คงต้องไปลุ้นกันที่ “อัยการสูงสุด” ว่าจะเห็นพ้องกับ “ป.ป.ช.” หรือไม่? หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” อดีตผู้ว่าฯ กทม. และเจ้าหน้าที่สังกัดกทม.รวม 12 คน รวมทั้งผู้บริหาร “บีทีเอสกรุ๊ป-BTSC” ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยการต่อสู้คดียังอีกยาวนาน!

กรณี กทม.ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง คือ 1.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) 2.สายสีลม (ตากสิน-วงเวียนใหญ่) และ 3.เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานปี 72 ออกไปอีก 13 ปี ให้ไปสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันปี 85 เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ เอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว!

กรณีดังกล่าวมีหลายมุมมองความเห็น เพราะเรื่องนี้คาราคาซังมานาน เนื่องจาก ป.ป.ช.บางคนที่เป็นเจ้าของสำนวนเดิมเคยสรุปว่า “ไม่มีมูล” มาพักใหญ่ ๆ แต่จะปิดสำนวนไปเลยก็ใช่ที่ จึงเก็บแฟ้มไว้หลายปี จนมาปัดฝุ่นกันใหม่ แล้วเร่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ ก่อนชี้มูลเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 66 ท่ามกลางข้อสงสัย-คำถามตามมาว่า

1.งานนี้ไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง-นักการเมืองบางคน แน่นะ? รวมทั้งการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าบางสี ที่มีแข่งขันแย่งงานกันอย่างดุเดือดมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว และปัจจุบันยังไม่คืบหน้าไปไหน

2.การดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ล้มลุกคลุกคลาน คาราคาซังมานาน ไม่สามารถหาเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนได้ ด้วยข้อจำกัดการ “เชื่อมต่อโครงข่าย” เพราะ กทม.ไม่อาจเปิดให้เอกชนรายใดเข้ามาประกอบการร่วมได้ ไม่สามารถเดินรถต่อเนื่องข้ามโครงข่าย เข้าไปยังโครงข่ายสัมปทานหลักของ BTSC ที่มีอายุสัมปทานถึงปี 72 ได้

3.ในที่สุด กทม.จึงตัดสินใจผ่าทางตัน ด้วยการให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทลูกของกทม.เป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าโดยตรงในลักษณะ “สัญญาจ้าง-เอาต์ซอร์ส” โดยแยกเส้นทางส่วนต่อขยายออกมาดำเนินการเป็นเอกเทศ เพื่อไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม โดยมีการหารือแนวทางดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับ “ไฟเขียว” จึงเป็นที่มาของ “สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้า” เจ้าปัญหา

4.ทำไมไม่ประมูลหาเอกชนรายใหม่? เพราะข้อจำกัดของสัมปทานเดิมที่ กทม.มีอยู่กับ BTSC ไม่ว่าจะพลิกหาหนทางใดก็ไม่สามารถหาเอกชนเข้ามาได้ แม้แต่ BTSC ยังไม่เอาด้วย เนื่องจากสายสีเขียวหลัก ยังทำให้ BTSC ประสบปัญหาทางการเงิน ถึงขั้นต้องเข้าสู่ศาลล้มละลายและต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

5.แม้ กทม.จะปรับลดขนาดโครงการลงมาดำเนินการเพียง 2 สายทาง คือ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุชแบริ่ง) ระยะทาง 8.9 กม. และส่วนต่อขยายสายสีลม (สาทรตากสิน) ระยะทาง 2.2 กม. วงเงินลงทุนรวม 8,900 ล้านบาท ก่อนเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนรับสัมปทานเดินรถและซ่อมบำรุง (โมเดลเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดิน) แต่ไม่มีเอกชนเสนอตัวเข้ามาอยู่ดี เพราะข้อจำกัดเรื่องการเดินรถข้ามโครงข่าย ทำให้เส้นทางส่วนต่อขยาย 2 สายทางถูกปล่อยทิ้งร้างไว้

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กทม.ต้อง “ผ่าทางตัน” ด้วยการมอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ เป็นผู้ลงทุนระบบรถไฟฟ้าและบริหารจัดการเดินรถ ในลักษณะ “สัญญาจ้างเดินรถ-เอาต์ซอร์ส” ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าสามารถกระทำได้โดยไม่เข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

ย้ำว่า “เอกชนรายใหม่” หรือรายใดก็ตาม เข้ามาลำบาก! เพราะต้องลงทุนสูงมาก แถมติดเงื่อนไขสำคัญ! ไม่สามารถเดินรถ “ข้ามโครงข่าย” ของสัมปทานหลักที่ยังคาอยู่กับ BTSC นี่แหละ!!

—————————–
พยัคฆ์น้อย