แม้การก่ออาชญากรรมของแกงค์คอลเซ็นเตอร์จะเกิดขึ้นมานาน แต่ความน่าสนใจคือ “ทำไมยังคงมีอยู่” แม้จะถูกปราบปรามต่อเนื่อง

ที่สำคัญคือ ยังเป็นอาชญากรรมที่ใช้หลอกลวงได้ผล เพราะหลายคนยังหลงเชื่อโอนเงินให้ หนึ่งปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่การ“ปรับตัว”ตามสมัย เพิ่มเทคนิคหลายชั้น ทำให้เหยื่อแม้จะรู้จักการหลอกลวงผ่านแกงค์คอลเซ็นเตอร์ แต่เมื่อเจอเผชิญ“สายเรียกเข้า”นี้จริงๆก็ยังมีโอกาสตกเป็นเหยื่อ

กรณีของผู้ประกาศชื่อดังสูญเงินให้แกงค์คอลเซ็นเตอร์ที่มาในรูปแบบอ้างชื่อหน่วยงานรัฐอย่าง กรมที่ดิน หยิบเรื่องภาษีที่ดินประจำปี และรู้ถึงข้อมูลส่วนตัวการเสียภาษีอย่างถูกต้อง และในเวลาไล่เลี่ยกันยังเกิดเหตุการณ์แกงค์คอลเซ็นเตอร์ใช้วิธีหลอกเรียกค่าไถ่ ถึงขั้นให้เหยื่อไปเช่าห้องพักจัดฉากเรียกเงินจากผู้ปกครอง

สะท้อน“สูตรสำเร็จ”การปรับชั้นเชิงใหม่ๆต่อเนื่อง จนทำให้หลายคนแม้รู้ แต่ก็ยังไหวตัวไม่เท่าทันพอ จนเกิดความสูญเสีย โดยเฉพาะรูปแบบการสร้างภาพว่าเป็นกรณีเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครอง แต่แท้จริงแล้วเป็นกรณีหลอกลวงของแกงค์คอลเซ็นเตอร์ที่โทรศัพท์ไปข่มขู่ลูกหลานว่าพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมายก่อนบังคับถ่ายภาพ-คลิปส่งให้มิจฉาชีพไปใช้เพิ่มหลักฐานความซับซ้อนก่ออาชญากรรม

ทีมข่าวอาชญากรรม”สอบถามสถานการณ์หลอกลวงของแกงค์คอลเซ็นเตอร์จาก พล...ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 ซึ่งระบุ วิวัฒนาการแกงค์คอลเซ็นเตอร์ที่เกี่ยวกับประเภทออนไลน์มี 14 ประเภท และทั้งหมดล้วนมีการปรับตัวไม่ว่าจะหลอกให้กู้เงิน โรแมนซ์สแกม ไฮบริดสแกม และคอลเซ็นเตอร์ โดยคอลเซ็นเตอร์ติด 1 ใน 5 อันดับหลอกลวงมากสุด เป็นการหลอกให้กลัว หลอกให้โอนเงิน

คอลเซ็นเตอร์มีวิวัฒนาการที่จะกระโดดหนีไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนโอนได้เลย เพราะไม่มีการยืนยันตัวตน แล้วแต่ว่าตำรวจกับธนาคารมีมาตราการจัดการอย่างไร แกงค์คลอเซ็นเตอร์ก็จะกระโดดไปอีก”

สำหรับทิศทางหลอกลวงลวง ต้องยอมรับว่านาทีนี้ คดีที่เกิดขึ้นมากสุดทั่วประเทศคือคดีทางออนไลน์ที่มีจำนวนสูงมาก แม้หลังบังคับใช้พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนมักถามเมื่อตกเป็นเหยื่อคือ เงินที่อยากได้คืน ดังนั้น ต้องทำงานเป็นนาทีต่อนาที การจะระงับเงินเหยื่อต้องรีบโทรหาสถาบันการเงินเพราะจะมีบทบาทม้าขาวช่วยตำรวจได้

ผบก.สอท.1 ย้ำถึงกลวิธีหลอกลวงของแกงค์คอลเซ็นเตอร์ว่ายังหนีไม่พ้นการแอบอ้างหน่วยงานรัฐ ตำรวจ ที่ดิน ประปา ไฟฟ้า พร้อมแนะนำก่อนกดลิงก์เข้าไป ให้บอกปลายสายว่าเดี๋ยวโทรกลับ ไม่ก็วางสายไปก่อนเพื่อตัดจบ ในกรณีจะตรวจสอบว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ หากโทรกลับไปไม่ได้แสดงว่าเป็นแกงค์คอลเซ็นเตอร์ หรืออีกช่องทางตรวจสอบคือ ดูจากเว็บไซต์ เพจในเฟสบุคต้องมีติ๊กถูก“สีเขียว” ตรงข้างเพจซึ่งแสดงว่ามีการลงทะเบียน

หรืออาจสังเกตความเคลื่อนไหวจากการคอมเม้น เช่น บริษัทนี้ขายสินค้ายอดเป็นล้านๆ แต่มีคนคอมเม้น แค่ 2-3 คน รวมถึงสังเกตเรื่องการจดทะเบียน

ส่วนข้อสงสัยเหตุใดแกงค์คอลเซ็นเตอร์ไม่หายไปจากสังคม แม้จะเตือนกันมานาน มองว่า มิจฉาชีพที่หาเงินได้ดีที่สุด ไม่ใช่การลักขโมยรถ หรือลักทรัพย์ แต่เป็นโทรศัพท์มือถือที่ทุกคนถืออยู่ ที่ไม่ว่าจะไปทำงาน จะเข้าห้องน้ำ จะไปนอน ก็มีคนร้ายติดตามตัวตลอด

พร้อมฝากคาถาป้องกันที่ต้องจำให้ขึ้นใจ เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงเทคนิคแค่ไหน ก็จะไม่หลงเชื่อคือ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” .

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]