นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แถลงต่อที่ประชุมสภาสามัญของแคนาดา ในเดือนนี้ ว่าฝ่ายความมั่นคงของแคนาดากำลังสืบสวนสอบสวน “ตามเบาะแสที่เชื่อถือได้” ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของอินเดียมีความเกี่ยวข้อง กับการสังหารนายฮาร์ดีป สิงห์ นิจจาร์ เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว โดยนิจจาร์เป็นพลเมืองแคเนเดียนเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาซิกข์ และเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้ง “รัฐอิสระคาลิสถาน”

ขณะที่อินเดียประณามแคนาดาอย่างหนัก และเนรเทศ “นักการทูตอาวุโส” ประจำสถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ในกรุงนิวเดลี ตามด้วยการประกาศเตือนภัยประชาชน ในการเดินทางและใช้ชีวิตในแคนาดา พร้อมทั้งระงับการออกวีซ่าให้กับแคนาดา เพื่อตอบโต้กรณีรัฐบาลออตตาวาเนรเทศ เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงของอินเดีย ซึ่งเป็น “หัวหน้าหน่วยข่าวกรองภายนอก”

ตำรวจอินเดียรักษาความปลอดภัย หน้าสถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ในกรุงนิวเดลี

นอกจากนี้ รัฐบาลนิวเดลีเน้นย้ำ ว่าการที่ทรูโดหยิบยกเรื่องนี้ ขึ้นมาหารือเป็นการส่วนตัว กับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอด ผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ “จี20” ที่กรุงนิวเดลี ในเดือนนี้ “ได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง” แล้วจากโมดี

อนึ่ง การเสียชีวิตของนิจจาร์ ซึ่งถูกยิงหน้าศูนย์วัฒนธรรมชาวซิกข์ ในเมืองแวนคูเวอร์ เป็นชนวนเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับแคนาดา ตึงเครียดมานานระยะหนึ่งแล้ว โดยก่อนมีการกล่าวหาอย่างเป็นทางการ รัฐบาลออตตาวาระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ( เอฟทีเอ ) กับอินเดีย และยกเลิกกำหนดการเยือนกรุงนิวเดลีของรัฐมนตรีการค้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. ที่จะถึง

ด้านองค์การชาวซิกข์โลกแห่งแคนาดาออกแถลงการณ์ว่า ท่าทีของรัฐบาลออตตาวา “ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ” เนื่องจากตลอดระยะเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลนิวเดลีพุ่งเป้าเล่นงานชุมชนชาวซิกข์ในแคนาดามาตลอด

ปัจจุบัน แคนาดาเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 17 ของอินเดีย โดยมีมูลค่าการลงทุนแล้วมากกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 130,113 ล้านบาท ) นับตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่มูลค่าการค้าสองทางระหว่างแคนาดากับอินเดียอยู่ที่ราว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 289,140 ล้านบาท ) เมื่อปีที่แล้ว เป็นการขยายโอกาสการค้าและการลงทุนให้แก่ทั้งสองประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านสินค้าเกษตร ซอฟต์แวร์ ยาและเวชภัณฑ์

นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า บริษัทมากกว่า 600 แห่งของแคนาดา รวมถึง บอมบาเดียร์ หนึ่งในบริษัทด้านอากาศยานยักษ์ใหญ่ของโลก มีสาขาในอินเดีย ด้านบริษัทของอินเดียมากกว่า 30 แห่ง มีสาขาในแคนาดา เท่ากับว่า ผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศต่างมีส่วน ในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกันและกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ราว 47% ของสัดส่วนของนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติในแคนาดา เป็นชาวอินเดีย ตามข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการแคนาดา ซึ่งเปิดเผยเมื่อปี 2565

ชายชาวซิกข์ในแคนาดาถือแผ่นป้ายสนับสนุน “รัฐอิสระคาลิสถาน” ตามแนวคิดของนายฮาร์ดีป สิงห์ นิจจาร์ ระหว่างการชุมนุมหน้าสถานกงสุลใหญ่อินเดีย ที่เมืองโทรอนโต

