ปัญหา “เอลนีโญ” ทำให้ทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าปกติ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65 ดังนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และภาคอุตสาหกรรม การลงทุน การค้า และการส่งออก ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และภูมิภาคไหนน่าห่วงมากที่สุด?
ทีมข่าว Special Report สนทนากับ นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน กล่าวว่าสำนักงานชลประทานที่ 9 มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก ตั้งแต่ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่วถือว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และมีความหลากหลายของกิจกรรมการใช้น้ำ ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุปโภค-บริโภค (การท่องเที่ยว) น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก
บริหารจัดการดีๆ มีน้ำพอใช้แน่นอน
โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงมีคำถามตามมาและมีข้อวิตกกังวลว่าน้ำจืดในพื้นที่ภาคตะวันออกจะไม่พอใช้?
แต่จริงๆ แล้วถ้าเราบริหารจัดการดีๆ มีน้ำพอใช้อย่างแน่นอน โดยขณะนี้มีเรามีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ความจุเกิน 100 ล้าน ลบ.ม. กระจายอยู่ 6 อ่าง (เขื่อน) ใน 8 จังหวัด มีขนาดความจุรวมกัน 1,515 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 614 ล้านลบ.ม. (41%) และอ่างขนาดกลาง 52 อ่าง มีความจุรวมกัน 1,006 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำ 510 ล้าน ลบ.ม. (51%) ขณะที่ยังเหลือฤดูฝนอีกเกือบ 2 เดือน จนถึงสิ้นเดือนต.ค.66 ตนมั่นใจว่ามีปริมาณน้ำพอใช้อย่างแน่นอน ไปสิ้นสุดในฤดูแล้งปีหน้า 30 เม.ย.67
“อุตสาหกรรม” ใช้น้ำน้อย-เอกชน3รายเข้ามาลงทุนขายน้ำ
นายทินกรกล่าวต่อไปว่า เราจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ ตั้งแต่น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม น้ำเพื่อการเกษตรยังใช้มากที่สุดถึง 67% รองลงมาคือน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 9% ซึ่งตรงนี้รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวของโรงแรม รีสอร์ทในเมืองพัทยาและบางแสนด้วย และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 9% ต้องชี้แจงว่าภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำไม่มาก แค่ 9% เท่านั้น รวมๆแล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณปีละ 200 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลือเป็นน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม เป็นต้น
โดย 9% ที่ว่านี้นอกจากน้ำของกรมชลประทานแล้ว ยังเป็นน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และน้ำของภาคเอกชนรายใหญ่ 3 ราย ที่เข้ามาลงทุนทำน้ำประปาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก คือ อิสท์วอเตอร์-วงษ์สยาม-วายเอสเอสพี
ภาคเอกชนเหล่านี้เอาน้ำดิบมาจากไหน ตอบว่าซื้อจากอ่างเก็บน้ำของชลประทาน ในอัตรา “ค่าชลประทาน” ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 ราคา 50 สตางค์/ลบ.ม. บางรายมีการขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ขายเองผ่านระบบท่อส่งน้ำ เนื่องจากเอกชนทำอะไรได้คล่องแคล่วรวดเร็วกว่าภาครัฐ โรงงานต่างๆ เข้าไปตั้งอยู่ลึกๆ และห่างไกล กว่าจะรอกรมชลประทาน รอการประปาส่วนภูมิภาคต่อท่อน้ำเข้าไป กว่าจะรอผ่านเรื่องงบประมาณ ตรงนี้เอกชนจึงทำได้รวดเร็วกว่า แม้ว่ากรมชลประทานจะมีระบบท่อส่งน้ำเชื่อมโยงกันในพื้นที่ระยอง-ชลบุรี เป็นระยะทางนับ 100 กม. ก็ตาม แต่ยืนยันว่ามีปริมาณน้ำเพียงพออย่างแน่นอน
“เขาใหญ่-ปราจีนบุรี” มีศักยภาพน้ำต้นทุนสูงมากในอนาคต
เนื่องจากกรมชลประทานมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำใน จ.จันทบุรี อีก 2-3 โครงการ รวมความจุกว่า 200 ล้าน ลบ.ม. และอ้างเก็บน้ำขนาด 20-40 ล้าน ลบ.ม. อีกหลายอ่างกระจายอยู่ในพื้นที่ระยอง จันทบุรี และฉะเชิงเทรา ถ้าอ่างเก็บน้ำในจันทบุรีแล้วเสร็จ จะทำระบบท่อส่งน้ำเชื่อมมาที่ระยองด้วย เพื่อเสริมความมั่นคงการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในพื้นที่ระยองต่อไป
“ส่วนในอนาคตอีก 5-10 ปี ถ้าภาคตะวันออกมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น ก็ต้องเป็นเรื่องในระดับกรม และกระทรวงที่จะต้องหาน้ำดิบต้นทุนจากแหล่งใหม่ๆเข้ามา ซึ่งหลายคนมองไปยังบริเวณพื้นที่ติดเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี มีศักยภาพของน้ำต้นทุนสูงมาก เพราะแถบนั้นยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ โดยมีหลายโครงการที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้กันไว้ รวมๆกันหลายร้อยล้านลบ.ม. แต่ยังติดปัญหาว่าเป็นพื้นที่ของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่” นายทินกร กล่าว