ซึ่งบ้างก็ว่า…ไม่เคยชิมเมนูนั้นเลย บ้างก็ว่า…ไม่เคยได้ยินชื่อเมนูนั้นเลย จนต้องมีการแจกแจงถึง “หลักเกณฑ์การคัดเลือก”ต่อสังคมกันยกใหญ่ ซึ่งที่สุดแล้วลงเอยอย่างไรบ้าง?? นั่นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ๆ ทั่ว ๆ ไป กับการที่หน่วยงานรัฐมีการ “ฟื้นฟู-ส่งเสริม” ให้ “อาหารท้องถิ่น-เมนูพื้นบ้าน” นั้น “เป็นที่รู้จักในวงกว้าง” ก็ถือเป็น “เรื่องที่ดี”…

เป็นการ “รักษาภูมิปัญญาด้านอาหาร”

เพื่อ “มิให้สูญหายไปจากประเทศไทย”

ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่อง “อาหารพื้นบ้าน-เมนูท้องถิ่น” ในภาพรวม ๆ…เนื่องจากอาหารพื้นบ้านมักจะถูกปรุงหรือทำขึ้นด้วย “วัตถุดิบชุมชน” จึงทำให้ “รสชาติของเมนูท้องถิ่น” นั้นมักจะ “โดดเด่น-เป็นเอกลักษณ์” อย่างไรก็ตาม แต่กับเรื่องอาหารพื้นบ้าน-เมนูท้องถิ่นนี่อันที่จริงก็ไม่ควรโฟกัสกันแค่ประเด็นแปลก-หายาก-อร่อยเท่านั้น เพราะเรื่องนี้มีความ “ยึดโยง” ไปที่เรื่องของ “ความมั่นคงทางอาหาร” หรือตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า “Food Security”  อีกด้วย โดยที่คำ ๆ นี้ถูกพูดถึงนานแล้ว…

โดยเฉพาะ…มิติ “เหลื่อมล้ำ vs ยั่งยืน”

นี่เป็นเรื่องใหญ่ของโลก…รวมถึงไทย

“Food Security” หรือ “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูในวันนี้… มีการอธิบาย “ความหมาย” ของคำ ๆ นี้ไว้ ซึ่งมีข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้อธิบายเอาไว้ว่า… สำหรับคำว่า “ความมั่นทางอาหาร (Food Security)” นั้น เกิดขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์อาหารในสังคม โดยเริ่มจากทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่ “โลกขาดแคลนอาหาร” จึงมีความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการเน้น เร่งผลิตให้มีปริมาณอาหารมากที่สุด เพื่อที่จะ ให้มีอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภค เป็นหลัก

นี่เป็นยุคแรก ๆ ที่มีคำว่า“Food Security”

อย่างไรก็ตาม แต่หลังจากมีการเน้นที่การเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมเพื่อให้มีอาหารปริมาณมากขึ้นนั้น ก็กลับพบว่า… “ความหิวโหยยังไม่หมดไป” ทั้ง ๆ ที่ก็มีอาหารมากมาย ทำให้ในทศวรรษ 1980 โลกจึงหันมาพูดกันถึงเรื่อง “การเข้าถึงอาหาร” การกระจายอาหารให้ถึงคนทุกคนได้จริง ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร และในช่วงทศวรรษ 1990 “ความมั่นคงทางอาหาร” ก็ได้ถูก “ขยายไปถึงเรื่องคุณภาพอาหาร-คุณค่าทางอาหาร” ด้วย นอกจากนั้น ทาง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก็ยังได้มีการกำหนด องค์ประกอบ 4 ข้อ  ที่เป็น “เกณฑ์มีความมั่นคงทางอาหาร” เอาไว้ดังนี้…

การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) คือ มีอาหารที่มีคุณภาพเหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งอาจได้จากการผลิตในประเทศ หรือนำเข้า, การเข้าถึงอาหาร (Food Access) คือ ทุกคนเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าโภชนาการอย่างเพียงพอ รวมถึงเข้าถึงทรัพยากรอาหาร ภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศนั้น, การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) คือ มีอาหารที่ตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคน รวมถึงมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะด้วย, การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) คือ การที่ทุกคนเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา

นี่เป็น “องค์ประกอบมั่นคงทางอาหาร”

ที่“องค์กรระดับโลกกำหนดนิยาม” ไว้

ในส่วนของ ประเทศไทย นั้น ก็ได้มีการกำหนด “นิยามความมั่นคงทางอาหาร” เอาไว้อย่างเป็นทางการเช่นกัน และก็สอดคล้องกับคำนิยามที่ FAO ได้กำหนดไว้ โดยมีการบัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ว่าหมายถึง… “การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ ตลอดจนอาหารมีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้งมีระบบผลิตที่เกื้อหนุน ที่ยังสามารถรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติหรือภัยพิบัติ” …นี่เป็น “นิยามมั่นคงทางอาหาร” ที่มีอยู่ในกฎหมายไทย

ทั้งนี้ นอกจากนี้เรื่อง“มั่นคงทางอาหาร” ยังถูกพูดถึงอีกหลายประเด็น เนื่องจาก เกี่ยวพันกับผู้คน ชุมชน สังคม เช่น เศรษฐกิจ รายได้ ความยากจนซึ่งหากประชาชนหรือประเทศใด “ขาดความมั่นคงทางอาหาร” ก็จะ “ส่งผลกระทบในหลาย ๆ มิติ” โดยการขาดความมั่นคงทางอาหารจะมี 2 แบบ คือ “แบบชั่วคราว” ที่เกิดขึ้นเมื่อ ความสามารถในการผลิตหรือเข้าถึงอาหารลดลงรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง กับ “แบบเรื้อรัง” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการอาหารขั้นต่ำในระยะเวลาที่ยาวนาน …เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขป คำว่า “มั่นคงทางอาหาร – Food Security”

“เมนูอาหารท้องถิ่น” เกิด “กระแสอื้ออึง”

ถ้า “นึกถึงอาหารมั่นคง” กันด้วย…“ก็ดี”

เพราะ “ทั้งที่มีการชูไทยเป็นครัวโลก”…

แต่ “ก็มีคนในครัวที่อาหารไม่มั่นคง!!”.