บรรยากาศกลางเดือนกันยายน ในเมืองไทยยังไม่ผ่านพ้น มหาวิกฤติโควิด-19 ที่ยอดติดเชื้อสะสมไปไกลกว่า 1 ล้านคน ส่วนยอดเสียชีวิตก็กำลังไต่ระดับ 2 หมื่นคน แต่เมื่อ ศบค.ตัดสินใจเริ่มคลายล็อก ชาวบ้านคงต้องเฝ้าระวังช่วยตัวเองและครอบครัวให้ปลอดภัย บางพื้นที่เจอทั้งโรคระบาดโควิดและ ภัยธรรมชาติ พายุฝนน้ำท่วม ซ้ำเติมน่าเห็นใจจริง ๆ
ขณะที่อุณหภูมิการเมืองก็ร้อนฉ่ามาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว!! ท่ามกลางเกมแห่งการช่วงชิงอำนาจ-บารมี จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สะบักสะบอมจากศึกอภิปราย ได้คะแนนไว้วางใจรองบ๊วย
แถมตอนนี้ยังต้องมาเผชิญศึกใหญ่ 2 ด้าน ไม่รู้รัฐนาวาบิ๊กตู่ จะไปตลอดรอดฝั่งได้หรือไม่?
ทั้ง ม็อบไล่รัฐบาล-ปมเชือด 2 รมต. จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อุณหภูมิทางการเมืองใน เดือนกันยายน 64 ร้อนแรงผิดปกติ ต้องเกาะติดแบบห้ามกะพริบตา มีเรื่องให้ลุ้นกันได้ตลอด อะไรก็เกิดขึ้นได้
ม็อบไล่รัฐบาลเริ่มจุดติด ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคาร์ม็อบ ปักหลักชุมนุมทุกเย็นใจกลางกรุง ส่วน ม็อบทะลุแก๊ส กลุ่มวัยรุ่นที่ไร้แกนนำ รวมตัวยามเย็นที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง จุดประทัด พลุไฟ ปะทะ ตำรวจ คฝ. จนกลายเป็นภาพชาชินตา
คอการเมืองกำลังปูเสื่อดู อาฟเตอร์ช็อก หลังการปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นตำแหน่งชนิดไม่ไว้หน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หน.พรรคพลังประชารัฐ
7 ปีก่อน ชาวไทยและคนหนุ่มสาว คงจำไม่ลืมกับ บทเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่เปิดขับกล่อมทุกวัน หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ผู้เขียนเนื้อร้องโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ./หัวหน้าคณะ คสช. (ตำแหน่งขณะนั้น)
ท่อนฮิตที่คุ้น ๆ หู “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา“ ผลงานเขียนเพลงเรียบเรียงได้งดงามสวยหรู ก่อนจะปิดท้ายท่อนจบว่า ’แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ความสุขจะคืนกลับมาประเทศไทย“
แต่รัฐนาวาบิ๊กตู่ ลอยละล่องมานาน จนเข้าสู่สมัย รัฐบาลประยุทธ์ 2 ชาวไทยไม่ว่าจะยากดีมีจน ต่างก็ได้เห็นผลงานอันเป็นที่ประจักษ์สายตา ตลอด 7 ปีมีโอกาสบริหารประเทศอำนาจเต็มที่ ต่างก็เฝ้ารอแผ่นดินที่งดงามจะกลับคืนมาเมื่อไรแน่? เพราะผลงานของผู้นำรัฐประหารที่แปลงร่างสู่นายกฯพลเรือน แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบทเพลงที่เขียน
ไม่ต้องย้อนไปดูผลงานไกล แค่เดือน เม.ย. 64 มาจนถึงปัจจุบัน ในภาวะวิกฤติของประเทศชาติ การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และ บริหารจัดการวัคซีน มีนายกฯ เป็น ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เดือน ก.ค. 64 คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ประเมินผลการทำงานของรัฐบาล บริหารการควบคุมโควิด-จัดการวัคซีน สรุปไว้ผิดพลาดเช่นไร ใครต้องรับผิดชอบ? เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา นายกสมาคมทนายความนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรวมตัวประเดิมฟ้องนายกฯ ในเรื่องนี้แล้ว
คำพูดที่ว่า “ไม่ยุบสภา ไม่อยู่ในหัวสมอง“ นาทีนี้พูดออกไปก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะเชื่อสักเท่าไร
แต่ตอนนี้เชื่อว่ามีสิ่งที่หลายคนกำลังเฝ้ารอ หลังจากให้เวลามานาน 7 ปี คงอยากจะเห็น “ผู้นำที่เสียสละเพื่อชาติ” กันอีกสักครั้ง!.
————–
เชิงผา