ไทม์ไลน์รัฐบาล “เศรษฐา 1” การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คาดว่าคงจะเป็น 8 ก.ย. หรือ 11 ก.ย. เสร็จจากนั้นฝ่ายบริหาร คงสามารถ เข้าบริหารประเทศ ได้อย่างเป็นทางการ เชื่อว่าหลายภาคส่วนในสังคม คงอยากได้ยินแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ของรัฐบาล จะมีแนวทางเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน

แม้รัฐบาลภายใต้การนำของ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมี “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นรัฐบาลผสม ที่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล 11 พรรค ประกอบด้วย สส. รวมกัน 314 คน จาก สส. ทั้งหมด 500 คนของสภาผู้แทนราษฎร หากดูตัวเลขจำนวน สส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องบอกว่า มีเสถียรภาพ มากเลยทีเดียว สามารถบริหารประเทศได้อย่างมั่นคง ฝ่ายค้านคงไม่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้แน่

อาจเป็นรูปภาพของ 9 คน และ ข้อความ

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาล ก็เปิดเผยจุดอ่อน ให้พรรคฝ่ายค้านที่มี “ก้าวไกล” เป็นแกนนำได้เห็น หลังเสนอให้นับองค์ประชุม ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับ ญัตติความเดือดร้อนของเกษตรกร กลับพบมีผู้เข้าร่วมสภาเพียง 96 คน จากการตรวจสอบ ทุกพรรคร่วมรัฐบาล ขาดประชุมเกินครึ่ง ซึ่งเรื่องนี้คงตำหนิพรรคก้าวไกลไม่ได้ เพราะหน้าที่ในการดูแลองค์ประชุม เป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล

ซึ่งการเสนอให้นับองค์ประชุม ในช่วงแรกของการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ พรรคร่วมรัฐบาลได้รับรู้ การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารคงเป็นไปด้วยความเข้มข้น และเอาจริงเอาจัง อีกทั้ง “ก้าวไกล” ก็เคยโชว์ประสิทธิภาพ ในการตรวจสอบการทำงานของ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้ว ยิ่งครั้งนี้ได้เสียง สส.มากที่สุด ในการเลือกตั้ง แต่ต้องมาทำหน้าที่ฝ่ายค้าน คงระบายแค้นและโชว์ผลงานอย่างเต็มที่

อย่าลืมแม้ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีรากฐานมาจาก “พลังประชาชน” และ “ไทยรักไทย” จะได้รับการยกย่องว่า มีความสามารถในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ แต่ในอดีตที่ผ่านก็ต้องล้มไป เพราะ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ก่อนหน้านั้นในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถูกตรวจสอบเรื่องทุจริตจาก โครงการรับจำนำข้าว จนนำมาสู่คำพิพากษาจำคุกอดีตรัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูงและภาคเอกชนหลายคน

แม้กระทั่ง “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ก็ต้องกลายสภาพเป็น ผู้ต้องหาหลบหนีคดี หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ความเสียหายของโครงการ สูงถึง 7 แสนล้านบาท กลายเป็นหนึ่งในโครงการที่สร้างความเสียมากที่สุด เมื่อเทียบกับนโยบายอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองสังกัด พรรคไทยรักไทย ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพจากนโยบายตระกูลเอื้อ ที่ต้องเดินเข้าคุกไปเมื่อไม่นานมานี้คือ “นายวัฒนา เมืองสุข” อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลังได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการบ้านเอื้ออาทร แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา ทั้งเรื่องจัดหาที่ดินและการประมูลหาบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

แม้กระทั่งผู้นำด้านจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่เพิ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ เหลือถูกจำคุก 1 ปี หลังออกมายอมรับได้กระทำผิดจริง จากคดีที่เกี่ยวข้อง กับการทุจริต ก็เคยถูกโจมตีเรื่องบริหาร ในสมัยที่ตนเองมีอำนาจ ว่ามีความไม่โปร่งใส หรือกระทั่งเข้าไปสั่งการ หรือแทรกแซง เวลาเครือข่ายของตนเองมีอำนาจในการบริหาร

ดังนั้นการกลับมามีอำนาจ หลังจากตกเป็น ฝ่ายค้านมา 9 ปีเต็ม “พรรคเพื่อไทย” ย่อมถูกจับตามองมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะการยึดครอง “กระทรวงคมนาคม” ที่มีอภิมหาโปรเจกต์หลายโครงการ พรรคแกนนำรัฐบาลถึงกับทิ้ง “กระทรวงมหาดไทย” ไม่ยอมให้ตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาล เข้ามา เป็นรัฐมนตรีช่วย ซึ่งแตกต่างจากกระทรวงอื่น ๆ ที่มีตัวแทนจากหลายพรรคคละเคล้ากันไป

จากนี้ไปคงต้องรอฟังวันแถลงนโยบาย “นายเศรษฐา”จะสร้างความมั่นใจ ให้คนไทยเชื่อได้อย่างไร จะไม่ปล่อยให้เรื่องเลวร้ายในอดีตย้อนกลับมาทำลายรัฐบาลที่ตนเองดูแล อย่าลืมหัวหน้ารัฐบาล ต้องรับผิดชอบ ในทุกเรื่อง ยิ่งถ้าหากมีเรื่องทุจริตเกิดขึ้น ต่อให้เป็นรัฐบาลพิเศษ สังคมไทยก็ไม่ปล่อย ให้ลอยหน้าลอยตา อยู่ได้

———————–
เขื่อนขันธ์