จากการสอบถามไปยังทีมงานที่มักนึกถึงเมื่อเกิดเหตุเด็กหาย นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าโครงการศูนย์ข้อมูลคนหายฯ มูลนิธิกระจกเงา สะท้อนสถานการณ์ผ่านสถิติรับแจ้งเด็กหาย ของมูลนิธิฯ ที่มีนัยน่าสนใจ โดยปี 2565 รับแจ้งเด็กหาย 251 ราย ถือว่าสูงขึ้นในรอบ 4 ปี  เพราะรับแจ้งมากกว่าปี 2564 ถึงร้อยละ 25  ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 61  หรือ  161 ราย เป็นกรณีสมัครใจหนีออกจากบ้าน รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่าร้อยละ 21 หรือ 52 ราย และมีเด็กถูกลักพาตัว 2 ราย

ขณะที่ในปี 2566 จนถึงช่วงเดือนก.ย. รับแจ้งเด็กหายสูงกว่าปี 2565 จำนวน 201 ราย พร้อมคาดการณ์อีก 4 เดือนที่เหลือ อาจรับแจ้งหายเพิ่มอีกกว่า 100 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่จำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล

สำหรับแนวโน้มเด็กหาย ในรอบ 4 ปีที่มีสถิติรับแจ้งเด็กหายเพิ่มขึ้น พบเป็นกลุ่มวัยรุ่น อายุ 11-15 ปี มีความเสี่ยงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว  จึงไว้วางใจเพื่อน หรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์มากกว่าคนในครอบครัว และตัดสินใจหนีออกจากบ้านง่ายขึ้น โดยมักยอมไปกับคนที่เพิ่งรู้จัก หรือพูดคุยกันผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ทั้ง  Facebook  Instagram  Tiktok

แม้เด็กสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง แต่โลกภายนอกบ้านมีอันตรายหลายอย่างสำหรับเด็ก ทั้งการคุกคาม หรือหาประโยชน์ทางเพศ หรือเสี่ยงถูกล่อลวง หรือกระทำความรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีเด็กหายออกจากบ้าน ก่อนต่อมาพบว่าเด็กออกจากบ้านไปฆ่าตัวตายด้วย

ในกรณีลักพาตัวเด็กเล็ก นายเอกลักษณ์ ระบุ เฉลี่ยแล้วรับแจ้งปีละไม่ถึง 5 ราย พร้อมย้ำความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็กที่แพร่หลายมาหลายยุคหลายสมัยว่า ไม่มีอยู่จริง ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักเป็นผู้ที่มีลักษณะอาการทางจิต  ต้องการนำเด็กมาเลี้ยงดู หรืออยู่ด้วยความเสน่หา หรือนำมาเพื่อกระทำทางเพศ

กลุ่มกระทำทางเพศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัว อาจเป็นคนในหมู่บ้าน ในชุมชน หรือเครือญาติกัน สิ่งที่ต้องเริ่มทำลำดับแรกคือมูลนิธิฯและหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งจะสืบสวนสอบสวนจากจุดที่เด็กไปใช้ชีวิตอยู่ประจำ ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายข้อใดที่ดูแลเฉพาะเรื่องของการลักพาตัว หรือคนหายออกจากบ้าน จะมีแต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนาม พ.ศ.2564  ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีระบบที่ใช้คัดกรองข้อมูลที่ดีเพียงพอในการติดตามคนหาย ศพนิรนาม เพื่อพิสูจน์ตัวตน

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่การทำงานจะมีเอ็นจีโอร่วมด้วย ดังนั้น จึงคาดหวังลึกๆว่าในอนาคต หากไม่มีเอ็นจีโอเข้ามาเกี่ยวข้อง ชาวบ้านที่มาใช้บริการจะสามารถได้รับการบริการติดตาม เสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่ไม่เคยมีในปัจจุบันหรืออดีต

“มูลนิธิฯสื่อสารต่อสังคมและเตือนภัยถึงความเชื่อผิดๆมาตลอด ในส่วนเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน จะพยายามสื่อสารต่อสังคม และหน่วยงานรัฐว่าไม่ใช่แค่ปัญหาที่คนคิดว่าเด็กใจแตก ต้องมองให้ลึกกว่านั้นถึงสถาบันพื้นฐานอย่างครอบครัวที่ไม่สามารถให้ความรักความอบอุ่น เหนี่ยวรั้งตัวเด็กไว้ได้ เกิดจากอะไร”

นายเอกลักษณ์ เผยทิ้งท้ายจากสถิติร้องเรียนสามารถถอดเป็น 10 บทเรียนได้ ดังนี้ 1.ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ประสงค์ลักเด็กเพื่อกระทำทางเพศ 2.นำไปเลี้ยงดูด้วยความเสน่หา 3.เด็กถูกลักพาตัวมีตั้งแต่อายุแรกเกิด-12 ปี 4.กลุ่มเสี่ยงที่สุดคือเด็ก อายุ 3-8 ปี ทั้งชายและหญิง 5.ไม่พบการลักพาตัวในลักษณะกลุ่มแก๊งขบวนการ

6.ไม่พบการลักพาตัวในลักษณะแก๊งรถตู้ 7.ไม่พบการลักพาตัวในลักษณะเพื่อนำไปขายต่อ 8.ผู้ก่อเหตุมีได้ทั้งคนที่เด็กรู้จักและคนแปลกหน้า 9.จุดที่เด็กถูกลักพาตัวมากที่สุด คือ บริเวณใกล้บ้านที่เด็กวิ่งเล่นลำพัง และ10.หลายคดีขณะเกิดเหตุ ประเมินว่าเป็นการลักพาตัว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอาจเป็นเรื่องอื่น เช่น เด็กพลัดหลงด้วยตัวเอง, ปกปิดการเกิดความรุนแรงในครอบครัว หรือสร้างการสถานการณ์.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]