นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 แห่ง หรือ จี20 ที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย. ในฐานะผู้แทนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย
ทั้งนี้ รัฐบาลปักกิ่งยืนยัน การให้ความสำคัญระดับสูง กับการประชุมจี20 ซึ่งเป็นเวทีการหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติที่สำคัญ ในการประชุมปีนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำเสนอแนวคิดและจุดยืนของจีน เพื่อยกระดับความร่วมมือและความเป็นเอกภาพของจี20 เพื่อฝ่าฟันความท้าทายที่มีต่อเศรษฐกิจและการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่รับตำแหน่งประธานาธิบดีจีน เมื่อเดือนพ.ย. 2555 ที่สีไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบ่งชี้ ความตึงเครียดซึ่งเพิ่มมากขึ้น ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกตะวันตก และ “ความลับ” ในโครงสร้างส่วนยอดพีระมิด ที่เป็นฐานอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์
การที่ผู้นำจีนไม่เข้าร่วมการประชุมจี20 ครั้งนี้ด้วยตัวเอง ขัดแย้งกับการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ “บริกส์” ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในวาระสำคัญของการหารือ มาจากการผลักดันของจีน ซึ่งต้องการให้บริกส์เพิ่มจำนวนสมาชิก จากปัจจุบันที่มีอยู่ 5 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งในที่สุด ทุกฝ่ายบรรลุข้อตกลง เตรียมรับสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 6 ประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567
การประชุมบริกส์ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญ เกี่ยวกับความพยายามของจีน ในการ “สร้างระเบียบโลกทางเลือก” จาก “ระเบียบโลกแบบเสรีนิยม” ที่สหรัฐเป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งที่รัฐบาลปักกิ่งพยายามนำเสนอ คือ “ความเป็นมิตรแบบจีน” ไม่ใช่ “การต้องมีจีนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทูตลักษณะดังกล่าวของจีน ได้รับการตอบรับและความสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศซีกโลกใต้
การประชุมจี20 ที่มีสหรัฐและพันธมิตรของรัฐบาลวอชิงตันอีกหลายประเทศร่วมเป็นสมาชิก ไม่ได้มอบพื้นที่หรือเปิดโอกาสให้จีนสามารถ “สร้างหรือขยับขยายอิทธิพล” ได้มากนัก การไม่ได้เข้าร่วมการประชุมจี20 ของสี ไม่ได้หมายความว่า จีนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเวทีนี้ เพียงแค่ว่า ท่ามกลางบริบทของภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จี20 ในสายตาจีน “ไม่ได้สำคัญเท่ากับ” บริกส์
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเกี่ยวกับข้อพิพาทดินแดน ระหว่างจีนกับอินเดีย อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยประกอบการตัดสินใจของสี ในการยังไม่เดินทางไปเยือนอินเดีย แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้นำจีนเคยพบหารือกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย มาแล้วหลายครั้ง แต่เป็นการพบปะที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินของประเทศอื่น
ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดียคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2563 กรณีล่าสุด คือการที่รัฐบาลนิวเดลีแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก และทำการประท้วงเมื่อไม่นานมานี้ ต่อการที่รัฐบาลปักกิ่งจัดทำ “แผนที่มาตรฐานฉบับใหม่” อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพรมแดนบางส่วนของเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย กับเขตปกครองตนเองทิเบต ที่จีนเรียกว่า “จางหนาน” หรือภูมิภาคทิเบตใต้ โดยแผนที่ดังกล่าว รวมรัฐอรุณาจัลประเทศเข้าไปด้วย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคทิเบตใต้
นอกจากนี้ รัฐบาลปักกิ่งไม่พอใจอย่างมาก ต่อการที่อินเดียเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรด้านความมั่นคงจตุภาคี “ควอด” ร่วมกับสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งจีนวิจารณ์มาตลอด ว่าเป็นการที่รัฐบาลนิวเดลีเห็นชอบกับแผนการของรัฐบาลวอชิงตัน ที่ต้องการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ ตึงเครียดนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำรัฐบาลวอชิงตันคนปัจจุบัน อีกทั้งสถานการณ์ภายในรัฐบาลปักกิ่งและพรรคคอมมิวนิสต์อึมครึมมากขึ้น นับตั้งแต่การปลดนายฉิน กัง พ้นจากตำแหน่งรมว.การต่างประเทศ เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา
ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ตึงเครียดและชาติมหาอำนาจขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในทุกพื้นที่ การไม่มารวมประชุมจี20 ของผู้นำจีน “ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย” แต่เป็นการทิ้ง “ปริศนา” ทางการเมืองและการทูต ให้หลายฝ่ายต้องนำไปตีความต่อไป โดยคำตอบอาจแฝงอยู่กับ การขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลปักกิ่งนับจากนี้.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP