ผู้ชายตีเหล็กผู้หญิงทอผ้าคือวิถีของชาวไทยพวน ซึ่งปัจจุบันการตีเหล็กนั้นได้สูญหายไปแล้ว แต่การทอผ้าตีนจก ที่เป็นภูมิปัญญาโบราณและสะท้อนถึงวัฒนธรรมชาวไทยพวน ยังคงอยู่ จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ และอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมนี้ให้คงอยู่ตลอดไป…“ เป็นเสียงอันมุ่งมั่นของ สุนทรี วิชิตนาค” ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าตีนจก ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ครูภูมิปัญญาไทย ซึ่งอุทิศตนให้กับการ อนุรักษ์สืบสานการทอ “ผ้าตีนจก” มาเกือบทั้งชีวิต เพื่อจะรักษาภูมิปัญญาของชาวไทยพวนให้คงอยู่ โดยนอกจากผ้าทอตีนจกจะเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยพวนแล้ว ในมุมมองของ ครูสุนทรี ผ้าตีนจกทุกผืนล้วนมีเรื่องเล่า-มีชีวิต ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาทุกคนล้อมวงฟังเรื่องราวเหล่านี้กัน…

ครูสุนทรี วิชิตนาค

“ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสได้พบกับ “ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน” ท่านนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ จากการได้รับคำเชิญจากทาง KTC World Travel Service และหมวดท่องเที่ยวสายการบิน ของ “เคทีซี” หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่จับมือกับบางกอกแอร์เวย์ส, เซเรนนาต้า โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ป, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย และ อพท. หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ในการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวใหม่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย ภายใต้ชื่อโครงการ “บิน เที่ยวสุโข โลว์คาร์บอนฯ 3 วัน 2 คืน” ซึ่งเป็นการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่สำคัญในวันนี้ โดยนอกจากจะได้เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่น่าสนใจของ จ.สุโขทัย แล้ว ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ก็ยังมีโอกาสได้พบกับ “ครูสุนทรี วิชิตนาค” ที่แม้จะอยู่ในวัย 87 ปีแล้ว แต่ยังกระฉับกระเฉงและแข็งแรง ซึ่งท่านรับหน้าที่พาคณะของเราเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านการทอผ้าไทยพวน และให้ความรู้กับพวกเราอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย

ตอนนี้แม้จะไม่ได้ลงมือทอผ้าเองแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่สอน และให้ความรู้กับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ที่สนใจในวิถีการทอผ้าตีนจกไทยพวน ครูสุนทรีบอกกับเราเรื่องนี้

ทำ “เฮ้าน้ำข้าวฝ้าย”

สำหรับประวัติและความเป็นมาของผ้าทอโบราณนี้ ครูสุนทรี ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ตั้งแต่อดีต หรือราว พ.ศ. 2370 เป็นพื้นที่ตั้งรกรากของ “ชาวไทยพวน” ที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง โดยอาชีพหลักของชาวไทยพวนคือการทำนา แต่พอว่างเว้นจากฤดูทำนา ผู้ชายก็จะทำการตีเหล็ก ขณะที่ผู้หญิงนั้นก็จะทอผ้า ซึ่ง ผ้าตีนจกบ้านหาดเสี้ยว นั้นจึงเป็นผ้าทอพื้นบ้านที่เป็นหลักฐานของการดำรงอยู่ของคนไทยพวน และสำหรับครูสุนทรีนั้น ก็ผูกพันกับผ้าตีนจกมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยศาสตร์การทอผ้าตีนจกของครูนั้นได้รับการสืบทอดต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น คือจากรุ่นคุณยายมาสู่รุ่นคุณแม่ และก็ถ่ายทอดส่งต่อมาถึงรุ่นครูสุนทรีที่เป็นลูกสาว โดยครูบอกว่า เริ่มทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งตอนเรียนชั้นประถมนั้นก็เริ่มหัดทอผ้าแล้ว โดยสมัยก่อนเมื่อทอผ้าได้ หากไม่ได้เป็นการทอไว้ใช้งานเอง ก็จะนำไปขายตามงานวัด

ขั้นตอน “สืบหุ”

