ช่วงสามสี่เดือนแรกของการบริหารงาน..มันถือว่าเป็นช่วงฮันนีมูนรัฐบาล

คือเป็นช่วงที่รัฐบาลรีบเอานโยบายที่นำเสนอมาเดินหน้าเต็มที่ แล้วทั้งสื่อ ทั้งประชาชนก็จะเห็น ความขยันหมั่นเพียร การรักษาสัญญา ลดแลกแจกแถม หรืออะไรก็ตามของรัฐบาลแล้วเกิดความชื่นชม ..รัฐบาลนิด1 ของนายเศรษฐา ทวีสิน เขาว่าเขาไม่มีช่วงฮันนีมูน แต่เอาจริงมันมี คือช่วงที่ประชาชน“กลุ่มหนึ่ง” ยังเห็นดีเห็นงามกับรัฐบาลและเชียร์ ชื่นชมสิ่งนโยบายเร่งด่วนที่เร่งทำ.. ที่บอกว่า“กลุ่มหนึ่ง”ก็เพราะกลุ่มที่เชียร์ฝ่ายแพ้ก็ต้องอกหักเป็นเรื่องธรรมดา และหาทางกระทบกระเทียบเสียดสีตะบี้ตะบันรัฐบาลไปเรื่อย ..ยิ่งรัฐบาลเสี่ยนิดนี่ยิ่งโดนหนัก

ที่โดนก็เพราะการตั้งรัฐบาล ถูกมองว่าไม่สง่างามเท่าไร มีการฉีกเอ็มโอยูกับพรรคก้าวไกล แล้ว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นก็พูดทำนองว่า “ที่ไปจับกับก้าวไกลเพราะถูกมัดมือชก” แล้วแต่จะตีวาทะ เช่นใช้คำว่าถูกคลุมถุงชน แล้วดูท่าทางพรรคเพื่อไทยเองก็ยึกยัก อิ๊อ๊ะเย้อ..เยอะ กองเชียร์อุตสาห์ตั้งความหวังว่า “ฝ่ายประชาธิปไตยจะรวมพลังกันจัดตั้งรัฐบาล” เจอท่าทีของพรรคเพื่อไทยเข้าไปก็สะอึกอยู่ ที่จะให้พรรคก้าวไกลไปวิ่งหาเสียงโหวตให้ครบ 376 เสียงเอง โดยตอนนั้นก็มีนายชัยธวัช ตุลาธน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ไปรวบรวมเสียงทาบทาม แต่ไม่สำเร็จ พอเพื่อไทยมาจับมือภูมิใจไทย , พลังประชารัฐ ( พปชร.) , รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ตั้งรัฐบาลก็ถูกด่าเอาน่วมอยู่ว่าตระบัตสัตย์

นพ.ชลน่านแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากหัวหน้าพรรค กองเชียร์ฝั่งส้ม ( และกองเชียร์ฝั่งไม่เอาขั้วทหารที่ไม่ใช่ส้ม ซึ่งก็มี ) ก็ไม่พอใจ เพราะลาออกจากหัวหน้าพรรค ซึ่งสำหรับเพื่อไทยแทบจะเป็น “ตำแหน่งลอย” แบบว่าตั้งไว้งั้นๆ เนื่องจากเขาก็รู้ๆ กันว่า “ผู้มีบารมีตัวจริงในพรรค” คือใคร แล้วไปกินตำแหน่งเก้าอี้ รมว.สาธารณสุขแบบใหญ่กว่าเดิมเยอะ.. เพราะเป็นหน้าที่ในฝ่ายบริหารประเทศ ไม่ใช่ฝ่ายบริหารพรรค

เอาเป็นว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังมีช่วงฮันนีมูนที่ต้องให้สังคมเคลิ้มไปกับภาพฝันว่า “รัฐบาลนี้เข้ามา ถึงเวลาอยู่ดีกินดีแล้ว” ก็อย่างเช่น พอเข้ารับตำแหน่งนายเศรษฐาก็ไปประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ( UNGA ) และกล่าวว่าได้พบปะกับภาคเอกชนยักษ์ใหญ่หลายเจ้า อย่างเช่น เทสลา ไมโครซอฟต์ กูเกิล หรือพวกสถาบันการเงินต่างๆ และจะดึงมาลงทุนในประเทศไทยให้ได้ ซึ่งถ้าทำได้มูลค่าการลงทุนอาจเป็นหลักแสนล้านหรือล้านล้านบาท ตรงนี้นายกฯ นิดเขาบอกให้รอดูตอนประชุมเอเปคเดือน พ.ย.ที่สหรัฐอเมริกา ว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน ซึ่งต่างก็หวังว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุนของบริษัทชั้นนำ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน เมื่อชาวต่างชาติมาทำงาน ก็เพิ่มการเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

