ทั้งนี้ จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า… หลังคลอดลูกแล้วคุณแม่รายนี้ก็เริ่มมีพฤติกรรมผิดปกติ ผิดแปลกไปจากเดิม คล้าย ๆ กับอาการจากโรคซึมเศร้า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทางเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า “สาเหตุในการคิดสั้น” ของคุณแม่รายนี้นั้น อาจเกิดขึ้นเพราะ “โรคเบบี้บลู (Baby blue)” ที่พบว่า… “คุณแม่ยุคใหม่ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น-ง่ายขึ้น!!”…

ยิ่ง “ยุคที่คนเครียดง่ายขึ้น” แบบยุคนี้…

ก็ “ยิ่งทำให้คุณแม่มือใหม่มีความเสี่ยง”

เสี่ยง “ป่วย” ด้วยโรคที่เรียกว่า “เบบี้บลู”

ทั้งนี้ โรคหรือภาวะอาการที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “เบบี้บลู” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มข้อมูลมาสะท้อนย้ำในวันนี้ไม่เพียงพบแนวโน้มความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ในประเทศไทยระยะหลัง ๆ ก็พบภาวะอาการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และก็บ่อย ๆ ที่กลายเป็นประเด็นดราม่า โดยเฉพาะถ้าผู้ที่เกิดภาวะนี้เป็นคนดัง-คนมีชื่อเสียง ซึ่งในไทยที่ผ่านมาก็เคยมีคุณแม่ที่เป็นคนดังหลายคนออกมายอมรับว่า…เคย “ตกอยู่ในภาวะเบบี้บลู” จนต้องเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อบำบัด ซึ่งก็สะท้อนว่า…กับโรคหรือภาวะอาการนี้ ไม่ว่าจะคนทั่วไป หรือคนมีชื่อเสียง-มีสถานะดี ก็ล้วน “สุ่มเสี่ยง” กับ “เบบี้บลู”…   

ก็ล้วน “เสี่ยงอันตราย!!” กันได้ทั้งนั้น!!

ย้อนดูกันว่า“เบบี้บลูคืออะไร??”… ก็มีคำอธิบายอยู่ในเว็บไซต์ของ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ระบุไว้ว่า… คือ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อารมณ์เศร้าหลังคลอด โดยมีชื่อเรียกหลาย ๆ ชื่อในภาษาอังกฤษและทางการแพทย์ นั่นคือ Postpartum blues หรือMaternity blues หรือที่หลาย ๆ คนจะรู้จักดีมากกว่าในชื่ออาการ “เบบี้บลู (Baby blue)” ซึ่ง… พบอาการนี้ในอัตรา 1 ใน 6 ของคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูก เนื่องจากหลังคลอดลูก ฮอร์โมนของคุณแม่ที่เพิ่งคลอดจะเกิดการลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลก็คือ… ทำให้มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด…

แต่ละรายจะมีความรุนแรงต่างกันไป…

มีตั้งแต่เล็กน้อย…จนถึงขั้น “ร้ายแรง!!”

นอกจากนี้ ข้อมูลของกรมสุขภาพจิตยังได้อธิบายถึงภาวะดังกล่าวนี้ไว้อีกว่า… ลักษณะของภาวะดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่มักจะปรากฏอาการให้เห็นในช่วงระยะ 2-5 วันแรก หลังจากที่คุณแม่คลอดลูก ซึ่งภาวะอาการซึมเศร้าของคุณแม่หลังคลอดนั้นอาจจะเริ่มแสดงอาการออกมาภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด หรือบางรายผ่านไปแล้วหลาย ๆ เดือนจึงจะแสดงอาการออกมาก็มี โดย เมื่อเกิดภาวะอาการแล้วก็จะเป็นอยู่แบบนี้ต่อไปประมาณ 7-10 วัน หรือมักไม่เกิน 2 สัปดาห์

นี่เป็นคำอธิบายถึง “ไทม์ไลน์เบบี้บลู”

หากคุณแม่หลังคลอดรายใดเกิด “ภาวะเบบี้บลู” ที่ว่านี้ขึ้น…ก็จะส่งผลทำให้เกิดอาการสำคัญๆดังต่อไปนี้คือ… รู้สึกสับสนแปรปรวน, มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย, หงุดหงิดง่าย, รู้สึกวิตกกังวล, จิตใจอ่อนไหว, นอนไม่หลับ, ร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย, รู้สึกเบื่ออาหาร และสำหรับในรายที่อาการรุนแรงมากอาจจะ รู้สึกเศร้ามาก ๆ และก็อาจจะ ร้องไห้ออกมาแบบไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น…นี่เป็น “ลักษณะอาการ” หลัก ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นจากภาวะที่เรียกว่า “เบบี้บลู” ที่…

พบบ่อยใน “ซิงเกิลมัม-แม่เลี้ยงเดี่ยว”

หรือ “คุณแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกอยู่ลำพัง”

กับ “การดูแลคุณแม่ที่เกิดภาวะเบบี้บลูเพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์” นั้น…ก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ “มองข้ามมิได้!!” ซึ่งข้อมูลโดยกรมสุขภาพจิตได้ให้หลักสำคัญไว้ว่า… จะอยู่ที่ ความรู้-ความเข้าใจ ของ คนรอบข้าง-คนใกล้ชิด เป็นสำคัญที่สุด!!ที่ จะต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เกิดจากภาวะอาการดังกล่าว ซึ่งถ้าหากว่าคนใกล้ชิดและคนรอบข้างนั้นขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ที่คุณแม่มือใหม่กำลังต้องเผชิญอยู่ ก็อาจจะไม่มีการดูแล จนอาจจะส่งผลทำให้คุณแม่ที่มีภาวะดังกล่าวนี้มี “อาการรุนแรง” เพิ่มมากขึ้น ที่ย่อม “ส่งผลเสียทั้งต่อคุณแม่และคุณลูก”…

และ“กระทบความสัมพันธ์ครอบครัว”

ทั้งนี้ “วิธีดูแลคุณแม่ที่เกิดภาวะเบบี้บลู” ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อ-สะท้อนย้ำข้อมูลไว้ด้วย โดยกรมสุขภาพจิตแนะนำไว้ว่า… สามี คนในครอบครัว คนใกล้ชิด ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม สังเกตว่าสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิมหรือไม่ ช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคุณแม่หลังคลอด เช่น พูดน้อยลง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ฯลฯ ถ้าพบว่าเปลี่ยนไป สิ่งที่ควรต้องรีบทำคือ “ใส่ใจรับฟังปัญหา” ให้คุณแม่มือใหม่ได้ระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วก็ บำบัดด้วยการ “สัมผัสและโอบกอด” เพื่อให้ผ่อนคลาย รู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง …นี่เป็นแนวทางช่วยคุณแม่ที่เผชิญ “เบบี้บลู”

ล่าสุดมีข่าวจากต่างแดน “ทำให้คิดสั้น”

แต่ “เบบี้บลูนี่ก็มิใช่ภัยไกลตัวคนไทย”

ก็…“มีสิทธิ์ติดโผโรคฮิตคุณแม่ไทย!!”.