โดยเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) เผยข้อมูลไว้ว่า… “สถานการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้จะรุนแรงมาก”และอาจส่งผลกระทบยาวไปถึงเดือน มี.ค. ปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับการออกมาระบุจากทาง องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ก็ส่งสัญญาณถึงประชาคมโลก รวมถึงประเทศไทย ว่า…ขณะนี้โลกสิ้นสุดยุคโลกร้อนแล้ว?? แต่…

กำลังจะเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” แทน…

เรื่องนี้ดูจะ “ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด”

เพราะ “ก็เห็นได้จากภัยพิบัติทั่วโลก!!”

ทั้งนี้ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว โดยเฉพาะในปีนี้ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ “เอลนีโญขั้นรุนแรง” และ ไทยก็ย่อมจะเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ กับผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงสร้างความเสียหายในเชิงพื้นที่ แต่ยังเป็นอีกปัจจัย “กระตุ้นให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น” ด้วย ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลกรณีนี้  โดยปัญหาผลกระทบจากเอลนีโญกรณีนี้  “มุมรัฐศาสตร์” ก็ให้ความสนใจ ซึ่ง รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มีการสะท้อนถึง “ผลกระทบจากเอลนีโญ” ไว้ว่า…เป็น “ตัวการสำคัญ”…

เป็น “ตัวเร่งความเหลื่อมล้ำ”

เกี่ยวกับการวิเคราะห์เรื่องนี้กรณีนี้ รศ.ดร.ธนพันธ์ ได้มีการสะท้อนไว้ผ่านทาง เฟซบุ๊ค “ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม” โดยระบุไว้ว่า… “เอลนีโญ” ไม่เพียงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ยัง เป็นตัวเร่ง “ความเหลื่อมล้ำ” ในหลาย ๆ มิติ ซึ่งเมื่อเกิดเอลนีโญ แล้วทำให้เกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาหลาย ๆ เดือน จะทำให้ปริมาณน้ำในระบบชลประทานลดลง กระทบกับกระบวนการเพาะปลูก โดยเฉพาะพืชผลที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก จนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ หรือส่งผลให้การเพาะปลูกไม่สามารถทำได้ทุก ๆ ฤดูกาลเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งเมื่อการเพาะปลูกลดลง ก็ทำให้ผลผลิตลดลง…

ผลผลิตมีน้อยกว่าความต้องการตลาด

ทำให้เกิดการแย่งชิง-ทำให้ราคาสูงขึ้น

ขณะที่ ปัญหาจากเอลนีโญ” อีกประการที่จะตามมาคือ… ผลกระทบจาก “พฤติกรรมเพาะปลูกเปลี่ยนแปลง” ไปจากเดิม โดยทาง รศ.ดร.ธนพันธ์ ได้มีการขยายความปัญหาเรื่องนี้ไว้ว่า… เมื่อปริมาณน้ำ-ปริมาณฝนลดน้อยลง ก็จะส่งผลทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเพื่อทดแทนการเพาะปลูกพืชผลแบบเดิม ซึ่งสำหรับพืชที่ใช้น้ำน้อย ก็มีอาทิ มันสำปะหลัง ถั่ว เป็นต้น โดยจะส่งผล ทำให้เกิดปัญหาพืชผลล้นตลาด…จนทำให้ราคาตกต่ำลง และส่งผลไปถึงราคาในตลาดโลกที่ก็จะลดลงตามไปด้วย จะ ก่อให้เกิดปัญหาขาดทุนในการเพาะปลูก ทำให้รายได้และรายจ่ายไม่สมดุลกัน

นอกจากนี้ “เอลนีโญ” ยังทำให้เกิดปัญหา “ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากเมื่อเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูก หรือเปลี่ยนแปลงชนิดพืชผลที่เพาะปลูก หันไปเพาะปลูกพืชชนิดหัวใต้ดินที่ใช้น้ำน้อยกันมากขึ้น ก็จะ ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกสูญเสียคุณค่า เช่น ทำให้ดินเสีย ซึ่งปัญหานี้ก็เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในอดีต โดยเมื่อเกษตรกรสหรัฐเปลี่ยนไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะขาดแคลนน้ำ ได้ส่งผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดหายไป ทำให้พื้นที่เพาะปลูกของสหรัฐหลาย ๆ แห่งเกิดภาวะที่เรียกว่า “Dust Bowl” หรือ “แอ่งกระทะฝุ่น” จนสหรัฐต้องหาแนวทางฟื้นฟู…

ทั้งนี้ สำหรับ ประเทศไทย ทาง รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ ระบุไว้ว่า… ไทยคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลจาก “เอลนีโญ” แต่ก็สามารถป้องกันบรรเทาไม่ให้ผลกระทบรุนแรงไปกว่านี้ ด้วยการ เร่งหาแนวทางเพื่อ “ลดเหลื่อมล้ำ” ที่ต้องเชื่อมโยงมิติต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตร เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเมื่อปัญหาเกิด กลุ่มผู้มีรายได้น้อยคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด กลุ่มแรกเนื่องจากเมื่อพืชผลลดลง ราคาพืชผลก็จะสูงขึ้น ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึง จนเกิด“ความเหลื่อมล้ำทางอาหาร จากนั้นก็จะเกิด ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ด้วย เนื่องจากต้องนำรายได้ไปใช้เพื่อเข้าถึงอาหาร จนไม่มีเงินเพียงพอจะใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงระบบการศึกษา การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข …นี่เป็นการสะท้อนที่ “น่าคิด”

“เอลนีโญ” จะ “เพิ่มปัญหาเหลื่อมล้ำ!!”

แล้วไทยควรต้องทำเช่นไร??… เรื่องนี้นักวิชาการ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเดิม ให้ทัศนะไว้ว่า… ภาคสังคมถือว่าตื่นตัวกับผลกระทบเรื่องนี้มากพอสมควร ส่วนภาครัฐที่ตื่นตัวก็มีกระทรวงเกษตรฯ ที่พยายามให้ข้อมูลข่าวสารกับภาคเกษตร และกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบสุขภาพจากเอลนีโญ เช่น ฝุ่น PM 2.5 แต่… จะทำให้การป้องกันผลกระทบมีประสิทธิภาพ-ได้ผลจริง จำเป็นต้องทำทุกมิติพร้อมกัน โดยไม่แยกส่วนกัน ด้วยการนำแนวคิด Collaborative Governance มาใช้ เพราะปัญหาเอลนีโญนั้นมิใช่กระทบแค่จุดใดจุดหนึ่ง…

“เอลนีโญ” นั้น “กระทบทุกส่วน-ทุกมิติ”

ดังนั้น “วิธีคิด-วิธีแก้ไขปัญหา” เรื่องนี้…

ถ้า “ไม่ร่วมมือกัน…ก็ยากจะรับมือ!!”.