นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคต้อหิน เป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของโลก ที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวร เป็นโรคที่มีความเสื่อมของเส้นประสาทตา และมีการสูญเสียสายตาที่มีลักษณะค่อนข้างเฉพาะตัว
โดยต้อหินสัมพันธ์กับความดันตาสูง เมื่อผู้ป่วยมีความดันตาสูง ลูกตาจะแข็ง มีลักษณะเหมือนเป็นลูกหิน คนไทยเรียกว่า ต้อหิน โดยค่าเฉลี่ยความดันลูกตาอยู่ที่ประมาณ 13-14 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้น หากมีค่าความดันตา 21 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่าก็ถือว่าผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยที่มีความดันตาที่ไม่สูง ก็สามารถเป็นโรคต้อหินได้เช่นกัน
“ความดันลูกตาที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการทำให้เกิดโรคต้อหิน เมื่อเป็นมากๆ หากไม่ทำการรักษา หรือตรวจพบแล้ว แต่ทำการรักษาไม่ต่อเนื่องควบคุมโรคไม่ดีจะสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด”
สำหรับอาการของโรคต้อหินจะมี 2 แบบ แบบใหญ่ ๆ คือ ต้อหินมุมเปิดและมุมปิด หากเป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดตา ตา แดง ตามัวแบบฉับพลันทันที ในบางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดหัวร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก กลุ่มที่พบมากมักเป็นต้อหินเรื้อรัง
ต้อหินมุมเปิด หรือมุมปิดเรื้อรัง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดตา แต่ระยะยาวจะมีตามัว ลานสายตาที่แคบลง ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ เมื่อมีอาการมัวมากๆ แล้ว ซึ่งเรียกต้อหินประเภทนี้ว่า ภัยเงียบ เพราะผู้ป่วยมาหาระยะท้ายของโรค การรักษาไม่สามารถทำให้ลานสายตากลับมาปกติได้
“การรักษาต้อหิน ที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐาน คือการลดความดันลูกตา 3 วิธี คือ การใช้ยาหยอดตา และรับประทานยาในการรักษา การใช้เลเซอร์ ชนิดที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วยว่าเป็นในรูปแบบใด และวิธีการผ่าตัด ซึ่งจะมุ่งเน้นสร้างทางระบายน้ำออกจากลูกตาเพื่อลดความดันตา”
การตรวจพบโรคในระยะแรกจะช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง โรคต้อหิน เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน ผู้ที่มีประวัติความดันตาสูง ใช้ยาสเตียรอยด์ มีอุบัติเหตุทางตามาก่อน มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เป็นต้น.