ความเสี่ยงนี้ย้ำว่าได้ไม่คุ้มเสีย(อนาคต) โดยเฉพาะปัจจุบันมีกฎหมายเอาผิด“บัญชีม้าซิมม้า” ไปจนถึงการโฆษณาซื้อขายชัดเจน อย่าง...มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ..2566

ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนพูดคุยข้อกฎหมายใหม่ เพื่อให้ทั้งประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อรู้สิทธิ และผู้ที่คิดหลงไปเป็นบัญชีม้าเห็นภาพโทษทัณฑ์

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน(สคช.) และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า กฎหมายดังกล่าวออกมาเพื่อ“คุ้มครอง”ป้องกันประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ และเป็นมาตรการ“ลงโทษ”คนกระทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพราะอย่างที่รู้กันว่าปัจจุบันแก็งคอลเซ็นเตอร์พัฒนารูปแบบหลากหลายทั้งโทรศัพท์ลวงเหยื่อ ส่งลิงก์ต่างๆดูดข้อมูลและเงินในบัญชี ไปจนถึงแฮกสื่อสังคมออนไลน์แล้วไปหลอกคนใกล้ชิด

แม้กระทั่งข้าราชการระดับสูง นักกีฬาชื่อดัง คนในวงการ หรือสื่อมวลชนเองก็ยังตกเป็นเหยื่อ สูญเงินจำนวนมาก ทั้งที่แทบทุกคนรู้ว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีอยู่จริง แต่ก็ยังโดนหลอก

พร้อมแนะในส่วนของประชาชนตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนถูกมิจฉาชีพหลอก อันดับแรกไม่ใช่การแจ้งตำรวจ แต่ให้โทรศัพท์หาธนาคารเจ้าของบัญชีทันทีที่โดนมิจฉาชีพหลอก โดยติดต่อศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคาร เพื่อระงับบัญชีได้ทันทีตลอดและตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นค่อยติดต่อแจ้งความกับตำรวจ ซึ่งมีทั้งช่องทางออนไลน์และที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน

นายโกศลวัฒน์ ระบุ เคยมีกรณีตัวอย่าง ทราบจากทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกเงิน 2 ล้านบาท แล้วรีบระงับกับทางธนาคาร แม้เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีม้าไปแล้วถึง 3ทอด แต่เมื่อแจ้งเรื่องธนาคารรีบดำเนินการ อายัดเงินไว้ได้ทัน 1.6ล้านบาท อีก4 แสนมีการถ่ายโอนไปยังบัญชีม้านอกประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่ามีสิทธิได้เงินคืน แค่จำไว้ว่าต้องรีบแจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีทันที ที่รู้ตัวว่าถูกหลอก

ส่วนมิติการลงโทษ กฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษหนักกับผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า ซิมม้า โดยมีโทษหนักถึงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นอัยการได้รับสำนวนคดีลักษณะนี้จำนวนมาก ดำเนินคดีแทบทุกวัน

ตนแจ้งได้เลยว่าทางอัยการจะไม่ละเว้นแล้วดำเนินการอย่างจริงจัง ลงโทษกับบัญชีม้าทุกกรรม หากมีการนำไปหลอกคนอื่น100 ครั้ง ก็เป็น 100 กรรมความผิด ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่าได้ส่วนแบ่ง(ค่าคอมมิชชั่น)จะถูกดำเนินคดีฐานเป็นตัวการร่วมทุกกรรม ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงหลอกลวงประชาชน บวกกับรับเปิดบัญชีม้า”

ดังนั้น ย้ำว่าจะถูกแจ้งความผิดและลงโทษมากกว่าแก็งคอลเซ็นเตอร์ที่จะถูกเอาผิดแค่หลอกลวงฉ้อโกงประชาชน

นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อว่า กฎหมายยังมีบทลงโทษผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนหมายเลขโทรศัพท์ โดยมีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ฝากถึงประชาชนว่าทุกวันนี้ต้องเริ่มมีสติให้มากขึ้น เพราะระดับผู้ประกาศข่าว แพทย์ อัยการ ตำรวจ ก็ยังพลาดพลั้งกับมิจฉาชีพ เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์เปลี่ยนวิธีอยู่เสมอ หาเรื่องใหม่ทันสมัยมาหลอกลวงตลอดเวลา อย่าหลงเชื่อว่าการเปิดบัญชีม้า-ซิมม้า โทษน้อยอีกต่อไป

ใครก็ตามที่เคยรับเปิดบัญชีดังกล่าวรีบไปปิดทันที เพราะพวกม้าจะทุกข์แบบตายคาที่ โทษที่จะได้รับนั้นอาจหนักกว่า “ตัวการ”หลอกลวงเสียอีก อย่าลืมว่าผู้เสียหายสามารถแจ้งความทั่วประเทศ แค่เดินทางไปแก้คดีทั่วประเทศที่ถูกแจ้งความ ก็เหนื่อยจนตายได้แล้ว”

นายโกศลวัฒน์ ยังแสดงความเป็นห่วงว่าแม้จะทำให้สูญเงินมหาศาล แต่ยังไม่มีค่าเท่ากับชีวิตคน ที่ส่วนมากถูกหลอกเงินเก็บมาทั้งชีวิต เงินที่ต้องไปใช้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่รอดในชีวิตประจำวัน ในบั้นปลายคนเกษียณ ดังนั้น มองว่าถึงเวลาแล้วที่การหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือแก็งคอลเซ็นเตอร์ จะถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกคนต้องร่วมกันป้องกัน ไม่ให้เศรษฐกิจของชาติเสียหาย ไม่ให้คนที่ทำงานมาทั้งชีวิตต้องสูญเงินไปกับการหลอกลวงฉ้อโกง และมาตรการป้องกันการโอนเงินออกนอกประเทศ

สำหรับผู้ที่ไร้ทางออก วอนว่าอย่าคิดสั้นเพราะยังมีช่องทางออก เช่น สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนทั่วประเทศกว่า 130 สาขา สามารถให้คำปรึกษาและเป็นที่พึ่งสุดท้ายได้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]