วันนี้ขอพูดเรื่อง “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” โดยก่อนอื่นต้องบอกกับ “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ออกมากระทุ้งเรื่องดังกล่าวช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ว่าต้องใจเย็น ๆ เพราะอันที่จริงเรื่องนี้รอได้! รอให้ สว.ลากตั้งชุดปัจจุบันหมดอายุขัยในวันที่ 11 พ.ค. 67 แล้วค่อยมาพูดก็ยังได้

เนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังไม่ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา จึงสั่งการอะไรยังไม่ได้ ส่วนนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ทำได้แค่เดินสายรับฟังความคิดเห็น-เสนอแนะ ยังไม่มีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลกองทัพจนกว่าจะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลวันที่ 11 ก.ย.นี้

เกณฑ์ทหาร 63 กองทัพ แจ้งผู้รับการตรวจเลือกทุกคน ต้องแก้หมายเรียกสด.35 ใหม่  : PPTVHD36

แต่ “พยัคฆ์น้อย” เห็นข้อความคำแถลงนโยบายรัฐบาล ระบุว่ารัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ โดย

  • 1.จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ
  • 2.ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารให้เป็นแบบสร้างสรรค์
  • 3.ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของประเทศ
  • 4.ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ สอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  • 5.นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ถ้านายพริษฐ์อ่านข้อ 1-5 สัก 2 รอบก็จะไม่ใจร้อนเรื่อง “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” โดยเฉพาะถ้าดูข้อมูลเก่า ๆ ปี 60 มียอดรับทหารเกณฑ์ 103,097 คน ปี 61 ยอด 104,734 คน ปี 64 ลดฮวบ!ลงมาเหลือ 97,558 คน และปี 65 เหลือ 58,330 คน

เดือน เม.ย. ปี 66 ยอดรวมน่าจะใกล้เคียงกับปี 65 (58,330 คน) แต่มีคนมาสมัครเป็นทหารถึง 35,617 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่มีคนสมัครใจมาเป็นทหารสูงมากถึง 35,617 คน และในจำนวนนี้จบปริญญาตรี 3,387 คน ปริญญาโท 23 คน

ดังนั้นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือไม่ยกเลิกเกณฑ์ทหาร จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญแล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือการรับ “ทหารใหม่” เข้าประจำการยังต้องมี! แต่ควรมีจำนวนเท่าไหร่? กับความจำเป็นในภารกิจ และงบประมาณแต่ละปี

สมมุติ! 3 เหล่าทัพ ยังต้องการทหารใหม่ปีละ 50,000 คน จากยอดผู้ที่มีคุณสมบัติเข้ารับการคัดเลือก (อายุ 21-29 ปี) ประมาณปีละ 4.4 แสนคน ตัวเลข 50,000 คนจึงไม่มาก! ยิ่งมีคนมาสมัครเป็นทหารถึง 35,617 คน เมื่อคราวที่แล้ว และต่อไปถ้ามีเงินเดือน-สวัสดิการมากขึ้น อาจจะมีคนมาสมัครเป็นทหารครบจำนวนที่กองทัพต้องการก็เป็นไปได้

วันนี้กระทรวงกลาโหมต้องทำการบ้านให้ดีว่ากองทัพบกมี 7 กองพลทหารราบหลัก ๆ (7 กองกำลัง) จะเอาทหารใหม่เข้าไปทำอะไรมากมาย? ตราบใดที่ภารกิจการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเป็นของอาสาสมัครทหารพราน และ ตชด.

ทหารอากาศมีประมาณ 12 กองบิน กระจายทั่วประเทศ มีเครื่องบินรบ-เครื่องบินลำเลียง-เฮลิคอปเตอร์กี่ลำ? สมมุติถ้าต้องการทหารใหม่ปีละ 4,000 คน มากเกินไปหรือเปล่า?

หน่วยช่วยรบสนับสนุนการรบ (ส่งกำลังบำรุง) ยังต้องการ “ทหารใหม่” ไปดายหญ้า ตัดหญ้า รดน้ำต้นไม้ ล้างห้องน้ำ เฝ้าคลังอาวุธคลังกระสุน เข้าเวรยาม เฝ้าสนามกอล์ฟ และทำงานบริการนายลูกเมียนายอีกหรือ? ในเมื่อไม่มีภัยคุกคามทั้งในและนอกประเทศ บรรดานายสิบจ่าผู้หมวดผู้กอง ที่รับเงินเดือนจากรัฐทุกเดือนไปจนกว่าจะเสียชีวิต ก็ควรทำงานเหล่านี้ได้ คือทำงานภายในค่ายของท่านให้เรียบร้อย ก่อนที่จะออกมา “ทำงานซีเอสอาร์” นอกค่าย

ถ้าทุกเหล่าทัพ ลด-เลิก! ทุกภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกไป ทั้งเรื่องการบรรเทาสาธารณภัยและความมั่นคงภายใน ความต้องการ “ทหารใหม่” จะอยู่ในจำนวนเหมาะสม สอดคล้องกับงบประมาณ และได้ทหารใหม่ที่มีคุณภาพ

“พยัคฆ์น้อย” เห็นคนมาสมัครเป็นทหารใหม่คราวที่ผ่านมา แล้วรู้สึกว่าอีกหน่อยตัวเลขความต้องการทหารใหม่และยอดผู้สมัครจะสมดุลกัน จึงไม่น่าห่วงเหมือนที่นายพริษฐ์กังวลเรื่องเกณฑ์ทหาร แต่สิ่งที่ยังน่าห่วงและถูกบรรจุอยู่ในนโยบายรัฐบาล คือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้

ทำไม? กองทัพเจอข้อครหาว่า “ซื้อของแพง” กว่าประเทศอื่น ๆ เอะอะก็จัดซื้อด้วย “วิธีพิเศษ” ส่วน “คู่เทียบราคา” ถ้ามี! ก็พวกหน้าเดิม ๆ ทั้งนั้น!!

———————–
พยัคฆ์น้อย