นโยบายที่ฮือฮาที่สุดของรัฐบาลนี้คงไม่พ้น แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งตั้งเป้าจะให้เริ่มใช้ได้ 1 ก.พ.67 แต่ปัญหาคือยังอุบเรื่องแหล่งที่มาอยู่ นายกฯ นิดบอกให้รอกันอีกนิดนึง..เพื่อให้แถลงแล้วถูกต้องมีความชัดเจนไปเลยไม่ต้องกลับไปกลับมา พร้อมยืนยันว่าวิธีหาเงินเข้าโครงการ 5.6 แสนล้านไม่กระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศ ..ตรงนี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า อาจใช้วงเงินนอกงบประมาณโดยการไปกู้ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นห่วงว่าจะทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารหรือไม่ ..แต่ทางรัฐบาลเขายืนยันกระต่ายขาเดียวว่ามีประโยชน์แน่ๆ เนื่องจากมันเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จะได้คืนเร็วในรูปแบบภาษี ( อย่างน้อยก็ภาษีมูลค่าเพิ่ม ) ส่วนเรื่องพื้นที่ที่จะใช้กำลังพิจารณาอยู่

คิดว่าหลายคนคงลุ้นกันเยี่ยวเหนียวอยู่ว่า “ให้ใช้ที่ไหนก็ได้” เขาว่า ถ้าให้ใช้ 4 กม.ห่างจากบ้านที่มีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้าน หรือในอำเภอที่อยู่ เห็นทีไม่รู้จะซื้ออะไร บางอำเภอก็กันดารแบบหาร้านรับดิจิทัลไม่ค่อยจะได้ แล้วก็ประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งเท่าไร เขาไม่ได้พักอยู่ภูมิลำเนาก็อยากใช้เงินหมื่นนี้ที่กรุงเทพฯ ขณะที่ป้าย่ายายกลุ่มหนึ่งเคยบอกว่า อยากให้ใช้ทั่วประเทศ เพราะป้าแก่แล้วป้าเกษียณ เอาเวลาไปเที่ยว ก็ได้ไปซื้อของตามที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ คนเรามีกิจกรรมให้ใช้เงินเยอะแยะกว่าเก็บเงิน ก็อำนวยความสะดวกหน่อยสิจ๊ะ ( ป้าฝากบอกมา )

ส่วนครอบครัวเล็กๆ หลายครอบครัวก็ฝากผู้สื่อข่าวมาว่าอย่าลืมถามนโยบายเพื่อไทยอันนึง ย้ำว่าสัญญาแล้วต้องให้ทำให้ได้ คือเรื่องของการจ่ายเงินอุดหนุนครอบครัวรายได้ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนไม่ค่อยมีใครพูดถึงนโยบายนี้กันเท่าไรนัก ว่าทำเมื่อไร เนื่องจากกระแสเงินดิจิทัลกลบ กระแสเรื่องการลดราคาพลังงานกลบ ..ก็อย่างว่า มาตรการเกี่ยวกับพลังงาน รถไฟฟ้าที่มันเสียงดังเนื่องจากมันเป็นเรื่องที่ “คนใช้สื่อ”เขาเอามาวิจารณ์กันบ่อย

ในส่วนของเกษตรกร ที่มีหนี้สินกับ ธ.ก.ส.เยอะ ล่าสุดรัฐมนตรีหนิม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาบอกแล้วว่า มาตรการพักหนี้ผ่าน ครม.แล้วเมื่อวันที่ 26 ก.ย.เป็นการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงมาตรการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยลูกค้า ธ.ก.ส. แบบว่า มีทั้งพักหนี้ทั้งมาตรการพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูลูกหนี้

โดยพักหนี้ให้ลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่มีหนี้ทุกสัญญารวมกันก่อนวันที่ 30 ก.ย.66 ไม่เกินรายละ 3 แสนบาท เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้เกษตรกรรายย่อยครอบคลุมกว่า 2.7 ล้านราย รวมมูลหนี้ 2.83 แสนล้านบาท เริ่มให้แจ้งความประสงค์พักหนี้ได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ผ่านช่องทาง ธ.ก.ส. โดยครั้งนี้จะเปิดให้ผู้กู้ ทั้งหนี้ปกติและหนี้เสีย เข้ามาร่วมพักหนี้ได้แบบสมัครใจ ไม่ใช่แบบอัตโนมัติ  ให้สิทธิการพักหนี้แบบปีต่อปี ต่ออายุได้สูงสุดไม่เกิน 3 ปี   พักหนี้ปีแรกตั้งแต่ 1 ต.ค.66-30 ก.ย.67  ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสียจะเข้าร่วมมาตรการได้เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว  และทางรัฐบาลจะใช้งบประมาณอุดหนุนการพักหนี้แก่ ธ.ก.ส. ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท 

คลังเตรียมชง ครม. ตั้งทีม “Digital Wallet” 3 ต.ค. นี้ “เศรษฐา” นั่งประธาน -  Money & Banking Magazine

รมต.หนิมกล่าวว่า จุดเด่นของโครงการพักหนี้ครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่พักหนี้ สามารถกู้สินเชื่อฟื้นฟูดอกเบี้ยต่ำไปประกอบอาชีพได้สูงสุด 1 แสนบาท เพื่อไปใช้ปรับเปลี่ยน ขยายการประกอบอาชีพ โดยได้รับการอบรมจาก ธ.ก.ส. นอกจากนี้ยังเพิ่มแรงจูงในการลดหนี้ในระหว่างการพักหนี้ หากเป็นลูกหนี้สถานะปกติที่ชำระหนี้ จะนำเงินไปตัดเงินต้นครึ่งหนึ่งเพื่อให้มูลหนี้ลดลง แต่ถ้าเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล ( หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ) หากเข้ามาชำระระหว่างพักหนี้ จะนำไปตัดต้นทั้ง 100% ส่วนลูกหนี้ที่ไม่เข้ามาตรการพักหนี้เลยจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย รวมถึงโครงการชำระดีมีโชค

ส่วนนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะเปิดให้เกษตรกรตรวจสอบสิทธิ ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile และผ่านสาขา ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป จากนั้นจะนัดลูกหนี้และผู้ค้ำประกันสินเชื่อเข้ามาเซ็นสัญญา เพื่อทำการขยายสัญญาเงินกู้ที่สาขา ธ.ก.ส. หรือให้เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ออกไปพบลูกค้าผ่านการรวมกลุ่มในตำบล หรือในหมู่บ้าน เพื่อลดความแออัดในการเดินทางมาที่สาขาธนาคาร โดยปัจจุบันธนาคารมีหนี้เสีย 1.29 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ  7.8  และคาดว่าหนี้เสียจะกลับมาอยู่ที่ระดับร้อยละ  5.5 ในไตรมาสแรกปีหน้า

นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้เอสเอ็มอี ที่เกิดจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่านั้น เร็วๆ นี้แผนช่วยเหลือจะออกมา โดยครม. รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนด มาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี โดยมีนายจุลพันธ์ เป็นประธาน และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ   

สำหรับมาตรการทางสังคม หลังเกิดกรณีฆาตกรรมซึ่งหน้าที่นครปฐม ซึ่งคาดว่าเกี่ยวกับเรื่องส่วยรถบรรทุก ก็มีการตั้งคณะกรรมการปราบปรามผู้มีอิทธิพลตามมา ก็คงเหมือนสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นอดีตนายกฯ ที่มีการตั้งคณะกรรมการสามชุด คือ คณะกรรมการทำสงครามความยากจน , ทำสงครามยาเสพติด, ทำสงครามผู้มีอิทธิพล ในครานั้นให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ดูแล และดูเหมือนเรื่องปราบปรามยาเสพติดจะถูกพูดถึงมากที่สุด เพราะมีการอ้างว่ามีการฆ่าตัดตอนในสงครามปราบยาเสพติด แต่อีกฝั่งหนึ่งก็บอกว่า สมัยทักษิณ 1 ยาเสพติดไม่ระบาดขนาดนี้

“เสี่ยหนู”อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ไปพูดในงานมอบนโยบายข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( สถ.) ว่า “การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพลนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาแล้ว ผมเป็นประธาน และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นรองประธาน ถือว่าเป็นการใช้คนให้ถูกกับงาน และมีความเข้าใจ มีความสามารถในการขอความร่วมมือ เพื่อให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ลดลงไปจากสังคมไทยได้ นอกจากนี้ สถ. ต้องร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.)  คอยดูแลอย่าให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการข่มเหงรังแกทั่วไป การประมูลงานตามท้องถิ่นต่างๆ การเรียกทรัพย์สิน เท่าที่เห็นมารับเองเลย แต่ก็โยนทิ้งแล้วบอกว่าไม่ใช่เงินตัวเอง”

อนุทิน" สั่ง "ชาดา" ช่วยจัดทำขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลลงทะเบียน  ลั่นมีแบบนี้ในสังคมไม่ได้

นายชาดาเองก็ได้คาดโทษกับท้องถิ่นไว้ในงานเดียวกันนี้ว่า “กระทรวงมหาดไทยคงจะดูในส่วนของข้าราชการในสังกัด รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรามีขั้นตอน เช่น ปัญหาการพนัน ใครมีบ่อนอยู่ข้างบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้านไม่รู้ ต้องมีมาตรการ หรือการขายยาเสพติดในหมู่บ้าน ทุกคนต้องรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน อย่างที่ จ.อุทัยธานี รายงานมาหมด หากมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยไปเกี่ยวข้องต้องจัดการให้เด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่ว่าอ้ายอีคนไหน ถ้าเกี่ยวข้อง ไม่ละเว้นแน่นอน”และบอกเรื่องอาจทบทวนเรื่องการครอบครองอาวุธปืนสวัสดิการด้วย ยังไม่แน่ใจเรื่องนิรโทษกรรมปืนเถื่อนจะทำหรือไม่อย่างไร คือหากครอบครองปืนเถื่อนแล้วไปคืนที่ สน., สภ.ก็ไม่ผิด อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม. 26 ก.ย.ยังไม่ได้ตั้งกรรมการ นายชาดาระบุว่า มีบางคนเกษียณ ต้องรอชุดใหม่ ( คาดว่าหมายถึงข้าราชการ ) เข้ามาก่อน จึงตั้งและเริ่มทำงานในเดือน ต.ค.

เพราะบุคลิกห้าวเป้งของนายชาดานี่เอง ทำให้ รมต.ผึ้ง น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว.) อยากขอให้นายชาดามาช่วยเรื่องรับน้องโหด ซึ่งถ้าตามพวกเพจ anti-sotus เพจโหลกแดง เราก็จะเห็นมีภาพมีข่าวออกมาบ่อยๆ เรื่องรุ่นพี่แก่กว่าไม่กี่ปีนี่กร่าง วางอำนาจบาตรใหญ่กับน้องเสียเต็มประดา ยิ่งกว่าเจ้าหน้าที่รัฐในเกาหลีเหนืออีกเจ้าประคุณเอ๋ย แล้วครูบาอาจารย์นี่หายไปไหนหมด ? ไม่แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถาบันการศึกษา ที่พบบ่อยก็เห็นเป็นพวกราชมงคลหรือราชภัฏ ( พวกอาชีวะก็มี แต่นั่นไปขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ต้องให้บิ๊กอุ้ม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เสมา1 ดู )

อันดับแรก รมต.ผึ้งต้องมีฐานข้อมูลก่อน ว่าที่ไหนมันรับน้องบ้าๆ บอๆ กันบ้าง โดยเฉพาะรับน้องนอกสถานที่ เพราะมักจะเกิดการกลั่นแกล้ง ทั้งการล่วงละเมิดทางกาย การทำให้อับอายกันที่นั่น ให้ผู้บริหารสถานอุดมศึกษาส่งเรื่องมาอย่าปกปิด ถ้าพบมีการรับน้องโหดแล้วผู้บริหารแบ๊ะๆ อ้างไม่รู้ก็ต้องมีมาตรการอะไรจัดการ มิฉะนั้นก็ไม่กระตือรือร้นจะแก้ปัญหากัน ..อาจมีการเปิดไลน์พิเศษเพื่อให้เด็กปีหนึ่งแจ้งเบาะแสการรับน้องมา .. แล้วอาจส่งนายชาดาไปอบรม หรือเชือดไก่ให้ลิงดู แบบ โผล่ไประหว่างรับน้อง รุ่นน้องจะทำอะไรรุ่นพี่ต้องทำให้ดูก่อน จะได้หลาบจำกันบ้าง

ที่เล่าๆ มามันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความคาดหวังต่อรัฐบาล หรือรัฐบาลเองต้องทำอะไรที่คนไม่คาดฝันว่ารัฐบาลจะทำได้แล้วชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น  เพื่อให้เกิดกระแสและภาพจำที่ดีสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะคนเพื่อไทยก็พูดว่า “การจัดรัฐบาลครั้งนี้เรามีต้นทุนสูงมาก”

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”