ทีมข่าวอาชญากรรม” พูดคุยกับ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความ สะท้อนว่าต้องทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากคดีนี้ผู้ต้องหาเป็นพ่อมีการทำร้ายร่างกาย รวมถึงเจตนาจะฆ่าลูก และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว เพราะผู้ต้องหามีภรรยาหลายคน และลูกที่เกิดกับภรรยาเกือบทุกคนจะถูกทำร้าย อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งต่อมาปรากฏว่ามีการทำร้ายเด็กให้พิการแล้วเรียกรับเงินบริจาค จึงเข้าข่ายความผิดเรื่องค้ามนุษย์ด้วย เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ

อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ที่กำหนดว่าผู้ใดฆ่าโดยไตร่ตรอง หรือฆ่าเพื่อปิดบังอำพรางมีโทษสถานเดียว คือประหารชีวิต แต่เวลามีการฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลนั้นโจทก์ หรือพนักงานอัยการก็จะต้องฟ้องมาตรา 288 ประกอบกับมาตรา 289 ซึ่งในมาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี จะเห็นว่ามาตรา 288 จะมีระวางโทษ ส่วนมาตรา 289 นั้นมีโทษประหารสถานเดียว

ดังนั้น สมมุติว่าหากศาลพิพากษาลงโทษในการกระทำของผู้ต้องหารายนี้ ถึงจะผิดกฎหมาย“หลายบท” แต่ตามกฎหมายให้ใช้บทที่มี“อัตราโทษหนักที่สุด”ลงโทษ ส่วนกรรมอื่นที่เรียงไว้ถือว่ารวบไป เหลือบทที่โทษหนักสุดคือ“ประหารชีวิต”

ความเห็นส่วนตัวมองว่า การกระทำของบุคคลคนนี้ค่อนข้างเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม เพราะแม้แต่บุตรในสายเลือดตัวเองยังสามารถกระทำถึงขั้นฆ่าเอาชีวิต ฉะนั้นกับบุคคลทั่วไป หากมีความรู้สึกโกรธเคืองก็อาจลงมือกับบุคคลอื่นก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ทราบว่าที่ผ่านมาเราให้คนพ้นโทษออกมาแล้ว ต้องถือว่าน่าจะปรับตัวเป็นคนดี สังคมควรให้โอกาส แต่เมื่อสังคมให้โอกาส กลับมีส่วนน้อยไม่พึงสำนึกไปกระทำความผิดซ้ำซาก จึงเป็นที่มาของการออก พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 หรือ กฎหมาย JSOC ในมาตรา 3 บัญญัติไว้ใช้บังคับได้กับการกระทำผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา

หนึ่งในนั้นก็คือ มาตรา 288 และ 289 แสดงการกระทำความผิดถึงชีวิต ก็สามารถนำกฎหมาย JSOC ไปบังคับใช้ได้ ซึ่งมาตรการในการบังคับใช้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา หากมีลักษณะกระทำความผิดที่เป็นการใช้ความรุนแรงและมีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำ สามารถให้พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์นำกฎหมาย JSOC มาประกอบควบคู่ไปกับการฟ้องจำเลย เพื่อให้ศาลมีคำสั่งพิเศษ“เฝ้าระวัง”ไว้

ขณะเดียวกันหากมีความจำเป็น หลังจากมีคำพิพากษาแล้วเสร็จ สามารถร้องขอให้ศาลออกคำสั่งพิเศษควบคู่ไปกับคำพิพากษาให้ใช้ได้หลังจำเลยคุมขังเสร็จสิ้น โดยให้มีการเฝ้าระวังหลังพ้นโทษได้

ส่วนการประเมินว่าจะใช้กฎหมาย JSOC กับผู้ต้องหาคนใด ขึ้นอยู่กับลักษณะการกระทำ และพยานหลักฐานทั้งหมด ซึ่งพนักงานอัยการจะเป็นผู้พิจารณาประกอบ โดยต้องยอมรับว่ากฎหมาย JSOC ค่อนข้างใหม่ มีรายละเอียดพอสมควร เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง กรมคุมประพฤติยังมีความสับสนในการปฏิบัติตาม คาดว่าในอนาคตจะปรับปรุงและเข้าใจในแนวทางเดียวกันมากขึ้น

กฎหมายในปัจจุบันนี้ ตนคิดว่ามีความเข้มข้นเพียงพอ ในการลงโทษผู้กระทำผิด แต่อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และสังคม เพราะปมการเกิดขึ้นของอาชญากรรม เมื่อเราสาวย้อนกลับไปลงลึกถึงรากแล้ว มักมาจากปัญหาครอบครัว”

หากครอบครัวอบอุ่นและไม่มีปัญหาเป็นแรงกดดัน ภาวะของตัวอาชญากรนั้น จะไม่แปรปรวน ส่วนใหญ่เกิดจากปมครอบครัวที่มีจุดหนึ่งฝังลึกลงไปอยู่ในจิตใจ กรณีผู้ต้องหารายนี้ตนมองเป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรกลับมาทบทวนว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษคือปลายเหตุ

รองโฆษกสภาทนายความ ฝากสังคมตระหนักว่าลำพังจะพึ่งเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องดูแลอย่างไร ก็ไม่ทั่วถึง หากคนรอบบ้านคอยระแวดระวัง ไม่ดูดายเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา หรือ พ่อแม่ทำโทษลูก ไม่คิดว่าอย่าไปยุ่งกับเรื่องครอบครัวคนอื่น เดี๋ยวจะไม่พอใจ เดี๋ยวตัวเองจะเดือดร้อนต้องไปเป็นพยานในชั้นตำรวจ แล้วขึ้นศาลให้กับคนอื่น

ขอให้เปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เพื่อนบ้านใกล้กันต้องเกื้อกูลกัน เปรียบเสมือนเป็นเรื่องของเครือญาติ สังคมถึงจะสงบสุขและปลอดภัย”.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]