แม้จะใช้เวลาเนิ่นนาน หลังเสร็จสิ้นเลือกตั้ง 3 เดือน กว่าจะได้รัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อย โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ’เศรษฐา 1“ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นำคณะ ครม. เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน วันอังคารที่ 5 .. 66 พร้อมเตรียมแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาตามขั้นตอน

นับเป็นโอกาสดีสุญญากาศทางการเมืองหมดไป ส่วนรัฐบาลใหม่คงไม่มีเวลาฮันนีมูนหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว รัฐบาลเศรษฐา 1 จะต้องเดินหน้าลุยทำงานทันที มีหลากหลายปัญหารอให้สะสางอยู่ นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้วยังมีสารพันปัญหาทั้งน้อยใหญ่มากมายที่เกิดขึ้น หลายเรื่องก็มีความสำคัญต่อประเทศชาติจึงต้องจัดลำดับความสำคัญปัญหาต่าง ๆ

ที่สำคัญมีบางเรื่องใน แวดวงด้านการศึกษา หลายคนเป็นห่วงกลัวจะถูกมองข้ามผ่านไป โดยเฉพาะเรื่องของ “การอ่าน” ก่อนหน้านี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือและการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน รัฐบาลเคยกำหนดนโยบายด้านการอ่านมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันการอ่านหนังสือของเด็กและเยาวชนไทยกลับลดน้อยลง ยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากยุค โลกออนไลน์ การสื่อสารไร้พรมแดน เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงไปอย่างรวดเร็ว มีอินเทอร์เน็ตรวดเร็วทันใจ โทรศัพท์มือถือ ที่พัฒนาใช้งานสารพัดประโยชน์ครบวงจรยิ่งกว่าเพื่อนคู่กาย แทบจะกลายเป็น ปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันไปแล้ว ส่งผลให้เกิด สังคมก้มหน้า เสพหาข้อมูลกันจากในโทรศัพท์มือถือ บางครั้งได้ข้อมูลไม่ทันไรก็ส่งต่อแบบรวดเร็วไม่รอบคอบถึงขั้นมีการเปรียบเปรยว่า คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด

ยิ่งช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาการอ่านลดน้อยลงแล้ว ยังได้ส่งผลให้ เด็กไทยเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Learning Loss” นักเรียนทุกระดับชั้นทั่วประเทศต้องหยุดเรียนและเลือกใช้การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์แทน เมื่อโรงเรียนสามารถกลับมาเปิดเรียนออนไซต์ได้ตามปกติ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงขั้นต้องประกาศ “นโยบายเดินหน้าลดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน”

โดยเฉพาะผู้เรียน ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนทุกแห่ง ครูผู้สอนพยายามเร่งเติมเต็มและฟื้นฟู เรื่องการอ่าน ให้แก่เด็กชั้นประถม ทั้งการอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น โดยดึงทักษะการเรียนรู้เรื่องการอ่านช่วงที่เด็กสูญเสียไปกลับมาให้เร็วที่สุด สำหรับนโยบายส่งเสริมการอ่านของ ศธ. ได้ร่วมกับภาคเอกชน ประกาศเจตนารมณ์สร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็กไทยอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 จนถึงปัจจุบัน

เน้นอ่านกันวันละ 15 นาที เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็กนักเรียนชั้นประถมทั่วประเทศ การอ่านหนังสือแบบรูปเล่มให้เด็กฟัง 15 นาทีทุกวัน จะสร้างคลังคำศัพท์ให้เด็ก, ช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาและความเข้าใจในสิ่งรอบตัวที่ดี,ช่วยพัฒนาการคิดวิเคราะห์มีผลการเรียนที่ดีขึ้น เพราะ 15 นาทีนั้นมากพอที่จะช่วยให้สมองได้ออกกำลังผ่านการซึมซับข้อมูลใหม่ ๆ และยังช่วยคลายเครียดให้เด็กได้มากกว่าการเล่นเกมในเวลาที่เท่ากัน หากเด็กชั้น ป.1 ได้อ่านหนังสือวันละ 15 นาทีทุกวัน จะได้เรียนรู้ถึง 5.7 ล้านคำเมื่อเรียนจบชั้น ป.6

ดังนั้นการปลูกฝังเรื่องการอ่าน นอกจากจะเริ่มจากครอบครัวเชื่อมต่อมาถึงโรงเรียนที่เป็นศูนย์รวมหลักสำคัญในการพัฒนาทักษะแล้ว “รัฐบาลเศรษฐา” ที่กำลังจะลุยขับเคลื่อนประเทศ ต้องอย่ามองข้ามควรเข้าไปสานต่อนโยบาย “กระตุ้นปลูกฝังความสำคัญของการอ่าน” ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเพราะเด็ก ๆ เหล่านี้จะได้มี ทักษะพื้นฐานการอ่านที่ดีและมีคุณภาพ ก้าวหน้าไปเป็นพลังสำคัญ เติมเต็มให้อนาคตของชาติอย่างแน่นอน!!.