ทั้งนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มิใช่ว่าจะมาวิพากษ์เกี่ยวกับความเชื่อในรูปเคารพดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่ง ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรนั่นก็ย่อมสุดแท้แต่ อย่างไรก็ตาม ดูกันในภาพรวมเกี่ยวกับความเชื่อ กับกรณี “เชื่ออะไรที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ” นั้น…

เรื่องนี้ก็น่าพลิกแฟ้มดูในมุมวิชาการ…

“เชื่ออะไรแปลก ๆ” มัก “มีเสียงปุจฉา”

แต่ “สาเหตุ-ผลลัพธ์” ต่างหาก “น่าคิด”

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มดูในมุมวิชาการเกี่ยวกับ “ความเชื่อ” ในกรณีทำนองนี้ ที่หมายรวมทั้ง “รูปเคารพ-พิธีกรรม” หรือ “ลัทธิ”… ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอไปบ้างแล้ว…และวันนี้ชวนดูเน้น ๆ จากที่ในทางวิชาการก็ติดตามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแนวความเชื่อเรื่องนี้ ซึ่งในไทยเราก็มีงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงมีข้อมูลที่สะท้อนเผยแพร่สู่สาธารณะไว้ อย่างเช่นบทความเรื่อง “ศาสนาในสังคมโลกสมัยใหม่” ที่จัดทำโดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สะท้อน-เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์www.human.cmu.ac.th

ข้อมูลในบทความดังกล่าวก็“ฉายภาพ”…

บ่งชี้ถึงปรากฏการณ์” กรณี“ความเชื่อ”

“ปรากฏการณ์ความเชื่อ” ที่มีการศึกษาและสะท้อนเผยแพร่ไว้ผ่านบทความดังกล่าว ได้ถูกฉายภาพ-บ่งชี้ไว้ผ่านกรณี “ลัทธิใหม่ ๆ ในสังคมสมัยใหม่” ซึ่งทาง ศ.ดร.อรรถจักร์ ได้สะท้อนถึงเรื่องนี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า… ปรากฏการณ์เด่นชัดที่ชี้ให้เห็นถึง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมิติของศาสนาในสังคมโลกสมัยใหม่ ก็คือ… การเกิดขึ้นและขยายตัวของ “ลัทธิพิธีใหม่” ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเกิดขึ้นพร้อมกับการลดน้อยถอยลงของศรัทธาในศาสนาหลัก ซึ่งการเกิดขึ้นและขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่ ๆ นั้นก็เป็นเรื่องที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ และพยายามจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ เพราะ…

“ลัทธิพิธีใหม่ ๆ” ที่ “เกิดขึ้นมาก” นั้น…

“มักมีเป้าหมายที่ต่างจากขนบศาสนา”

นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้อธิบายไว้ถึงการแพร่ขยายของลัทธิใหม่ โดยระบุไว้ว่า…ทั่วโลกได้พบเห็นการเกิดขึ้นมาใหม่ของ “ลัทธิพิธีใหม่” ต่าง ๆ ที่มักมี เป้าหมาย และ “ความเชื่อ” ที่แตกต่างไปจากขนบและความเชื่อทางศาสนาแบบเดิม ๆ อยู่ตลอด เช่น สหรัฐอเมริกา มีลัทธิพิธีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากถึงราว 400 กลุ่ม ในช่วงทศวรรษ 1980 และอีกประเทศคือ ญี่ปุ่น ที่ก็มีลัทธิพิธีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายเช่นกัน ซึ่งการขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่ ๆ กลายเป็น “กรณีศึกษา” ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจ…ก็เมื่อมีกรณี “ลัทธิประหลาด” ที่ “ปล่อยแก๊สพิษฆ่าคน!!”

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดจาก “ลัทธิใหม่” ก็ทำให้สังคมโลกมีทัศนคติเชิงลบต่อลัทธิใหม่ ๆ… อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.อรรถจักร์ ได้มีการ “จำแนกกลุ่มลัทธิพิธีใหม่” ที่พบ “ในสังคมสมัยใหม่” เอาไว้ว่า… แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มอย่างกว้าง ๆ คือ…

กลุ่มที่ เน้นตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน ซึ่งสำหรับกลุ่มนี้ก็มักจะ เน้น “ความเชื่อ” ในเรื่องเกี่ยวกับ “ปาฏิหาริย์ หรือไสยศาสตร์” จากการ “บูชาเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อในลัทธิพิธี” นั้น ๆ…

ถัดมาเป็น กลุ่มที่เน้นควบคุมจิตใจ ที่มี “ความเชื่อ” เรื่องความพยายามเข้าใจความเป็นมนุษย์ และ “ควบคุมจิตใจให้ดำเนินไปถึงเป้าหมายของลัทธิพิธี” นั้น… กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มที่เน้นความเชื่อเรื่องโลกแตก กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมีฐานมาจากความ “เกลียดชังระบบสังคมที่เป็นอยู่-ต้องการสร้างโลกใหม่” และอีกกลุ่ม…กลุ่มนี้ “น่าสนใจในทางดี” นั่นคือ กลุ่มที่เน้นมิติทางสังคม ที่จะ เน้น “ศีลธรรม” ที่วางอยู่บนการ “ช่วยผู้อื่น-ช่วยสังคม” ที่บางลัทธิก็เน้นการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งหมดอย่างมีจริยธรรม …เหล่านี้เป็นการจำแนกลัทธิพิธีใหม่ที่พบในสังคมสมัยใหม่ ที่ทางนักวิชาการสะท้อนไว้

และ “โฟกัสประเทศไทย” ก็มีการระบุว่า…

“สังคมไทยสมัยใหม่” ก็ “มีลัทธิใหม่ ๆ”

“ลัทธิพิธีใหม่ที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าคนในสังคมสมัยใหม่มีความต้องการการอธิบายกระบวนการชีวิตที่มีความแตกต่างและหลากหลายมากกว่าคำอธิบายจากความเชื่อตามศาสนาดั้งเดิม จึงมีคนไม่น้อยหันเข้าหาลัทธิพิธีใหม่ เพราะหวังจะแสวงหาคำตอบที่ไม่เหมือนกับคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม” …เป็นคำอธิบาย “ปัจจัยทำให้เกิดลัทธิใหม่” ที่ก็ “รวมถึงในไทย”

กับลัทธิใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในไทยนั้น ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ชี้ไว้ว่า… มิใช่ว่าลัทธิใหม่ที่มีเกิดขึ้นทุกลัทธิจะก่อปัญหาให้สังคม ซึ่งก็มีไม่น้อยที่เน้นให้สมาชิกปฏิบัติตนอยู่ในครรลองความสงบสันติสุข เช่นเดียวกับศาสนาทั่วไป อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นและขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่เป็น “ปรากฏการณ์สำคัญ” ที่สังคมไทย “ก็ควรเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ชัดเจน”

“ลัทธิ-พิธี-รูปเคารพ” ทั้งเดิม ๆ-ใหม่ ๆ

“แปลก-ไม่แปลก” ก็ “สุดแท้แต่จะเชื่อ”

“ที่สำคัญ” คือ…“เชื่อแล้วร้ายหรือดี??”.