มันเกิดแวบเข้ามาในหัว…ทำให้เราอยากเขียนนวนิยาย…“ …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการบอกเล่ากับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้ โดย ’ไพศาล วีรกิจ“ วิศวกรด้านระบบน้ำ ที่ชีวิตเคยไปผจญภัยอยู่ในดินแดนประเทศ “อิรัก” ท่ามกลางสถานการณ์ที่พลาดเพียงนิดชีวิตก็อาจปลิดปลิว แต่วันนี้เขากลับกลายเป็น ’นักเขียนนวนิยาย“ ซึ่ง “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวชีวิตเขาคนนี้มาเล่าสู่…

พอรู้ข่าวว่าบริษัทที่ทำงานอยู่ประมูลได้งานฟื้นฟูการก่อสร้างสาธารณูปโภคในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เกี่ยวกับการวางระบบท่อน้ำต่าง ๆ ก็รีบอาสาไปทันที ก็รู้ว่ามันเสี่ยงแต่ใจมันอยากไป!!“ …เป็นเสียงบอกเล่าจาก ไพศาล วีรกิจ คนนี้ ที่เคยไปทำงานที่อิรักหลังสหรัฐอเมริกาเข้ายึดอิรัก ในช่วงที่ในอิรักนั้นก็ยังมีการปะทะ ยังไม่สงบ

“ไพศาล” เมื่อปี 2005 สมัยยังทำงานที่อิรัก

ทั้งนี้ ไพศาล เล่าย้อนชีวิตให้ฟังว่า… เกิดและเติบโตที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จากนั้นก็เข้าเรียนมัธยมที่กรุงเทพฯ โดยจบมัธยมปลาย โรงเรียนสวนกุหลาบ แล้วก็ได้เข้าเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบด้านสิ่งแวดล้อม ที่สมัยนั้นเรียก “สุขาภิบาล” จบแล้วก็ได้ทำงานวางระบบน้ำที่บริษัทแห่งหนึ่ง ทำอยู่ 3-4 ปี ก็ตัดสินใจลาออกไปเรียนต่อปริญญาโทด้านโยธาฯ ทางด้านน้ำ ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริก โดยไปพร้อมกับภรรยา คือ มัทนา วีรกิจ ซึ่งเขาเล่าว่า… ตอนไปเรียนใหม่ ๆ ก็ไม่ง่าย ภาษาก็ยังไม่แข็งแรง และต้องทำงานไปด้วย โดยขับแท็กซี่ และก็ส่งหนังสือพิมพ์ด้วย จนกระทั่งเรียนจบ…

พอเรียนจบ อาจารย์ที่สอนก็ชวนให้ไปทำงานด้วย ผมก็เลยทำงานอยู่ที่อเมริกายาวมาตลอด 30 กว่าปี ลูก ๆ 2 คนก็เกิดที่อเมริกาทำงานอยู่ที่อเมริกาก็เป็นวิศวกรออกแบบ ทำงานทางด้านการออกแบบระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบท่อ วางผังเมือง เป็นคนออกแบบโดยทำมาหลายเมือง ทั้งในลอสแอนเจลิส และก็มีโอกาสเดินทางไปวางระบบน้ำให้หลาย ๆ เมืองในหลาย ๆ รัฐในอเมริกาด้วย …ทาง ไพศาล กล่าว

นวนิยายที่เขียน

พร้อมเล่าต่อไปว่า… หลังจากทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 10 กว่าปี ก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงาน ก็เลยตัดสินใจลาออก แล้ว กลับมาที่ประเทศไทยพร้อมกับภรรยาและลูกชายคนเล็ก ส่วนลูกชายคนโตต้องฝากเพื่อนเลี้ยงเพราะกำลังเรียนหนังสือ ซึ่งเมื่อกลับมาไทยก็มีโอกาสเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเป็นหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นก็ยังรับเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชน และนิคมอุตสาหกรรม เกี่ยวกับเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบผลิตน้ำประปา

แต่หลังจากทำงานอยู่ที่ไทยอยู่ประมาณ 5 ปี ลูกชายคนเล็กเริ่มร้องขออยากกลับไปอยู่บ้านที่อเมริกา ก็เลยตัดสินใจกลับไป ซึ่งโชคดีที่บริษัทเดิมที่เคยทำงานได้รับผมกลับเข้าทำงานอีกครั้ง จนต่อมาก็ขยับเป็นผู้จัดการโครงการ …ไพศาลเล่า และ…การกลับไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาครั้งนี้ของ ไพศาล ก็เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาไป ผจญภัยในอิรัก กลายเป็น วิศวกรคนไทยที่ไปผจญภัยในแดนมิคสัญญี โดยเจ้าตัวเล่าว่า… ช่วงที่สงครามอิรักจบลง สหรัฐอเมริกายึดอิรักแล้ว หลังจากนั้นบริษัทที่ทำงานอยู่ประมูลได้งานฟื้นฟูก่อสร้างสาธารณูปโภคเกี่ยวกับระบบน้ำที่อิรัก บริษัทก็หาคนไปทำงาน ซึ่งหลาย ๆ คนในบริษัทไม่กล้าไปกัน เพราะแม้สงครามจะจบแล้ว…ตอนนั้นก็ยังมีการปะทะกันอยู่ตลอด แต่เขาก็ตัดสินใจไป…

ถามว่ากลัวไหม? กลัว!! ตอนนั้นอายุก็ 50 กว่าแล้วก็รู้ว่ามันเสี่ยง แต่ก็อยากไปลอง ซึ่งก็ได้เงินดี และมีประกันชีวิต ตอนที่ไปบริษัททำประกันให้ 1 ล้านดอลลาร์ ตอนนั้นผมเป็นวิศวกรคนไทยคนเดียวที่เดินทางไปทำงานที่อิรัก ไปเป็นผู้จัดการโครงการสร้างระบบน้ำประปาใหม่ งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือออกแบบก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาใหม่ให้กับชุมชนเมืองซาเดอร์ ซึ่งเป็นชุมชนเมืองที่ใหญ่มาก ตอนนั้นมีคนอยู่กันแออัด 3-4 แสนคน 

ไพศาล เล่าการเริ่มต้นการเดินทางไปอิรักว่า… ต้องไปที่รัฐเวอร์จิเนียก่อน เพื่อทำบัตรประจำตัวของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เรียกย่อ ๆ ว่า “CAC” หรือ  Common Accessed Card ที่ต้องใช้เข้าออกอิรัก และตอนอยู่ที่อิรักก็ต้องพกบัตรนี้ตลอด พอรุ่งขึ้นก็ไปขึ้นเครื่องบินที่วอชิงตันบินไปอังกฤษ แล้วต่อเครื่องไปคูเวตที่ตอนนั้นเป็นศูนย์กลางการเดินทางเข้าออกอิรัก พอลงเครื่องที่คูเวตก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ให้ความคุ้มครองในอิรักมารอรับ ซึ่งก่อนเดินทางต่อก็ต้องรับฟังบรรยายสรุปเรื่องระเบียบการทำงาน การรักษาความปลอดภัย และก็ได้รับแจก หมวกกันกระสุน กับเสื้อเกราะกันกระสุน

สมัยทำงานที่อิรักตอนออกนอกแคมป์

เสื้อเกราะกันกระสุน น้ำหนักเกือบ 10 กิโลฯ ครั้งแรกที่ใส่เข่าแทบทรุด แต่จำเป็นต้องใส่ ทุกครั้งที่จะเดินทางเข้าหรือออกจากอิรักก็จะต้องสวมใส่ตลอดเวลา เพราะต้องนั่งเครื่องบินทหาร ถ้าไม่ใส่เขาไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่อง กับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ ประกันคงไม่อยากจ่ายค่าสินไหม หากเกิดเป็นอะไรไป …ไพศาลกล่าวติดตลก

ก่อนจะเล่าย้อนอีกว่า… แค่เดินทางวันแรกก็ระทึกแล้ว!!“  ซึ่งเครื่องบินทหารซี-130 เที่ยวบินนี้ต้องไปส่งคนทำงานและส่งวัสดุที่เมืองโมซูลทางตอนเหนือของอิรักก่อน ซึ่งที่นี่ยังมีการต่อต้าน มีการต่อสู้กับทหารอเมริกันและพันธมิตรบ่อยครั้ง โดย ไพศาล บอกว่า… นั่งเครื่องบินไปก็หลับตาสวดมนต์ตลอดทาง ซึ่งการลงจอดที่โมซูลนักบินต้องลดระดับลงอย่างรวดเร็วแบบทิ้งตัว… นัยว่าเพื่อหลบกระสุน ทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด หลาย ๆ คนออกอาการทำท่าจะอาเจียน แต่ก็โชคดีที่เครื่องไม่ถูกยิง หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมงต่อมาเครื่องก็ออกเดินทางต่อมุ่งสู่แบกแดด… ตอนบินขึ้น นักบินก็ดึงเครื่องให้พุ่งขึ้นโดยเร็ว เพราะเคยถูกพวกต่อต้านยิงใส่มีคนตายมา 2-3 ครั้ง พวกเรานั่งกันเครียด ลุ้นภาวนาขออย่าให้โดนยิง และเมื่อเครื่องบินไต่ถึงระดับความสูงพ้นระยะกระสุน ทุกคนต่างถอนหายใจโล่งอกไปตาม ๆ กัน

ภรรยา

ในที่สุด ไพศาล ก็ไปยืนอยู่บนดินแดนเมืองแบกแดด ซึ่งเขาเล่าว่า… ไปอยู่ที่นั่นใหม่ ๆ ยอมรับเลยว่า กลัว!!“… ซึ่งการไปทำงานอยู่ที่อิรักมัน เสี่ยงภัยมาก!!“ เวลาออกจากแคมป์เพื่อไปจุดที่ต้องตรวจงานก็จะมีการ์ดที่เป็นพวกทหารรับจ้างของบริษัทอาร์เมอร์กรุ๊ป (Armor Group) ที่ทางบริษัทจ้าง คอยตามดูแลความปลอดภัยให้ เวลาออกไปไหนการ์ดก็จะตามไปประกบติดคุ้มครองความปลอดภัยให้ทุกครั้ง ซึ่งเวลาออกจากแคมป์ไปจะมีรถกันกระสุน 3 คัน… เราจะนั่งรถคันกลาง โดยมีรถนำหน้า และรถตามหลังปิดท้าย ในรถมีการ์ดพร้อมอาวุธหนักเพื่อคุ้มกันให้ความปลอดภัย …เขาคนนี้เล่าไว้ และ…

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าน่ากลัวอยู่ แต่ยังดีที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร คือกฎของที่นั่นรถของคนอิรักถ้าเห็นรถของอเมริกันห้ามเข้ามาใกล้เกิน 50 ฟุต ถ้าเข้ามาจะถูกยิง วันนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นมารถคันที่ผมนั่งเขาก็รีบพาผมหนี แต่รถไปปีนเกาะกลาง แล้วก็ติดไปไหนไม่ได้ การ์ดก็ต้องเอาตัวผมออกจากรถ และจะพาไปขึ้นรถอีกคัน ซึ่งพอดีรถคันหลังมาถึงก็บอกว่าไม่มีอะไรแค่เป็นการยิงขู่…ไพศาลเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ระทึกครั้งแรกที่เจอในอิรัก

หลังจากที่เขาทำงานอยู่ที่อิรักได้ระยะหนึ่ง เหตุการณ์ก็เริ่มที่จะรุนแรงมากขึ้น มีทั้ง คาร์บอมบ์ มีทั้ง ระเบิดพลีชีพ ทำให้ช่วงนั้นไม่สามารถออกจากแคมป์ได้เลย โดยต้องให้วิศวกรที่เป็นคนอิรักไปดูงานแทนแล้วพูดคุยสั่งงานกันทางโทรศัพท์ ซึ่งหลังจากที่เขาทำงานอยู่ที่อิรักได้ราว 2 ปี สัญญาของทางบริษัทก็หมดลง และเขาก็เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา

ลูกชาย 2 คน

ทั้งนี้ ในภายหลังเขาคนนี้…จากที่เคยเป็น วิศวกรไทยในดินแดนมิคสัญญี ก็กลายมาเป็น คนในแวดวงวรรณศิลป์ สวมบทบาท นักเขียนนวนิยาย โดยกับเรื่องนี้เขาคนนี้บอกเล่ากับ ทีมวิถีชีวิต ว่า… การหันมาเป็นนักเขียนนิยายนั้น เรื่องแรกที่เขียนก็คือเรื่อง นิยายมหัศจรรย์ นากพลอย โดยมี 2 เล่ม 2 ตอน ซึ่งเล่มแรกมีชื่อตอนว่า พิฆาตทรชน ส่วนเล่มที่ 2 มีชื่อตอนว่า ชดใช้กรรม หรือคืนสู่สามัญชนโดยเขาได้ส่งนิยายที่เขียนนี้ไปเผยแพร่ใน เว็บไซต์เด็กดี

