เป็นข่าวฮือฮาไม่น้อยหน้ากัญชง-กัญชา หลังจากมีการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 คนทั่วไปสามารถปลูกพืชกระท่อม เอาไว้ครอบครอง และสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรี โดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ตามนโยบายรัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ทำให้หลายคน เริ่มมีการนำกระท่อมมาแปรรูปทำเป็นสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และยาสมุนไพร จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า กินพืชกระท่อมไม่ถูกวิธีมีอันตรายต่อสุขภาพ คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีสูตรเครื่องดื่มจากใบกระท่อม ของ “อภัยภูเบศร เดย์ สปา” โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจ
ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ คือ ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หรือ “หมอสอง” หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า กระท่อม เป็นพืชสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยา มีสารสำคัญที่เรียกว่า ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เชื่อว่าสามารถลดอาการปวด ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ใบกระท่อมมีรสขมเฝื่อนเล็กน้อย ไม่ชวนรับประทาน แต่ถ้ารับประทานเพียงเป็นยา อย่าให้ถึงกับติดก็จะมีคุณเป็นอันมากแต่อย่างไรหากนำพืชกระท่อมมาบริโภคโดยตรงควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์การใช้ในชุมชน เช่น หมอพื้นบ้าน หรือบุคลากรทางสาธารณสุข เนื่องจากการรับประทานอย่างไม่เหมาะสม อาจจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
“ในส่วนของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดย ภูมิภูเบศร ก็กำลังจัดทำสูตร ฤทธิ์และผลข้างเคียงของกระท่อม เมื่อได้รับในขนาดตํ่า (1-5 กรัม) ผลที่เกิดขึ้น มีลักษณะคล้ายกับฤทธิ์ของแอมเฟตามีน (ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาบ้า) แต่น้อยกว่า ส่งผลทำให้เกิดความกระปรี้กระเปร่าและความตื่นตัว ความอยากอาหารลดลง หากได้รับในขนาดปานกลางถึงสูง (5-15 กรัม) ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะคล้ายกับการได้รับยาในกลุ่ม opioid แต่รุนแรงน้อยกว่าอยู่ได้นานหลายชั่วโมง ทำให้รู้สึกเคลิ้มสุขในระดับสูง ความเจ็บปวดลดลง ง่วงนอน สงบเหมือนอยู่ในความฝัน หากได้สูงกว่า 15 กรัม ผลที่เกิดขึ้นจะคล้ายคลึงกับการได้รับยากลุ่ม opioid ในขนาดสูง ซึ่งได้แก่ การกดประสาทอย่างมาก และบางครั้งก็หมดสติ”
อุปกรณ์ ที่ใช้ ก็มี…เตาแก๊ส, หม้อสเตนเลส, เขียง, มีด, ครก, ตาชั่งของเล็ก, ทัพพี, ผ้าขาวบาง (ตะแกรงสำหรับกรอง)
วัตถุดิบ/ส่วนผสม ที่ใช้ในการทำ “เครื่องดื่มใบกระท่อม”
การทำ นํ้าเชื่อมท่อม ท่อม โซดา ส่วนผสมที่ใช้ มี…ใบกระท่อมสด 3.5 กรัม., ใบเตยสด 15 กรัม, แก่นฝาง 10 กรัม, กานพลู 5 กรัม, กระวาน 5 กรัม, นํ้าเชื่อม 120 มิลลิลิตร และนํ้าสะอาด 400 มิลลิลิตร
ในการทำเครื่องดื่มใบกระท่อม 1 แก้ว มีอัตราส่วนผสมของ..นํ้าเชื่อมท่อม ท่อม โซดา 60 มิลลิลิตร, โซดา 120 มิลลิลิตร และนํ้ามะนาวคั้นสด 20 มิลลิลิตร
ขั้นตอนการทำ “เครื่องดื่มใบกระท่อม”
อันดับแรกเริ่มจากการเตรียมส่วนผสม โดยแกะเปลือกกระวานออก แล้วใส่ลงไปในครก ตามด้วยกานพลู ตำพอแตก พักไว้
ใบกระท่อมที่เตรียมไว้นำมาล้างให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดนํ้าและแห้งแล้วหั่นเตรียมไว้ เช่นเดียวกับใบเตยสด นำมาล้างให้สะอาด ผึ่งให้
สะเด็ดนํ้าและแห้ง หั่นเตรียมไว้ และแก่นฝาง หั่นเตรียมไว้
ให้นำส่วนผสมทั้งหมด คือ กระวาน, กานพลู, ใบกระท่อมหั่น, แก่นฝางหั่น และใบเตยหั่น ใส่ลงในหม้อสะอาด เติมนํ้าสะอาดลงไป ยกขึ้นตั้งไฟ ความร้อนปานกลาง ใช้เวลาต้มนานประมาณ 15-20 นาที ยกลงมา กรองด้วยผ้าขาวบางเอาแต่นํ้า
จากนั้น นำนํ้าสมุนไพรที่ได้เติมนํ้าเชื่อมที่เตรียมไว้ลงไป คนให้ส่วนผสมเข้ากัน ยกขึ้นตั้งไฟปานกลาง 15-20 นาที ยกลงตั้งพักไว้ให้หายร้อน เทใส่ภาชนะเก็บก็จะได้นํ้าเชื่อมท่อม ท่อม โซดา พร้อมปรุง
วิธีชงเครื่องดื่มใบกระท่อม โดยนำนํ้าแข็งใส่แก้ว ใส่นํ้าเชื่อมท่อม ท่อม โซดา 60 มิลลิลิตร, ใส่นํ้ามะนาว 20 มิลลิลิตร แล้วตามด้วยโซดา 120 มิลลิลิตร เพียงเท่านี้ก็จะได้เครื่องดื่มพร้อมดื่ม นอกจากนี้ ยังสามารถใส่นํ้าต้มดอกอัญชันด้านบนเพื่อเพิ่มสีสัน ตกแต่งด้วยใบสะระแหน่ ลงไปทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นหอมและน่ารับประทานขึ้น
ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว บอกว่า เครื่องดื่มใบกระท่อม มีสรรพคุณในการสู้แดด สู้งาน บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงโลหิต
สนใจอยากจะลิ้มลองรับประทานอาหารจากเมนูกัญชา-กระท่อม เพื่อสุขภาพ อาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ได้ที่ “อภัยภูเบศร เดย์สปา” โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี สามารถติดตามข่าวสารและสูตรเมนูอาหารอื่น ๆ ได้ที่เฟซบุ๊ก อภัยภูเบศร เดย์ สปา โทร. 0-3721-7127 และ 0-3721-1088 ต่อ 3123 เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว บอกว่า จำกัด 50 คิว/วัน เปิดรับบัตรคิว ตั้งแต่เวลา 09.00 น. และปิดรับบัตรคิวเมื่อครบจำนวน.
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง