ทั้งนี้ ทักษิณ ชินวัตร บุคคลที่การเมืองไทยไม่เคยก้าวพ้นมาราว 2 ทศวรรษ ตอนนี้ก็กลับไทยมาเข้ากระบวนการทางคดีต่าง ๆ แล้ว และผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดผ่านมาเกิน 3 เดือน ตอนนี้ก็มีแล้ว คือ เศรษฐา ทวีสิน อีกทั้งยังเกิดสถานการณ์กรณี รัฐบาลสลายขั้ว ซึ่งหลายฝ่ายก็ รอดูว่าจากนี้การเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยจะไปต่อได้เสียทีหรือไม่?? …อย่างไรก็ตาม กับการรอดูนี้…

ก็อาจต้องดู “วาทกรรมการเมือง” ด้วย

เพราะเรื่องนี้ “ที่ผ่านมาก็ส่งผลไม่น้อย”

โดยทางวิชาการก็มีการ “วิเคราะห์” ไว้…

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลจากบทความที่เผยแพร่ไว้ทาง วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 มกราคม-มิถุนายน 2563 บทความชื่อ “การวิเคราะห์วาทกรรมการสร้างความเป็นอื่นคือศัตรู…ในการสื่อสารความเชื่อทางการเมืองในสื่อเครือข่ายสังคมสาธารณะ” โดย อ.ศรีรัช ลอยสมุทร นักวิชาการ ภาควิชาสื่อสารการตลาดดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งได้ระบุถึงวัตถุประสงค์การศึกษาเรื่องนี้ไว้ว่า…เพื่อศึกษาความเชื่อและจุดยืนทางการเมืองของประชาชนในสังคมไทย ที่มีความแตกต่าง และ มีการแบ่งข้างกัน จนเกิดการ…

“ประดิษฐ์-แปลงคำ” เพื่อ“ใช้เรียกขาน”

“ฝั่งตรงข้าม” ที่ถูก “แบ่งขั้วเป็นคนอื่น”

พลิกดูการศึกษาและจัดทำบทความเรื่องนี้ไว้โดยนักวิชาการท่านดังกล่าว… ได้มีการจำแนก “วาทกรรมการเมือง” ที่สำรวจพบ โดยเฉพาะคำเรียกฝั่งขั้วตรงข้ามที่แสดงความเป็นคนอื่น-ความเป็นศัตรู โดยระบุไว้ว่า…มี “16 วิธี” ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้…

1.การสร้างคำเรียกขานและติดป้าย เป็นวิธีสร้างคำใหม่ หรือนำคำเดิมมาทำให้มีความหมายที่ถูกสร้างใหม่เพื่อการใช้เรียกขานอีกกลุ่มหนึ่งหรืออีกฝั่งหนึ่ง เพื่อใช้สร้างวาทกรรมเรียกฝั่งตรงข้ามในเชิงเหยียดหยันด้านความไม่ฉลาดในตัวเลือกทางการเมือง ของอีกฝั่งหนึ่ง 2.การอ้างอิงชื่อจากการกระทำที่ผ่านมา เป็นคำที่ใช้เรียกขานกลุ่มเช่นกัน แต่มีความชัดเจนในจุดยืนทางการเมือง หรือเป็นคำเรียกที่แสดงความชัดเจนในการเลือกข้างมากกว่า เพื่อใช้เสียดสีเยาะเย้ยผู้ที่เข้าร่วมกลุ่มประท้วง และ ใช้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยมักจะพบในคอมเมนต์เป็นส่วนใหญ่

3.การเรียกชื่อจากสีสัญลักษณ์ ใช้สีและเรียกชื่อด้วยสี เพื่อแสดงออกถึงความเป็นอื่นอย่างชัดเจน โดยที่การเรียกชื่อด้วยสีสัญลักษณ์ไม่ได้แสดงแค่ความนิยมชื่นชอบพรรคการเมืองหรือบุคคลทางการเมือง แต่แสดงถึงจุดยืน อุดมการณ์ ความเชื่อขั้นสูงสุดของแต่ละฝั่งฝ่ายด้วย4.การใช้คำด่าเปรียบเปรยที่แสดงถึงความล้าหลัง-ไม่ฉลาด เป็นการแสดงออกถึงความเป็นอื่น และ เพื่อบ่งบอกการเป็นศัตรูอย่างชัดเจนที่สุด ที่ถือเป็นกลุ่มคำที่มีเป้าหมายในการแสดงถึงความเป็นศัตรู

5.การสร้างกลุ่มคำใหม่ ที่อิงกับบริบทเดิม เพื่อเสียดสีและแสดงความเป็นอื่นอย่างชัดเจน และก็เป็นกลุ่มคำที่สร้างความเป็นศัตรูซึ่งกันและกันได้มากที่สุด6.การตั้งสมญานามที่แสดงคุณลักษณะเด่นของแต่ละฝ่าย ที่เป็นกลุ่มคำที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อแสดงถึงความชิงชังและความเป็นศัตรูกัน โดยเป็นอีกกลุ่มคำที่แสดงความเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน 7.การใช้คำที่แสดงความถดถอยด้านความรู้ วิธีนี้ เพื่อเปรียบเทียบอีกฝ่ายเป็นบุคคลที่ไม่มีวิสัยทัศน์ อยู่ในโลกแคบ ๆ หรือไม่เปิดกว้าง 8.การใช้คำเสียดสีที่แสดงความขัดแย้ง วิธีนี้ก็ เพื่อเสียดสีว่าไม่พัฒนา รัฐบาล-ประเทศ 9.การใช้คำวิเศษณ์ต่อท้ายคำที่แสดงจุดยืนทางการเมือง นี่ก็ เพื่อแสดงความเป็นอื่นอย่างชัดเจน ว่าอยู่กันคนละฝั่ง และทำให้อีกฝั่งคือความเลวร้าย

10.การใช้อุปลักษณ์ เพื่อสื่อถึงความเป็นคนล้าหลังทางความคิด แต่มีอำนาจยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงการอยู่คนละฝั่งความคิด-แสดงการดูแคลนเหยียดหยาม อีกฝั่ง 11.การพาดพิงรูปลักษณ์ทางกายของอีกฝั่ง เป็นการสร้างกลุ่มคำด้วยการนำความอัปลักษณ์-ข้อบกพร่องทางกายของฝ่ายตรงข้ามมาพาดพิง 12.การแปลงคำใหม่เพื่อเรียกขานอีกฝั่ง วิธีนี้ เพื่อโยงบริบทเดิมของคำให้เข้ากับจุดยืน และลักษณะเด่นทางการเมือง-การแสดงออกของอีกฝั่งฝ่าย 13.การตอกย้ำแนวคิดชนชั้น หรือใช้กลุ่มคำ เพื่อแสดงออกถึงความแตกต่าง ทางชนชั้น 14.การใช้คำหยาบเกี่ยวกับสัตว์-อวัยวะ ต่าง ๆ ซึ่งก็…

เป็นการใช้ “เพื่อโจมตีอีกฝ่าย” ที่คนละขั้ว

“แสดงความเกลียดชังอีกฝ่าย” โดยตรง…

ถัดมา…15.การใช้วลีที่แสดงความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน นี่เป็นวิธีแสดงจุดยืนทางการเมืองคนละฝั่งอย่างเด่นชัด ขณะเดียวกันก็ เพื่อโจมตีผู้อยู่อีกฝั่ง ที่ไม่เลือกการเปลี่ยนแปลง ด้วยคำที่แสดงการถดถอย และ 16.การสร้างความเป็นศัตรู โดยสร้างภาพจำ ใช้กลุ่มคำ เพื่อแสดงออกว่าหน่วยงานนั้น ๆ คือศัตรู ต่อประชาชน

เหล่านี้คือโดยสังเขปเกี่ยวกับ “16 วิธี…วาทกรรมการเมือง” ที่ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้มีการสะท้อนไว้จากการศึกษาวิเคราะห์วาทกรรมการเมืองในอดีต ทั้งนี้ อดีตถึงปัจจุบัน “วาทกรรมมีผลไม่น้อยกับการเกิดสถานการณ์” ต่าง ๆ…

ก็ต้อง “จับตาการเมืองไทยนับจากนี้”…

“วาทกรรม” จะ “ร้อน-แรง…อีกมั้ย??”.