ครูศิลป์แห่งแผ่นดินท่านเดิมยังเล่าให้ฟังว่า ในอดีตคนจะไม่ได้เรียกผ้าตีนจก จะเรียกว่า ผ้าหาดเสี้ยว และในตอนหลังทางจังหวัดได้โปรโมตผ้าหาดเสี้ยวให้เป็น ผ้าประจำ จ.สุโขทัย และนำชื่อผ้าใส่ไว้ใน คำขวัญจังหวัด ทำให้คนรู้จักชื่อเสียงผ้าหาดเสี้ยวมากขึ้น ซึ่งสำหรับ เอกลักษณ์เฉพาะตัว ของผ้าตีนจกบ้านหาดเสี้ยว ครูสุนทรีบอกว่า ผ้าตีนจกที่นี่จะมีเทคนิควิธีทอตามแบบภูมิปัญญาเก่าแก่ชาวไทยพวนซึ่ง ใช้เทคนิคทอลวดลายด้วยขนเม่นทำการจกเส้นด้ายสีต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดลวดลาย ก่อนนำไปทำเป็น เชิงซิ่น หรือผ้าถุง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำเรียก ซิ่นตีนจกนั่นเอง

การ “ปั่นหลอด”

ผ้าผืนหนึ่งเกิดจากชีวิต และมีจิตวิญญาณคนทอผ้าอยู่ในผืนผ้า ซึ่งผ้าลายจกแต่ละผืนใช้เวลาทอนานนับเดือน เพราะต้องผ่านกรรมวิธีอันละเอียดลออหลายขั้นตอน ดังนั้นคนที่ทอผ้านั้นจะรักผ้าที่ทอของตนเองมาก ๆ ซึ่งในยุคแรก ๆ จะทำแค่ลายเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาลวดลายเพิ่มขึ้น เช่น มีการใส่ลายทั้ง 9 ลายเอาไว้ในผ้าผืนเดียว ส่งผลทำให้ผ้าทอนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ครูสุนทรีเล่าถึง พัฒนาการผ้าหาดเสี้ยวของชาวไทยพวนให้ฟัง

จากภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในสายตระกูล หรือในครอบครัวของตนเองเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ วิถีทอผ้าหาดเสี้ยวได้เริ่มมีการถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ ๆ ภายนอกที่สนใจอยากเรียนรู้และฝึกหัดการทอผ้าเพิ่มขึ้น จนเป็นที่มาในการก่อตั้ง  ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านการทอผ้าไทยพวน ที่เกิดจากความตั้งใจของ ครูสุนทรี ที่ต้องการส่งต่อความรู้เรื่องนี้ และต้องการอนุรักษ์สืบสานไม่ให้ภูมิปัญญาของชาวไทยพวนสูญหายไป โดยที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเปิดสอนการทอผ้าให้กับนักเรียนของโรงเรียนประจำอำเภอในทุก ๆ ภาคการศึกษา และสอนให้บุคคลทั่วไปที่สนใจด้วย

“มืด-รวีวรรณ” ให้ความรู้กับเด็ก ๆ

ลูกทั้ง 4 คนของครู ก็ทอผ้าเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเราสอนเขาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แต่ต่อมาครูก็คิดขึ้นมาว่า ครูอยากนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปสู่วงที่กว้างมากขึ้น เช่น เด็กรุ่นใหม่ เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผ้าทอไทยพวนไว้ ซึ่งถ้าทำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงคุณค่าของวิถีนี้ได้ ครูก็เชื่อว่าไม่เพียงวิถีผ้าทอนี้จะไม่สูญหาย แต่ยังจะเกิดการต่อยอดพัฒนาไปไกลได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วยครูศิลป์แห่งแผ่นดินกล่าวถึง ความฝันและเป้าหมาย

ครูสุนทรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้ ด้วยอายุที่มากขึ้น สายตาก็เริ่มไม่ดีเหมือนแต่ก่อน จึงไม่ได้ลงมือทอผ้าด้วยตัวเองอีกแล้ว แต่ก็รู้สึกดีใจและมีความสุขทุกครั้งที่ได้สอนคนรุ่นใหม่ ๆ หรือคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การทอผ้า โดยตอนนี้ หน้าที่หลัก ๆ ก็ได้มอบหมายให้กับลูกสาว คือมืดรวีวรรณ ขนาดนิดที่เป็นอีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงของศูนย์ฯ แห่งนี้

