเนื้อสัตว์จริง ๆ หรือผักลงในบะหมี่สำเร็จรูป เพื่อเพิ่มโปรตีนและใยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีการปรุงแต่งน้อยที่สุด เช่น โยเกิร์ตรสธรรมชาติ จากนั้นก็เติมผลไม้สดหรือธัญพืชลงไป 

ส่วนวิธีอื่น ๆ ในการลดหรือเลี่ยงอาหารแปรรูปเหล่านี้ก็คือการทำอาหารเพื่อรับประทานเองจากวัตถุดิบที่สดใหม่ โดยทำไว้ครั้งละมาก ๆ ต่อสัปดาห์ เพื่อประหยัดเวลาและเพื่อความสะดวกในการปรุงแบบวันต่อวัน รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอาหารได้ด้วย.

ที่มา : yahoo.com/lifestyle

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES