ปมปัญหาความไม่ชอบมาพากล ’ตัดไม้พะยูง“ ในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ และอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน ที่เชื่อว่ามี เจ้าหน้าที่รัฐนอกรีตหลายหน่วยงานเข้าไปมีส่วนร่วม อาศัยช่องโหว่กฎหมาย และยังอาจจะเชื่อมโยง ขบวนการค้าไม้พะยูงข้ามชาติ หวังเพียงแค่เศษเงินที่นายทุนโยนให้ แต่ลืมนึกถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมไม้ใหญ่มีค่าของประเทศชาติ

ไม้พะยูง ส่วนใหญ่ อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปแทบทั้งสิ้น บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่คนรุ่นก่อนได้ปลูกเอาไว้ตาม โรงเรียน วัดวาอาราม และ ป่าชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ต้องมาถูกทยอยตัดขาย ประเมินราคาต่ำผิดปกติ บางพื้นที่จุดไหนไม่ยินยอมให้ตัด แต่วันดีคืนดีพื้นที่ปลอดโปร่งทางสะดวก ยามดึกสงัดจะมี แก๊งมอดไม้ แอบเข้าไปลักลอบตัดพะยูง ถ้าโอกาสเหมาะขนได้ก็จะขนท่อนไม้หนีไปเลย แต่ถ้าขนไปไม่ได้ก็จะค่อยย้อนกลับมา ประมูลซื้อไม้ของกลาง ที่แก๊งมอดไม้ตัดทิ้งไว้

เหมือนดังเช่นเหตุการณ์ คดีขโมยไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อนใหญ่ มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ขนาดวางเอาไว้บริเวณหน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กลางดึกวันที่ 5 ส.ค. 66 ชนวนหักราคาไม้กันเอง เห็นอีกฝ่ายจะซื้อไม้ของกลางในราคาต่ำ เลยมาขนไม้ของกลางตัดหน้าไปก่อน คดีนี้ตำรวจสามารถสรุปสำนวนแจ้งข้อหาเอาผิด “8 เจ้าหน้าที่รัฐ” ส่งสำนวนต่อให้ ป.ป.ช.จังหวัดกาฬสินธุ์ ล่าสุดเรื่องถูกส่งต่อไปให้ทาง ป.ป.ช. ส่วนกลางพิจารณาเพราะคดีเชื่อมโยงเจ้าหน้าที่รัฐ

ห้วงเวลาเกิดคดีขโมยของกลางไม้พะยูง ยังมีอีก ปมฉาวตัดไม้พะยูงโรงเรียนประมูลขายในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ มาเกิดขึ้น พร้อม ๆ กันพอดี หลัง ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ เกาะติดนำเสนอมาต่อเนื่องเกือบจะ 2 เดือน ข้อมูลถูกตีแผ่เพิ่มขึ้นแทบจะทุกสัปดาห์ จนทำให้สังคมได้เห็นความผิดปกติในพื้นที่ ทำไมมีโรงเรียนมากกว่า 10 แห่ง ในหลายอำเภอต้องตัดต้นพะยูงออกประมูลขาย? ปัญหาความไม่ชอบมาพากลในพื้นที่เมืองน้ำดำทำให้ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และ นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ถึงกับต้องตั้ง ทีมเฉพาะกิจร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ขึ้นมาทำงานเรื่องนี้โดยตรง พร้อมไล่ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 1-2 ปี จนได้ข้อมูลมาแล้ว 12 แห่ง ที่ขออนุญาตตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ยืนยันว่าทาง ธนารักษ์จังหวัด อนุญาต ทำตามระเบียบราชการ มี คณะกรรมการ 3 ฝ่าย 1.ผอ.โรงเรียน 2.ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ และ 3.ธนารักษ์พื้นที่ ร่วมกันพิจารณา

อ้างเหตุผลมีความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนขั้นตอนการประมูลขายไม้ทอดตลาดเพื่อนำรายได้เข้าแผ่นดิน ก็มีคณะกรรมการเช่นกัน โดยมี “เจ้าหน้าที่ป่าไม้” ผู้เชี่ยวชาญราคาไม้มาร่วมเป็นกรรมการด้วย

เมื่อปัญหาถูกตีแผ่ นอกจาก ผวจ.กาฬสินธุ์ จะจี้ให้ทางธนารักษ์จังหวัด เปิดเผยข้อมูลการพิจารณาให้ตัดไม้พะยูงไปทั้งหมดกี่แห่งแล้ว บรรดาโรงเรียนที่มีต้นพะยูงใหญ่ ก็ยังออกมาแฉ เคยมี กลุ่มเจ้าหน้าที่ ตระเวนสำรวจต้นพะยูงใช้สว่านเจาะเนื้อไม้ นอกจากนี้บางโรงเรียนต้องระดมทุนกองผ้าป่าสามัคคี “ต่อเหล็กก่ออิฐ” ล้อมต้นพะยูงแบบแน่นหนา ใครเห็นต่างก็พูด มาถึงจุดนี้ได้ยังไง?

ยังดีมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องที่เห็นความสำคัญปัญหา โดยเฉพาะ กรมป่าไม้ ตัดสินใจส่ง ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ลงมาประสานกับทางจังหวัดเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก เพราะมี เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าไปเป็นกรรมการประเมินราคาขายไม้พะยูง โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมคาใจกับการประมูลขายทอดตลาดในราคาถูกแบบผิดปกติหลายแห่ง

ชาวบ้านที่หวงแหนต้นไม้ ตอนนี้คงอยากให้ นายกรัฐมนตรี หรือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับรู้ถึงปัญหาความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในพื้นที่กาฬสินธุ์ ถึงขั้นอยากจะเชิญชวนให้ลงมาดู ต้นพะยูง ที่ชาวบ้านคงไม่รู้จะไปพึ่งพาใคร จนต้องสร้าง โครงเหล็กแน่นหนาก่ออิฐสูงท่วมหัว 2-3 เมตร เพื่อป้องกันถูกลอบตัด น่าจะมีแห่งเดียวในโลก!!

ปัญหาอาศัยช่องโหว่กฎหมาย อนุญาตให้ตัดไม้ในพื้นที่ราชพัสดุ แล้วประมูลขายทอดตลาดในราคาต่ำผิดปกติ เกิดขึ้นหลายแห่งในพื้นที่กาฬสินธุ์ จำเป็นต้องมีบทสรุปสุดท้ายว่า ผลการตรวจสอบเป็นเช่นไร? นอกจากชาวบ้านเฝ้ารออยู่แล้ว เชื่อว่าจะใช้เป็นโมเดลเพื่อไว้แก้ปัญหาในจังหวัดอื่น ๆ ได้อีก ตามนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐบาล

——————
เชิงผา