การพบหารือระหว่างปูตินกับคิมครั้งนี้ ได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดจากสหรัฐ ซึ่งมองว่า ทั้งสองประเทศเตรียมจัดทำข้อตกลงซื้อขายอาวุธ โดยรัสเซียจะซื้อกระสุนปืนใหญ่และอาวุธอีกหลายชนิดจากเกาหลีเหนือ เพื่อนำไปใช้ในสงครามยูเครน แลกกับการรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากรัฐบาลมอสโก โดยสหรัฐปรามาสว่า รัสเซีย “สิ้นท่า” ถึงขั้นต้องขอความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ และเตือนว่า รัฐบาลวอชิงตันพร้อมตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตร ต่อความร่วมมือด้านอาวุธรูปแบบใดก็ตาม ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ

อนึ่ง สหรัฐเชื่อว่า ทั้งสองประเทศเริ่มหารือเรื่องนี้ ระหว่างที่ พล.อ.เซอร์เก ชอยกู รมว.กลาโหมรัสเซีย เยือนกรุงเปียงยางอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมพิธีรำลึกและเฉลิมฉลอง ครบรอบ 70 ปี ข้อตกลงหยุดยิงสงครามเกาหลี

นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ลงนามในสมุดเยี่ยม ระหว่างเยี่ยมชมศูนย์อวกาศวอสทอชนีของรัสเซีย โดยมีน.ส.คิม โย-จอง น้องสาว คอยให้คำแนะนำ

ด้านเกาหลีเหนือยังคงยืนกรานว่า ไม่เคยมอบความสนับสนุนด้านอาวุธและกระสุนปืนให้แก่รัสเซีย และไม่มีนโยบายดำเนินการเช่นนั้น ขอให้สหรัฐ “หุบปาก” และ “หยุดเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศอื่น

คิมกล่าวอย่างมีนัยว่า รัฐบาลเปียงยาง “ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง” กับการรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์กับรัฐบาลมอสโก โดยจะเป็น “การมอบความสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข” ให้แก่รัสเซีย ในการต่อสู้กับ “กองกำลังที่ต้องการเป็นเจ้าโลก” ซึ่งแน่นอนว่า หมายถึงสหรัฐ

ขณะที่ผู้นำรัสเซียกล่าวถึงความพร้อมของรัฐบาลมอสโก ในการมอบความสนับสนุนด้านการพัฒนาดาวเทียมให้แก่รัฐบาลเปียงยาง เนื่องจากเป็นเรื่องที่อีกฝ่าย “ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง”

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย นำนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เยี่ยมชมภายในศูนย์อวกาศวอสทอชนี

นอกจากนั้น การที่ผู้นำทั้งสองประเทศจัดการพบหารือที่ศูนย์อวกาศวอสทอชนี อาจเป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยทั้งในเรื่องโครงการดาวเทียมของเกาหลีเหนือ และการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นในอนาคตด้วย

ปัจจุบัน รัสเซียถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของรัฐบาลเปียงยาง และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเพียงไม่กี่ประเทศของเกาหลีเหนือ โดยความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี สามารถย้อนหลังไปจนถึงการสถาปนาเกาหลีเหนือ ซึ่งปีนี้ครบรอบปีที่ 75

แม้รัสเซียหรือในยุคสงครามเย็นคือสหภาพโซเวียต เคยลดการมอบความสนับสนุนหลายด้านให้แก่เกาหลีเหนือลงไปบ้าง เนื่องจากมีการสถาปนาความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ เมื่อปี 2533 และรัฐบาลเปียงยางได้รับผลกระทบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534

ชาวเกาหลีเหนือในกรุงเปียงยาง จับกลุ่มอ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเยือนรัสเซียของนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุด

อย่างไรก็ตาม รัสเซียและเกาหลีเหนือสามารถจัดการประชุมระดับสุดยอดร่วมกันเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2543 และทั้งสองประเทศประกาศปฏิญญาร่วมกัน ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนทางการทูต ข้อตกลงดังกล่าวลงนามด้วยปูติน ร่วมกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือในเวลานั้น คือนายคิม จอง-อิล บิดาของท่านผู้นำคนปัจจุบัน

ไม่ว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงกับรัสเซียมากน้อยแค่ไหน และเป็นไปในรูปแบบใด ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือและรัฐบาลเปียงยาง ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ว่าให้ความสำคัญกับโครงการขีปนาวุธ ซึ่งส่ผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของโลก และการทุ่มเทงบประมาณไปกับกองทัพ มากกว่าการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ที่ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับภาวะอดอยาก และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

การพบหารือระหว่างปูตินกับคิม เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไม่มีการเผยแพร่แถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากฝ่ายใด สถานการณ์ครั้งนี้แทบไม่แตกต่างกัน

สำหรับสงครามในยูเครน ท้ายที่สุดแล้ว ยูเครนจะยังคงได้รับความสนับสนุนด้านอาวุธจากสหรัฐและพันธมิตรต่อไป ขณะที่รัสเซียจะยังคงเดินหน้าเป็นฝ่ายรุกดังเดิม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในสมรภูมิจะยิ่งรุนแรง และยืดเยื้อมากขึ้น ในกรณีที่อาวุธของเกาหลีเหนือเข้าสู่สนามรบในยูเครนจริง และผลกระทบทั้งหมดจะตกไปอยู่กับชาวยูเครนมากที่สุดเท่านั้น.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP