ในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเช่นนี้ ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันทำให้เกิดอาการป่วยขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กๆก็ป่วยเยอะไม่แพ้กัน เพราะความชื้นในอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ทำให้เราพบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV” ที่แพร่ระบาดในเด็กๆ

วันนี้ นพ.ณัฏฐ์ชยนต์ รัตนตระกูลเดชา หรือคุณหมอหยก กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ประจำโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ (PRINCIPAL HEALTHCARE) ได้เผยผ่าน Healthy Clean ว่าโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) มีสองสายพันธุ์หลัก คือ RSV-A และ RSV-B สามารถป่วยซ้ำได้หลายครั้งเมื่อร่างกายอ่อนแอ โรคนี้มักพบระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว (ประมาณเดือนกรกฎาคม–มกราคม) พบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี

เด็กที่ป่วยจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดามีน้ำมูก ไข้ ไอ จาม ส่วนมากอาการมักไม่รุนแรง และหายป่วยได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ อาจมีอาการรุนแรงจนเป็นหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบได้ โดยมักมีอาการไข้สูง ไอมีเสมหะมาก ไอมากจนอาเจียน หายใจหอบเหนื่อยจนอกบุ๋ม หายใจแรง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด ซึม ตัวเขียว ในบางรายอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษากุมารแพทย์

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นโรคติดต่อเกิดจากการสูดละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ผ่านทางตา จมูก ปากหรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ” สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อจะเริ่มแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังจากติดเชื้อ 2 วัน ช้าสุดประมาณ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน สามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ไปจนถึง 3-4 สัปดาห์โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

นพ.ณัฏฐ์ชยนต์ ยังกล่าวถึงการรักษาและการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ว่า แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นหากพบว่ามีอาการบ่งชี้ แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อไวรัส RSV จากสารคัดหลั่งในจมูก ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงก็ทราบผล

“ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาจำเพาะแพทย์จะดำเนินการรักษาตามอาการของผู้ป่วย” เช่น การให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะปริมาณมากและเหนียวข้น หรือมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย อาจต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย รวมถึงทำหัตถการเคาะปอดและดูดเสมหะออก ให้สารน้ำทางน้ำเกลือในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ลดลงหรือไอมีเสมหะมากจนอาเจียน หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย และในรายที่มีอาการรุนแรงหรือเริ่มมีภาวะหายใจล้มเหลวอาจจะต้องพิจารณาให้ออกซิเจนแรงดันสูงหรือเครื่องช่วยหายใจ แต่ถ้าหากเด็กมีอาการไม่รุนแรง เบื้องต้นผู้ปกครองสามารถรักษาอยู่ที่บ้านเองได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-5 วันหรือพบมีอาการรุนแรงดังกล่าวข้างต้น แนะนำให้พาลูกน้อยมาปรึกษากุมารแพทย์ที่โรงพยาบาล

สำหรับการป้องกันโรคนี้ทำได้โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สอนให้ลูกน้อยรักความสะอาดล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในบริเวณสาธารณะ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกคั่ง ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ..

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”