ที่บ้านนาโพธิ์ อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม นางสมจิต รัตน์รองใต้ หรือ ป้าสมจิต อายุ 59 ปี เกษตรกรหัวใจพอเพียง ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจขนมไทยบ้านนาโพธิ์ และเจ้าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและแปรรูปอีกหลายชนิด ในแต่ละวันจะง่วนอยู่กับการทำขนม ทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผลทางการเกษตร คิดค้นทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เมื่อประสบความสำเร็จ ก็จะถ่ายทอดประสบการณ์ในกลุ่มแม่บ้านในชุมชนและผู้ที่สนใจ
ล่าสุด ป้าสมจิต ได้ทดลองเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้า โดยใช้พื้นที่หน้าบ้านกางมุ้งเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ ให้กินหญ้าหวาน และใบตอง ลดต้นทุนในการเลี้ยง ผลผลิตส่งขาย ช่วยคนในชุมชนสร้างรายได้วันละ 3,000-5,000 บาท เลยทีเดียว ซึ่งอาชีพนี้ เหล่าแม่บ้านในชุมชนต่างให้ความสนใจอย่างมาก
ป้าสมจิต กล่าวว่า ตนเองได้ทดลองเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้า เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่แล้ว โดยไปซื้อไข่ตั๊กแตนมาในราคา 1,000 บาท โดยใช้พื้นที่เลี้ยงที่หน้าบ้าน วิธีเลี้ยงโดยกางมุ้งที่หน้าบ้าน ก่อนจะเริ่มทดลองเลี้ยงมาเรื่อย ๆ จนจับได้ พอไปได้ 1 รุ่น ต่อมาทางเพื่อนบ้านเห็นว่าขายได้จริง ก็เริ่มอยากเลี้ยงบ้าง จึงได้ให้ความรู้วิธีเลี้ยง และหาตลาดให้ ทำให้มีตอนนี้มีเครือข่ายแล้วกว่า 20 คนแล้ว
ตั๊กแตนของตนมีจุดเด่น คือ ไม่ได้เลี้ยงด้วยหัวอาหาร แต่เลี้ยงด้วยวิถีธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนค่าอาหารเป็นศูนย์ และหญ้าที่กินก็เป็นหญ้าที่เราใช้เลี้ยงวัวเลี้ยงควายอยู่แล้ว ใบตองก็มีอยู่แล้ว ซึ่งการเลี้ยงแบบอินทรีย์ แบบธรรมชาติ จะทำให้ตั๊กแตนไม่มีกลิ่นคาว สามารถเก็บได้นาน เวลานำไปประกอบอาหารจะช่วยประหยัดต้นทุนได้เยอะมาก ๆ
ส่วนตั๊กแตนที่พร้อมจับขายได้แล้ว ก็จะเอาใส่ไว้ในมุ้ง ไม่ให้กินอาหาร 1 คืน เพราะรอให้ขี้ออกหมดก่อน เวลาลูกค้านำไปรับประทานก็ไม่ต้องดึงขี้ออก แค่เด็ดปีกแล้วก็ทานได้เลย ซึ่งลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่า ตั๊กแตนที่ขายเป็นตั๊กแตนธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นคาว รับประทานได้อย่างสบายใจ
“ตลาดของตั๊กแตน ตนเองมองว่ายังไปได้อีกไกล ในอนาคตก็อยากจะต่อยอดในเมนูตั๊กแตนทอดบรรจุกระป๋อง จำหน่ายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้กับเครือข่ายอีกด้วย”
ตั๊กแตนมีประโยชน์ มีวิตามินบี 3 โปรตีน ให้พลังงาน 152.9 กิโลแคลอรี ไขมัน และมีแร่ธาตุฟอสฟอรัส จะเห็นถึงประโยชน์ รวมทั้งผลกระทบจากตั๊กแตนและแมลงทอดแล้ว ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ผู้ที่มีประวัติการแพ้แมลงไม่ควรบริโภคเข้าไปโดยเด็ดขาด อีกทั้งไม่ควรเพิ่มซอสหรือเครื่องปรุงใด ๆ เพิ่มเข้าไป เพราะในอนาคตอาจป่วยเป็นโรคไตได้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
“ตอนนี้ทางวิสาหกิจชุมชนกำลังเริ่มขยายคอกไปเลี้ยงในพื้นที่ในสวน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าหวานไว้อยู่แล้ว เพื่อสะดวกในการเลี้ยงให้อาหารตั๊กแตน เพื่อเพิ่มผลผลิตอีกด้วย” ป้าสมจิต กล่าว
คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : กิริยา กากแก้ว จ.มหาสารคาม
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” ได้ที่นี่..