นักท่องเที่ยวสนุกกับการทดลองทอผ้า

ทั้งนี้ กับผู้ที่มารับไม้ต่อในภารกิจนี้ ทาง มืด-รวีวรรณ เล่าให้ฟังว่า คุณแม่สอนการทอผ้าให้ตั้งแต่ตอนที่เธออายุได้ 10 ขวบ ซึ่งยอมรับว่า ในวัยเด็กนั้นเธอไม่ได้ชอบการทอผ้าเลย แต่ด้วยความที่อยู่กับวิถีตรงนี้ และได้เห็นคุณแม่ของเธอทอผ้าทุก ๆ วันมาตั้งแต่จำความได้ จึงค่อย ๆ ซึมซับเข้ามาในตัวทีละนิด โดยพี่น้องทุกคนก็ทอผ้าเป็นกันหมด แต่ลูก ๆ ทุกคนหลังจากเรียนจบแล้วก็ไม่มีใครมารับช่วงต่อจากคุณแม่เลย เพราะทุกคนต่างก็มีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ ขณะที่ตัวเธอเองก็ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ จนวันหนึ่งเมื่อเธอแต่งงานและมีลูก ปรากฏว่าทั้งเธอและสามีแทบไม่มีเวลาเลี้ยงลูก และด้วยความที่ไม่อยากฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยง เธอและสามีก็เลยคุยกันว่าน่าจะกลับมาอยู่บ้าน และมาสานต่อการทอผ้าจากคุณแม่ ซึ่งจะทำให้เธอได้มาดูแลคุณแม่ด้วย และก็ได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ซึ่งถึงปัจจุบันเธอเข้ามารับช่วงต่อได้กว่า 20 ปีแล้ว

…และนี่ก็เป็นเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งของ ผ้าตีนจกหาดเสี้ยว อีกหนึ่ง “ของดี จ.สุโขทัย” ที่ไม่เพียงจะมีลวดลายและเทคนิคการทอผ้าที่วิจิตรประณีตเท่านั้น หากแต่ผ้าทอหนึ่งผืนยังเต็มไปด้วย วิถีชีวิตจิตวิญญาณ ของ คนไทยพวน ที่สะท้อนถึงวิถีดั้งเดิมอันมีเอกลักษณ์ ที่ขณะนี้มี “ครูสุนทรี วิชิตนาค” เป็นแกนหลักในการอนุรักษ์สืบสานวิถีผ้าทอดังกล่าว ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น…

เพื่อที่จะรักษามรดกวัฒนธรรมนี้ไว้.

‘ลวดลายผ้า’ ผูกโยง ‘ความเชื่อ’

การ “สร้างสรรค์ผ้าตีนจก” นอกจากขั้นตอนการทอแล้วยังมีขั้นตอนอื่น ๆ อาทิ ทำ “เฮ้าน้ำข้าวฝ้าย” ให้เส้นด้ายเหนียวไม่ขาดง่าย, การ “ปั่นหลอด” เตรียมเส้นด้ายพุ่งไว้สำหรับทอ รวมถึงขั้นตอน “สืบหุ” เพื่อต่อเส้นด้ายยืนเก่ากับยืนใหม่ ส่วน ’ลายผ้าตีนจกบ้านหาดเสี้ยว“ นั้น ทาง “ครูสุนทรี วิชิตนาค” ครูภูมิปัญญาไทยและครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าตีนจก อธิบายให้ฟังว่า ลายผ้าตีนจกของบ้านหาดเสี้ยวนั้น จะแบ่งเป็น “ลายหลัก” จำนวน 9 ลาย ได้แก่ ลายสี่ขอ, ลายแปดขอ, ลายเครือน้อย, ลายเครือกลาง, ลายเครือใหญ่, ลายน้ำอ่าง, ลายสิบสองหน่วยตัด, ลายมนสิบหก และลายสองท้อง นอกจากนี้ก็ยังมี “ลายประกอบ” อีกจำนวน 10 ลาย คือ ลายพันคิง, ลายนกคุ้ม, ลายนกคาบ, ลายนกหมู่, ลายดอกหมี่, ลายผีเสื้อ, ลายฟันปลา, ลายสร้อยพร้าว, ลายขอเครือ และลายสร้อยสา โดยนอกจากความสวยงามแล้ว ’ลวดลายบนผ้า“ ก็ยัง ’มีความหมาย“อีกด้วย อาทิ “ลายนกคุ้ม” หมายถึงคุ้มเหย้าคุ้มเรือน คุ้มเงินคุ้มทอง, “ลายนกคาบ” หมายถึงคาบเงินคาบทอง, “ลายสร้อยสา” จะหมายถึงเพียบพร้อมบริวาร, “ลายดอกหมี่” เป็นลวดลายที่จำลองมาจากไม้มงคล เป็นต้น ’และที่สำคัญ ถ้าหากมีการนำลายทั้งหมดมาสานต่อไว้ในผ้าซิ่นหนึ่งผืน ก็จะมีความเชื่อว่า…จะช่วยต่ออายุยืนยาวให้เจ้าของผ้าผืนนั้น“.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน