โดยที่ผ่านมามีทั้งการ “ก่อเหตุกับเด็ก-เยาวชนต่างสถาบัน…เพราะค่านิยมผิด ๆ ที่ฝังรากลึก” มีทั้ง “ก่อเหตุกับเด็ก-เยาวชนที่เป็นเพื่อน…เพราะโกรธ-หึงหวง” ที่เด็ก-เยาวชนหญิงก็ก่อเหตุบ่อย ๆและการ “ก่อเหตุกับผู้ใหญ่ในบ้าน…เพราะพิษสิ่งเสพติด” นี่ก็เกิดต่อเนื่อง…

เหตุน่าสลดใจล่าสุดดูเป็นเรื่องใหม่…

แต่ในภาพรวมก็เป็นกรณีปัญหาเดิม

ปัญหา “เด็ก-เยาวชนก่ออาชญากรรม”

ที่ผ่านมานั้น “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้สะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับกรณีปัญหาที่น่าตกใจนี้ต่อสังคมไทยอยู่เนือง ๆ และวันนี้ก็ขอสะท้อนย้ำเน้น ๆ ไว้อีกครั้ง ซึ่งจะไม่ลงรายละเอียดเฉพาะเจาะจงเคสใด โดยจะสะท้อนย้ำในภาพรวมว่า “เหตุร้ายที่ผู้ก่อเหตุเป็นเด็ก-เยาวชน” ที่เคยเป็นเสมือน “ระเบิดเวลาลูกใหญ่ในสังคมไทย” นั้น…ได้ผ่านเลยจุดที่ “ระเบิดเวลาบึ้มแล้ว” มานานแล้ว และก็“กลายเป็นระเบิดต่อเนื่องที่บึ้มซ้ำๆ ที่รุนแรง-ร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ” จนไม่อาจชาชินกันอีกต่อไปแล้ว!!

ทั้งนี้… “การเป็นยุวอาชญากร อาจมีหลายสาเหตุ หลายปัจจัย เสริมกันและกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจมีทั้งที่ควบคุมไม่ได้ และที่สามารถควบคุมได้… การเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมเป็นสิ่งสำคัญ…” …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความส่วนหนึ่

จากที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยสะท้อนต่อข้อมูลไว้…จากข้อมูลบทความบทวิเคราะห์โดย ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ เฮงตระกูล ที่เผยแพร่ไว้ใน วารสารกระบวนการยุติธรรม (Journal of Thai Justice System) กับกรณี…

“ยุวอาชญากร” ที่ “นับวันยิ่งช็อกสังคม”

ในภาพรวมทั่วไป…ที่มิได้เฉพาะเจาะจงเคสใด… จากผลการศึกษาของ กลุ่มจิตวิทยาอาชญากรรม เกี่ยวกับ “บุคลิกของอาชญากร” พบว่า…“ปัจจัยทางจิตใจ” ก็เป็น “ตัวกำหนด ที่สำคัญ ที่ผลักดันทำให้คนคนหนึ่งกระทำผิดได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้ที่จะกระตุ้นให้กระทำผิดได้นั้นต้องมีพัฒนาการมาแต่เยาว์วัย แล้วภายหลัง“กระตุ้นให้ทำผิด” หรือทำผิดซ้ำ ๆ

ขณะที่ “ปัญหาทางจิตเวช” มีส่วน “ทำให้เกิดการทำผิดได้” เช่น มีระบบสมองบกพร่อง มีระบบความคิดบกพร่อง หรือตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางจิตใจ หรือขาดความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งภาวะเหล่านี้มีผลกระตุ้นได้