กระนั้น การที่นิจจาร์เป็นชาวซิกข์ และมีชื่ออยู่ในหมายจับของทางการอินเดีย ฐานเป็นผู้ก่อการร้าย จากการพยายามผลักดันก่อตั้ง “รัฐอิสระคาลิสถาน” และการสมคบคิดฆาตกรรม ทำให้หลายฝ่ายจับตาไปที่การโยกย้าย และการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาวซิกข์จากอินเดีย ซึ่งเลือกแคนาดาเป็นปลายทางหมายเลขหนึ่ง เพื่อทำกิจกรรมหลายด้าน โดยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่เรื่องการศึกษา และการลงทุน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของแคนาดาระบุว่า สัดส่วนประชากรชาวซิกข์ในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ตลอดช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ครองสัดส่วน 2.1% ของประชากรแคนาดา ตามการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุด เมื่อปี 2564

ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับแคนาดา จากกรณีการเสียชีวิตของนิจจาร์ จะสร้างแรงกระเพื่อมในทางภูมิศาสตร์การเมืองโลกอย่างแน่นอนในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากแคนาดายังคงเดินหน้าใช้มาตรการทางการทูตที่แข็งกร้าวกับอินเดียต่อไป รัฐบาลนิวเดลีจะตอบโต้ในระดับเดียวกัน และเรื่องนี้จะกลายเป็น “ความท้าทาย” สำหรับกลุ่มประเทศตะวันตก อาทิ สหราชอาณาจักร ซึ่งมีประชากรเชื้อสายอินเดียจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกของกลุ่มประเทศตะวันตก ในการให้ความสนับสนุนทางการทูตแก่อินเดีย ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมสุดยอด กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ “จี20” ปีนี้ เป็นสัญญาณค่อนข้างชัดเจนเช่นกันว่า ต้องการผลักดันให้อินเดียเป็นคู่ต่อสู้ที่ “สมน้ำสมเนื้อ” กับจีน ในทวีปเอเชีย

อันที่จริงแล้ว อินเดียและแคนาดายังอยู่ในจุดที่สามารถประนีประนอมกันได้ในเรื่องนี้ แต่การที่รัฐบาลออตตาวากลับเป็นฝ่าย “ออกตัวแรงก่อน” ด้วยการเนรเทศเจ้าหน้าที่การทูตของอินเดีย แม้ไม่ใช่ระดับเอกอัครราชทูต ทว่าการเลือกใช้มาตรการนี้ ในทางการเมืองระหว่างประเทศย่อมถือว่า ฝ่ายที่เป็นผู้ไล่ “ไม่ต้องการเจรจา” ไม่ว่าต่อหน้าหนือลับหลัง แต่เป็นการตัดสินใจเองว่าจะ “ท้าทาย”

รัฐบาลแคนาดาของทรูโดเพิ่ง “ได้รับบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่” จากกรณีทายาทหัวเว่ย ที่ถือเป็น “การท้าชน” กับจีน แล้วยังมีกรณีที่ผู้นำแคนาดา “เผชิญหน้า” กับประธานาธิบดีสี สิ้นผิง ผู้นำจีน ระหว่างการประชุมจี20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เมื่อปี 2565 ซึ่งสรุปแล้วกลายเป็น “การสั่งสอน” ของผู้นำจีน ซึ่งเป็น “รุ่นพ่อ” ต่อทรูโดซึ่งเป็นผู้นำ “รุ่นลูก”

ไม่ว่ารัฐบาลอินเดียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนิจจาร์จริงหรือไม่ หรือมากน้อยเพียงใด แต่การเป็นฝ่ายเปิดฉากท้าดวลกับอีกประเทศ ซึ่งไม่ได้มีศักยภาพยิ่งหย่อนไปกว่ากันเช่นนี้ ต้องอย่าลืมว่า หากปราศจากผู้สนับสนุน “ที่มีประสิทธิภาพ” และการวางแผนที่ไม่ดี ก็อาจทำให้ทรูโดตกม้าตายได้เหมือนกัน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP