จโยตี ยาร์ราจี เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1999 ที่เมืองวิศาขาปัตตนัม รัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย ชีวิตในวัยเด็กของเธอเป็นดั่งเทพนิยายนักกีฬา เพราะครอบครัวของเธอมีฐานะยากจน
พ่อทำอาชีพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ส่วนแม่เป็นเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดที่โรงพยาบาลในตัวเมือง ซึ่งนั้นเป็นเพียงงานชั่วคราวเท่านั้น เมื่อรวมเงินเดือนของทั้ง 2 คน ครอบครัวนี้จะมีรายได้ต่อเดือนราว ๆ 18,000 รูปี (ประมาณ 8,000 บาท)
วัยมัธยม ‘จโยตี’ ถูกทาบทามจากครูพละที่เห็นถึงรูปร่างที่เหมาะสมกับการเล่นกีฬา ที่จะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดอย่าง ‘กระโดดข้ามรั้ว’
ในปี 2015 ‘จโยตี’ เริ่มเป็นที่รู้จักจากการที่เธอสามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันภายในเมือง
1 ปีผ่านไป เธอได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักกีฬาอย่างเต็มตัว ด้วยการเข้าศึกษาที่ Hyderabad SAI Centre เทียบง่าย ๆ เหมือนมหาวิทลัยด้านกีฬา โดยมีโค้ช คือ ผู้ที่ได้รับรางวัล Dronacharya โดยรัฐบาลอินเดียอย่าง N Ramesh
ทุกสนามที่ลงแข่งขัน ทั้งรุ่นจูเนียร์ หรือรุ่นใหญ่ ‘จโยตี’ สามารถคว้าเหรียญรางวัลติดไม้ติดมือได้อยู่ตลอด หลังสร้างชื่ออยู่ประมาณ 2 ปี ตัวของเธอได้รับเลือกให้เข้าเป็นสมากชิกของ Centre of Excellence (ศูนย์ความเป็นเลิศ) แต่น่าเสียดายที่ศูนย์ความเป็นเลิศที่เมืองกันตูร์ (ที่ ๆ จโยตีได้เข้าเป็นสมาชิก) ต้องปิดลงอย่างกะทันหัน
ปี 2019 เธอได้ย้ายไปที่ Odisha Reliance Athletics High-Performance Center ในรัฐภูวเนศวร และได้โค้ชคนใหม่ James Hillier.
ภายใต้การดูแลของโค้ชชาวอังกฤษ ในเดือนมกราคม 2020 ในการแข่งขันกีฬา All India Inter-University (กีฬามหาลัยฯ) ‘จโยตี’ สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ ด้วยเวลา 13.03 วินาที
ด้วยเวลานี้ส่งให้เธอเป็นสร้างสถิติใหม่ของการแข่งขันวิ่งข้ามสิ่งกีดขวาง แต่ไม่ได้รับการรองรับเพราะหน่วยงานต่อต้านการใช้สารต้องห้ามแห่งชาติ (NADA) ไม่ได้เข้ามาตรวจการใช้สารกระตุ้น อีกทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคจากสหพันธ์กรีฑาอินเดีย (AFI) เข้ามาดูงาน ซึ่งทั้ง 2 ข้อ เป็นข้อกำหนดของการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการ
1 เดือน ต่อมา ‘จโยตี’ คว้าเหรียญทองได้อีกครั้งในการแข่งขัน Khelo India University Games
ในปีเดียวกันเธอได้โอกาสติดธงรับใช้ชาติในการแข่งขัน South Asian Youth Games แต่เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้การแข่งขันกีฬาถูกยกเลิก
สิ่งเลวร้ายเข้าหาต่อเนื่อง ‘จโยตี’ ได้รับอาการบาดเจ็บที่บริเวณหลัง ส่งผลให้เธอต้องลาลู่ไปหลายเดือน
เมื่อหายจากอาการบาดเจ็บ เหมือนว่าสภาพจิตใจของเธอจะไม่เหมือนเดิม “เหมือนเธอจะกลัวสิ่งที่เธอเคยทำได้ดี แม้เราจะเริ่มด้วยรั้วที่ไม่สูงมาก แต่เธอก็ไม่สามารถข้ามมันได้” James Hillier พูดถึงนักกีฬาของเขา
ทีมงานใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ ‘จโยตี’ กลับมาเป็นเธอคนเดิม และความพยายามของเขาก็เป็นผล
‘จโยตี’ พลาดการแข่งขันตลอดปี 2021 แต่เริ่มปี 2022 ได้ไม่นานในการแข่งขัน All India Inter University เธอสามารถเกือบจะเทียบสถิติตัวเองเมื่อ 2 ปีก่อนได้ ด้วยเวลา 13.7 วินาที
และในเอเซียนเกมส์ที่ประเทศจีนปีนี้ เธอเข้าร่วมการแข่งขันด้วยฐานะเต็งทอง ทว่าการแข่งขันจริงแม้จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ทำให้จโยตี ยาร์ราจี ไม่สามารถคว้าเหรียญทองมาได้ แต่ยังดีพอที่จะมีเหรียญเงินมาให้ประเทศได้
ผลงานของ จโยตี ยาร์ราจี ในระดับนานาชาติ
- การแข่งขันระดับชาติในการวิ่งข้ามรั้ว 100 ม. หญิง – 12.78 วินาที
- การแข่งขันระดับชาติในการวิ่งข้ามรั้ว 60 ม. หญิง (ในร่ม) – 8.13 วินาที
- ทำลายสถิติวิ่งข้ามรั้ว 100 เมตรหญิงในรอบ 20 ปี
- คว้าเหรียญทองวิ่งข้ามรั้ว 100 เมตร ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย 2023 ที่กรุงเทพฯ
- คว้าเหรียญทองแดงวิ่งข้ามรั้ว 100 ม. ในการแข่งขัน FISU World University Games 2023 ที่เมืองเฉิงตู
- คว้าเหรียญเงินวิ่งข้ามรั้ว 60 เมตรในการแข่งขัน Asian Indoor Athletics Championships 2023 ที่เมืองนูร์-สุลต่าน
- คว้าเหรียญเงิน 200 เมตร ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย 2023 ที่กรุงเทพฯ ด้วยสถิติส่วนตัวที่ดีที่สุดใหม่ 23.13 วินาที