กับ“ปัจจัย” เกี่ยวกับ “จิตใจ-จิตเวช” กรณี“เด็ก-เยาวชนก่อเหตุอาชญากรรม” นี่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนต่อข้อมูลไว้ รวมถึงข้อมูลโดย ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่ระบุถึงกรณีนี้ไว้ โดยสรุปมีว่า… กลไกสมองที่ผิดปกตินั้นก็อาจจะมีส่วน เด็กบางคนมีสภาพปัญหาทางจิตจริง และก็ ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง จึงนำไปสู่การเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม กับ “พฤติกรรมก่อความรุนแรงในเด็ก-เยาวชนไทย” ยุคนี้ ที่เมื่อเทียบกับยุคอดีตไม่ได้ลดลง…ซ้ำยัง “รุนแรงมากขึ้น” เกิด “เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจมากขึ้น” ทางผู้สันทัดกรณีท่านนี้ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า…

ก็ “อาจเกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป”

ไม่ว่าจะเป็น… การเป็นสังคมเมืองที่พ่อแม่ไม่ได้มีเวลาอยู่กับลูกมาก เด็กตกอยู่ในสภาพกดดันจากสังคมเมืองที่แข่งขันสูง จนทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะนำสู่การกระทำผิดได้ง่าย ขณะที่การเห็นตัวอย่างทางสื่อยุคใหม่ พฤติกรรม “เลียนแบบตัวอย่างผิด ๆ จากสื่อโซเชียล” ก็เป็นปัจจัยบ่มเพาะการกระทำผิดที่ต้องระวัง ซึ่งนี่หมายรวมถึงการตั้งแก๊งกระทำผิด…

“พอปัญหาไม่ถูกแก้ ก็ยิ่งซับซ้อนไปเรื่อย ๆ…” “ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ไม่ควรมองเป็นเรื่องครอบครัวหรือโรงเรียน แต่ต้องมองกรณีปัญหาอาชญากรเด็กว่าเป็นปัญหาเชิงระบบที่ทุกคนมีส่วนเกี่ยว” …นี่เป็นการระบุไว้น่าคิด

และสลับกลับมาดูข้อมูลบทความบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ไว้ในวารสารกระบวนการยุติธรรมอีกส่วน ที่ก็ระบุถึง “ปัจจัยทางสังคม” ไว้ว่า… สภาพแวดล้อมที่ไม่ดีรอบตัวเด็ก-เยาวชน อาทิ สภาพครอบครัว ชุมชนรอบตัว สามารถเป็นปัจจัยส่งผลโดยตรงต่อการเป็นอาชญากรเด็ก ได้ และในมุมอาชญวิทยาสังคม การคบเพื่อนไม่ดีอาจมีผลชักนำไปสู่เส้นทางการประกอบอาชญากรรม จากการเรียนรู้วิธีการที่เป็นปัญหา หรือการได้รับแรงจูงใจและการกระตุ้น จนทำสิ่งที่ผิด

อีกทั้งสำหรับในไทย ค่านิยมเสพสิ่งมึนเมา โดยเฉพาะ การแพร่หลายของ “สารเสพติด” ยิ่งกระตุ้นให้เด็ก-เยาวชนมีแนวโน้มก่ออาชญากรรม เพิ่มขึ้น และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ภาวะทุพโภชนาการก็อาจเป็นปัจจัยเกิดอาชญากรเด็ก จากการได้รับสารอาหารตามช่วงวัยไม่ถูกสัดส่วน ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างพัฒนาการไม่ครบถ้วน จนส่งผลต่อระบบร่างกาย ซึ่ง มีน้ำตาลในเลือดต่ำ ก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้อื่น หรือมีปัญหาปฏิสัมพันธ์กับสังคม

ทั้งนี้ ต่าง ๆ เหล่านี้ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สรุปมาสะท้อนต่อ-สะท้อนย้ำ เป็นสิ่งที่ทั้งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม รัฐ ต้องใส่ใจทำความเข้าใจ เพื่อการแก้ไข-ป้องกัน ปัญหา “ยุวอาชญากร” ที่เป็น“ระเบิดต่อเนื่องที่บึ้มซ้ำๆ ในไทย”

และ “น่ากังวลยิ่ง” กับ “กรณีเลียนแบบ”

น่าห่วง “โลนวูล์ฟ” จะ “ระบาดในไทย”

โลนวูล์ฟนี่ยังไง??…ตอนหน้ามาดูกัน…