รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศครั้งแรก เมื่อปลายปี 2564 ว่าจะระบาย “น้ำบำบัด” ปริมาณมากกว่า 1.3 ล้านตัน ออกจากอ่างเก็บ 1,020 แห่ง ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ภายในฤดูร้อนของปี 2566 โดยจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และจะมีการจ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสม ให้แก่ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีการประเมินแล้วว่า จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำบำบัดทั้งหมดเทียบเท่าสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกมากกว่า 500 สระ บริษัทไฟฟ้าโตเกียว ( เทปโก ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ยืนยันว่า กระบวนการปล่อยน้ำ “มีความจำเป็นอย่างยิ่ง” เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกระบวนการรื้อถอนโครงสร้างของโรงไฟฟ้า ที่จะต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนยังคงมีความกังวลว่า อ่างเก็บน้ำเหล่านี้อาจได้รับความเสียหาย หากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงอีกในอนาคต
เทปโกเริ่มการปล่อยน้ำบำบัดชุดแรก ออกจากอ่างเก็บของโรงไฟฟ้า ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึางการดำเนินการระบายน้ำบำบัดลงสู่ทะเลรอบนี้ ถือเป็น “เฟสแรก” ซึ่งจะดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือนมี.ค. 2567 ส่วนขั้นตอนการระบายน้ำบำบัดอีก 3 เฟส เพื่อให้ครบปริมาณน้ำมากกว่า 1.3 ล้านตัน อาจใช้เวลานานถึง 30 ปี
การดำเนินงานดังกล่าวของเทปโกเกิดขึ้น หลังสำนักงานตรวจสอบนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น มอบใบรับรองคุณภาพและความปลอดภัยของอุปกรณ์ระบายน้ำบำบัด ออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ให้แก่เทปโก เมื่อเดือนที่แล้ว ส่วนทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( ไอเออีเอ ) ยืนยันแผนการปล่อยน้ำบำบัดของญี่ปุ่น “เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ” และ “จะมีผลกระทบด้านรังสีวิทยาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
ขณะที่เทปโกยืนยันการใช้เครื่องบำบัดน้ำ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อคัดแยกกัมมันตรังสีจนเหลือเพียง “ทริเทียม” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงยืนยันว่า ต้องเป็นการบริโภค “ปริมาณมหาศาล” จึงจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
นอกจากนี้ เทปโกเปิดเผยผลการวิเคราะห์ของตัวเอง ในสัปดาห์แรกของการระบายน้ำบำบัด ว่าน้ำในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามีระดับกัมมันตภาพรังสีต่ำกว่า 1,500 เบคเคอเรลต่อลิตร อนึ่ง องค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของปริมาณกัมมันตรังสีในน้ำดื่มไว้ที่ 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร และปริมาณสารทริเทียมในน้ำไม่ควรเกิน 60,000 เบคเคอเรลต่อลิตร
สำหรับหน่วยวัดกัมมันตรังสีคือ “เบคเคอเรล” หรือ “บีคิว” ( Bq ) โดยดับเบิลยูเอชโอกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของปริมาณกัมมันตรังสีในน้ำดื่มไว้ที่ 10,000 บีคิวต่อลิตร ในส่วนของทริเทียมไม่ควรเกิน 60,000 บีคิวต่อลิตร
สำหรับการระบายน้ำเสียออกจากโรงไฟฟ้าฟุกชิมะ จะมีระดับกัมมันตรังสีอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านเบคเคอเรลต่อปี หรือเท่ากับ 1,500 บีคิวต่อลิตรเท่านั้น ตามการยืนยันโดยรัฐบาลญี่ปุ่นและเทปโก ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งบนโลกระบายน้ำเสียปนเปื้อนทริเทียมอยู่ตลอด รัฐบาลญี่ปุ่นขอยืนยันว่า ปริมาณน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะถือว่า “ต่ำมาก” เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อีกหลายแห่งบนโลก
อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นจีนและเกาหลีใต้ ตลอดจนกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ตลอดจนองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ( พีไอเอฟ ) ซึ่งมีสมาชิก 17 ประเทศ รวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฟิจิ ยังคงคัดค้านแผนการระบายน้ำเสียดังกล่าวอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่า “จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง” ต่อแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและพื้นที่จับปลาในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่ง “ครึ่งหนึ่ง” ของประชากรทูน่าทั้งหมดบนโลกอาศัยอยู่ในทะเลบริเวณนี้
เมื่อว่ากันตามแนวทางทฤษฎี น้ำที่มีการบำบัดออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ มีปริมาณกัมมันตรังสี “ต่ำกว่าเกณฑ์มากถึงมากที่สุด” เท่ากับว่า การบริโภคอุปโภคน้ำจากทะเลบริเวณนี้ จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ยังคงต้องมีการจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในระยะยาว ทว่าหากมองในมุมทางจิตวิทยา ความกังวลของประชาชนเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์กับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ วิถีชีวิตและแนวคิดของผู้คนทั่วไป เกี่ยวกับวิกฤติที่เกิดขึ้น แม้มีมุมมองแตกต่างกัน “แต่ยากที่จะกลับมาเหมือนเดิม”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP