ช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลใหม่ ผ่านพ้นมา 3 เดือนเต็ม ปัญหาการเมืองไทยยืดเยื้อมาราธอน ยังไม่ได้ รัฐบาลใหม่ อย่างเป็นทางการ วันอังคาร 22 ส.ค. 66 เพิ่งจะได้โหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3

สูตรจัดตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” โดยมี พรรคเพื่อไทย 141 เสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พร้อมเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และก็ต้องได้รับไฟเขียวนั่งเก้าอี้นายกฯ ไปเรียบร้อยด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นจากทั้ง สส. และ สว.สายลุงตู่ที่สนับสนุนกันพรึบพรับ นอกจากนี้ วันอังคาร 22 ส.ค. 66 ยังเป็นวันที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ขึ้นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมาลงสนามบินดอนเมือง เพื่อกลับมารับโทษในไทย หลังต้องระหกระเหินใช้ชีวิตโลดแล่นไปทั่วโลกนานกว่า 17 ปี

ประชาชนต่างเฝ้ารอ นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ที่จะนำพารัฐนาวาแทน พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังบริหารมานาน 9 ปี ที่สำคัญตอนนี้หลายเรื่องมองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะ ปัญหาปากท้องของประชาชน ประเทศไทยเปรียบเป็นอู่ข้าวอู่น้ำจึงมีผลผลิตการเกษตรส่งออกติดอันดับต้น ๆ ของโลก “ข้าวสาร” ส่งออกจากไทย กำลังเป็นที่ต้องการของนานาชาติ

ก่อนหน้านี้ต้นปี 2566 รัฐบาลเคยออกมาเปิดเผยถึง สถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย มี สัญญาณเชิงบวก เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 75.20% ผลพวงจาก ภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว อีกทั้งปริมาณผลผลิตข้าวไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มลดลง (ช่วงต้นปี 66 อินเดีย ส่งออกข้าวสารอันดับ 1 ของโลก 1.69 ล้านตัน, รองลงมา ไทย 1.39 ล้านตัน, เวียดนาม0.92 ล้านตัน, ปากีสถาน0.63 ล้านตัน) จึงคาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ 8 ล้านตัน

เมื่อสถานการณ์ราคาข้าวไทยมีปัจจัยบวก ราคาข้าวเปลือกทุกชนิด เริ่มปรับตัวสูงตาม ในขณะที่ อินเดียเวียดนาม ปัจจุบันอยู่ในปัจจัยลบ ทำให้ทั้ง 2 ประเทศเริ่มขยับมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพข้าวภายในประเทศ วางยุทธศาสตร์ รับมือปัญหาข้าวที่กำลังเกิดขึ้น “อินเดีย” ถึงขั้นระงับการส่งออกข้าว เมื่อช่วงก.ค.ที่ผ่านมา “เวียดนาม” ลดการส่งออกข้าว เพื่อรักษาอุปสงค์ของตลาดในประเทศ มองกันง่าย ๆ คือไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับราคาข้าวรวมถึงประชาชนตัวเอง!!

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้วิเคราะห์และประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ในไตรมาส 2 ของปี 2566 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 พบว่า ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงฤดูฝนของปี 2565 มีปริมาณฝนตกชุกจากสภาวะลานีญาและ ก.ย. 65 ยังมีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักและปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ ส่งผลให้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ข้าวนาปรัง ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนยังปลูกชดเชยข้าวนาปี ขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง

ยิ่งปัจจุบันความต้องการข้าวสารตลาดทั่วโลกยังมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากทั้งอินเดีย-เวียดนาม ปรับแผนการส่งออก ทำให้ ข้าวไทยมีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่ม รวมถึงราคาก็ขยับขึ้นด้วยเช่นกัน ตอนนี้ เกษตรกรไทยที่กำลังทยอยขายข้าวนาปี ต่างยิ้มแย้มเพราะข้าวได้ราคา เรียกว่าทั้งเกษตรกรบรรดา พ่อค้ารับซื้อข้าวเปลือก, เจ้าของโรงสี, พ่อค้าส่งออกน่าจะฟันกำไรกันถ้วนหน้า

แต่ผลพวงปัญหากำลังตามมา จู่ ๆ ทำไมขณะนี้ ทั้งราคา ’ข้าวเจ้าข้าวเหนียว“ เริ่มขยับจนชาวบ้านหลายจังหวัดกำลังออกมาโอดครวญ หนำซ้ำ ข้าวเปลือก บรรดาโรงสีต่างออกไปกว้านซื้อถึงบ้าน และคงจะเป็นเรื่องตลกร้ายถ้าประชาชนผู้บริโภคจะต้องมาซื้อ ข้าวแพง

หน่วยงานไหนใครจะเป็น “เจ้าภาพ” รับผิดชอบปัญหานี้ ต้องรีบลงไปตรวจสอบดูแลด่วน อย่าปล่อยให้บานปลาย จนกลายเป็น “วิกฤติข้าวแพง” ถ้ามัวแต่จะไปมุ่งเน้นเพิ่มปริมาณส่งออก แต่ลืมวางยุทธศาสตร์ให้คนในประเทศได้บริโภคเพียงพอในราคาปกติด้วย มิเช่นนั้น “พ่อค้าคนกลาง” คงจะได้ประโยชน์อยู่กลุ่มเดียว!!

————————-
เชิงผา