และเกี่ยวกับการที่หันมาเขียนนิยาย ด้วยนามปากกา ’ติน ตะโกลา“ ทาง ไพศาล เล่าว่า… พอช่วงที่ว่างงาน ก็เริ่มเขียนนวนิยาย ซึ่งเดิมก็เป็นคนที่ชอบอ่านชอบเขียนอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ก็เคยเขียนเรื่องที่ไม่ใช่นิยาย เป็นเรื่องการเดินทางไปทำงานที่อิรัก เป็น บันทึกการผจญภัย ความยากลำบากในการเดินทางไปทำงานที่อิรัก ก็ได้ส่งให้เพื่อน ๆ อ่าน เพื่อนก็ยุให้ลองพิมพ์ขาย…แต่ก็ไม่ได้พิมพ์ นอกจากนั้น ช่วงที่เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิตก็เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ วิธีผลิตน้ำบริสุทธิ์สำหรับอุตสาหกรรม โดยเขียนให้กับหนังสือรายเดือนเล่มหนึ่ง เป็นบทความเป็นตอน ๆ แล้วทางนั้นก็ได้เอาไปรวมเล่มด้วย…

ทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนากัน… วิศวกรนักเขียนนิยาย ที่ชื่อ ไพศาล วีรกิจ บอกย้ำว่า… จริง ๆ ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเขียนนิยายเลย แต่มันเกิดแวบเข้ามาในหัว ทำให้อยากเขียนนวนิยาย เรื่องแรกที่เขียนก็ไหลไปเรื่อย ๆ ก็ใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าจะเรียบเรียงสำเร็จ นวนิยายที่เขียนออกมานั้นเกิดจากจินตนาการของตัวเองล้วน ๆ

และตอนนี้ก็สนุกกับการเขียนนิยาย“.

‘เฉียด’ ระทึก ‘ระเบิดพลีชีพ!!’

ไพศาล วีรกิจคนนี้ เคยไปทำงานในอิรักถึง 2 รอบซึ่งหลังรอบแรก บริษัทส่งเขาไปทำงานที่อาบูดาบี 1 ปีแล้วก็ให้กลับ โดยตอนนั้นเขาเริ่มเบื่อ ๆ ก็เลยลาออกไปสมัครงานอีกบริษัท และจุดนี้นี่เองที่ทำให้เขาไปทำงานที่อิรักอีกครั้ง… ครั้งนี้ไปอยู่ค่ายทหาร มีเหตุระทึกขวัญหลายหน มีชาวอิรักที่เป็นลูกจ้างที่ค่ายทหารระเบิดพลีชีพตัวเองในโรงอาหาร มีทหารเสียชีวิตไปเยอะ โชคดีที่ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ที่โรงอาหาร อีกเหตุการณ์คือมีระเบิดตกลงที่พักหลังหนึ่ง โชคดีที่ตอนนั้นไม่มีใครอยู่ในนั้น และก็ยังมีเหตุการณ์ระเบิดอาร์พีจีมาตกติดลวดหนามโดยยังไม่ระเบิด ทหารก็ต้องรีบเก็บกู้

“ไพศาล” ที่วันนี้ผันตัวเป็นนักเขียน

หลังทำงานที่อิรักรอบนี้อีกเกือบ 2 ปี ไพศาล จึงออกจากอิรักมาที่ประเทศไทย และก็ไปทำงานโครงการท่าเรือน้ำลึกที่เมียนมาอยู่ราว 5 ปี จึงเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา แล้วภายหลังก็ตัดสินใจกลับมาไทยอีก มาเป็นวิศวกรที่ปรึกษาอิสระเกี่ยวกับเรื่องน้ำ… ’ที่ผ่านมาผมได้รับการติดต่อให้ไปดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก ทำอยู่ได้ 1 ปีกว่า ๆ ก็เลิกสัญญา ล่าสุดก็เป็นที่ปรึกษาดูแลประสานงานโครงการจัดการน้ำเสียให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งสัญญาเพิ่งจะหมดไป ตอนนี้ก็มา ๆ ไป ๆ อเมริกา เพราะครอบครัวผมยังอยู่ที่นั่น“ …ทาง “วิศวกรนักเขียนนิยาย” บอกเล่าปิดท้าย.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน