เหตุเด็กชายก่อเหตุกราดยิงในที่สาธารณะ ไม่ได้สร้าง“ความตระหนก”เพียงพฤติกรรม แต่ช่วงวัยผู้ก่อเหตุที่ยังไม่ถึงวัยเยาวชนเลยด้วยซ้ำ สร้างความสั่นสะเทือน กระทบจิตใจคนทั้งประเทศ พร้อมทิ้งโจทย์ใหญ่ปมในใจที่ต้องค้นหาให้เจอ

ทีมข่าวอาชญากรรม”มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รอง ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ในฐานะโฆษกกรมสุขภาพจิต เพื่อถอดกระบวนการตรวจสอบสภาพจิตใจ ไปจนถึงการบ้านในบทบาทความเป็นครอบครัวที่อาจแปรเปลี่ยนสถานการณ์ได้ก่อน

ดร.นพ.วรตม์ เผยเปิดขั้นตอนสอบสวนโรค หรืออาการผิดปกติทางจิตของเด็กว่า ปกติจะเริ่มจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการสอบถามรายละเอียดเบื้องต้น และจะประเมินเพื่อขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิต นักจิตวิทยาคลินิก หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งจะไม่ได้ประเมินเพียงแค่ตัวเด็กอย่างเดียว แต่รวมถึงครอบครัว และบุคคลแวดล้อม เพื่อเข้าใจ“ภูมิหลัง”ที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยภายหลัง

สำหรับขอบข่ายการสอบถามขึ้นอยู่กับเคส เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน แต่เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจกระบวนการสอบสวนทั้งหมดว่ามีใครบ้าง และแต่ละคนทำหน้าที่อย่างไร เพื่อให้เข้าใจประโยชน์ของการพูดคุย และกล้า“เปิดใจ”เล่าเรื่องราว

หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจริงเจ้าหน้าที่จะพิจารณาและเสนอแนะว่ามีจุดใดบ้างที่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ ในการพูดคุยจะไม่ใช้วิธีข่มขู่หรือทำให้กลัว แต่จะสอบถามอย่างเป็นมืออาชีพ”

หลายปัจจัยเสี่ยงสร้างอาชญากรเด็ก

ในทางการแพทย์ ปัจจัยที่สามารถผลักให้เด็กกระทำความผิด ไม่ได้มองเพียงการเลี้ยงดู หรือสิ่งเร้าในโซเชียล แต่ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยอีกจำนวนมากที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทั้ง ปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางจิตใจ และปัจจัยสังคม หากจะให้น้ำหนักว่าปัจจัยใดมีน้ำหนักมากสุด ดร.นพ.วรตม์ ระบุ ไม่สามารถตั้งเป้าฟันธงได้ เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่การป้องกันไม่ให้พัฒนากลายเป็นความรุนแรงคือ การไม่ละเว้นหรือเพิกเฉยต่อปัจจัยใดทั้งสิ้น และต้องไม่ตัดความเป็นไปได้ทุกมิติที่พบ หรือสะท้อนออกมาจากตัวเด็ก เช่น

ปัจจุบันวัยรุ่นใช้สื่อโซเชียลเป็นปกติในการสร้างตัวตน และโซเชียลมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ปกครองคือ“การจับสัญญาณ” เพราะเด็กและวัยรุ่นหลายคนมีการส่งสัญญาณ แสดงออกผ่านโซเชียลหรือพื้นที่ส่วนตัว อาทิ พฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง หากผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมตรหลาน หรือเพื่อนของเด็ก หรือคุณครูช่วยสังเกตพฤติกรรม อาจช่วยลดเหตุ ทั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นกับเจ้าตัว หรือความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคม

ความใกล้ชิดเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ เพื่อน ครู เพราะจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพจิตและพฤติกรรม หากไม่มีความใกล้ชิดหรือพูดคุยกับเด็ก จะไม่สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆเหล่านี้”

เมื่อเห็นสัญญาณ ต้องสื่อสาร อย่าปิดประตู

ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมความก้าวร้าว การใช้ความรุนแรง หรือการโชว์อาวุธ ดร.นพ.วรตม์ ระบุ ผู้ปกครองหลายคนจะใช้วิธีการ“ต่อว่า”หรือ“ห้ามปราม”ทันที แต่ในฐานะแพทย์ วิธีการเช่นนี้จะเป็นการ“ปิดประตู” ทำให้ขาดการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ปกครอง สิ่งแรกที่ควรจะทำคือ“สอบถาม”ที่มาที่ไป ความรู้สึกขณะนั้น มีความโกรธหรือไม่พึงพอใจใครอยู่ หรือวางแพลนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์อุปกรณ์ดังกล่าวอย่างไรบ้าง

หากสามารถทำให้เด็กไว้วางใจให้ข้อมูลได้ ผู้ใหญ่ก็จะสามารถป้องกันเหตุร้ายได้อย่างทันท่วงที”

ดร.นพ.วรตม์ ยังมองการนำเสนอจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา มั่นใจว่าสื่อหลายสำนักเรียนรู้และถอดบทเรียนถึงแนวทางการนำเสนอ คงตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเหตุการณ์เลียนแบบหรือไม่ แต่สิ่งที่ควรตระหนักคือมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเหตุการณ์เลียนแบบ เช่นนั้นแปลว่าเรื่องนี้ทุกคนจะมีบทบาท ในการ“ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรง”ที่ทำให้เกิดปัญหาความสะเทือนใจ หรือปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มเติม รวมถึง“ไม่ส่งต่อข้อความ” หรือเนื้อหา ที่ทำให้เกิดการเลียนแบบได้

ขอให้เน้นในส่วนการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น สร้างความตระหนักว่าสัญญาณใดเป็นสัญญาณเตือนของความรุนแรง หมั่นช่วยกันดูแล สอดส่อง มองหา และส่งต่อไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง คือเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดความสูญเสียในครั้งต่อไปแน่นอน”

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]