ปัญหาสังคมผู้สูงอายุมีทั่วโลก ดังนั้นเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” จึงพูดถึงกันมากในช่วงนี้ และที่กำลังเป็นกระแสวิพากวิจารย์คือการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาทตามเกณฑ์อายุ แต่หลังจากวันที้่ 12 ส.ค.66 เป็นต้นไป ต้องมีการพิสูจน์ความยากจน ต้องแจ้งรายได้ก่อนว่าสมควรได้รับเบี้ยยังชีพก้อนนี้หรือไม่
ทีมข่าว Special Report สนทนากับ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช นักวิชาการเศรษฐศาสตร์มหภาค และอดีตรมว.คลัง รัฐบาลพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “รัฐสวัสดิการ” มี 3 รูปแบบ คือ
1.ประกันสังคม (Social Security) มีในแรงงานภาคอุตสาหกรรม-ข้าราชการ หักจ่ายเงินกันตั้งแต่หนุ่ม-สาว โดยมีนายจ้างช่วยจ่ายสสมทบด้วย ภาครัฐจ่ายให้ด้วย แล้วไปกินบำนาญตอนเกษียณ
2.สวัสดิการสังคมที่ให้ตามเงื่อนไข (Social Welfare) คือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่คนไทยกำลังวิพากวิจารย์กันอยู่ คือ อายุ 60 ปีขึ้นไปได้ 600 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไป 700 บาท อายุ 80 ปีขึ้นไป 800 บาท อายุ 90 ปีขึ้นไปได้ 900 บาท
เงินก้อนนี้ห้ามรับซ้อน! ใครเป็นข้าราชการกินบำนาญจะรับ 600-1,000 บาทอีกไม่ได้ เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นทหารแล้วไปเสียชีวิตในหน้าที่ราชการ ดังนั้นสิทธิ-เงินรายได้ต่างๆจึงตกเป็นของพ่อแม่ จึงรับเบี้ยผู้สูงอายุอีกไม่ได้ ยกเว้นผู้พิการมีกฎหมายยกเว้นไว้ว่ารับทั้งเงินช่วยเหลือผู้พิการและเบี้ยผู้สูงอายุ
3.สังคมสงเคราะห์ (Social Work) คือสิ่งที่กำลังวิพากวิจารย์รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ว่า “ลอยแพ” ผู้สูงอายุ ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.66 คนที่อายุ 60 ปี ต้องพิสูจน์ความจน ต้องแจ้งรายได้ว่ามีรายได้เท่าไหร่ พอใช้จ่ายหรือไม่ จึงจะได้เบี้ยผู้สูงอายุเริ่มต้น 600 บาท/เดือน
รัฐสวัสดิการ3,000บาททำได้!ถ้า “จีดีพี” โตกว่านี้
ปัจจุบันมีตัวเลขผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 10 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณจ่ายเบี้ยยังชีพปีละ 9-9.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณประเทศปีละ 3.3 ล้านบาท ตนมองว่าพอรับได้ แต่บางพรรคการเมืองหาเสียงว่าจะจ่ายเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งต้องใช้งบประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ คิดว่าเป็นภาระต่องบประมาณพอสมควร
“ถามว่าในอนาคตทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้ เนื่องจาก 3,000 บาท/เดือน คือตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับความยากจนของผู้สูงอายุ และไม่เป็นภาระของลูกหลานมากนัก แต่เศรษฐกิจประเทศต้องโตกว่านี้ ถ้าจีดีพีโตปีละ 5% ทำได้แน่นอน รวมทั้งจะต้องตัดงบประมาณในหน่วยงานที่ไม่จำเป็น เช่น มีกองทัพอยู่แล้วต้องมีกอ.รมน. อีกทำไมในสถานการณ์ปัจจุบัน บางกระทรวง-กรม มีหน่วยงานเกี่ยวกับที่ดิน-สิ่งแวดล้อม ซ้ำซ้อนกันควรต้องยุบ รวมๆกันแล้วสามารถดึงงบออกมาได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อเอามาจ่ายให้ผู้สูงอายุ”
“สังคมสงเคราะห์” ระบบถอยหลังเข้าคลอง!
ศ.ดร.สุชาติกล่าวต่อไปว่า 1. “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” กับเกณฑ์ใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ต่อไปผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน คือไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่พอ จึงจะได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 600, 700, 800,900,1,000 บาท/เดือน
2.เบี้ยผู้สูงอายุออกแบบมาตามกรอบความคิด “สวัสดิการถ้วนหน้า สำหรับคนไทยผู้มีอายุเกิน 60 ปีทุกคน ที่ไม่ได้รับบำนาญหรือสวัสดิการอื่น”
3.ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยที่ทำงานพัฒนาชาติบ้านเมืองมาจนอายุ 60 ปี มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระลูกหลานมากนัก ลูกหลานจะได้มีชีวิตเจริญรุ่งเรืองได้ดี ไม่ต้องห่วงพ่อแม่ที่แก่เฒ่า
4.การเปลี่ยนจากแนวคิดสวัสดิการถ้วนหน้า มาเป็นระบบสงเคราะห์อนาถา ถือเป็นวิธีคิดแบบถอยหลังเข้าคลอง เป็นระบบศักดินาแบบเก่า เลือกปฏิบัติ เอาเงินรัฐบาลมาแจกแบบอุปถัมภ์ เพื่อสร้างบุญคุณแก่ประชาชน
5.ที่มีการกล่าวว่ารัฐต้องใช้เงิน 9-9.5 หมื่นล้านบาท/ปี ดูแลผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินนั้น เป็นวิธีคิดแบบรัฐเป็นนาย ประชาชนเป็นบ่าว ไม่ใช่วิธีคิดแบบเสรีนิยม ที่รัฐบาลเป็นผู้รับใช้ ประชาชนเป็นนายรัฐบาล
6.หวังว่าพี่น้องประชาชนผู้สูงอายุและลูกหลานจะช่วยกันทักท้วง ให้เลิกระเบียบมหาดไทยอันนี้ หากตนมีโอกาสเป็นรัฐบาลในอนาคตจะเปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600-1,000 บาท เป็น 3,000 บาท/เดือน เป็นบำนาญของประชาชน ที่เป็นสิทธิของคนไทย รัฐบาลผู้จัดสรรเงินให้ไม่มีบุญคุณ ซึ่งจะใช้เงินปีละ 4 แสนล้านบาท โดยปรับโครงสร้างรายจ่ายของรัฐบาลที่ฟุ่มเฟื่อย ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็นลง
“การมีเงื่อนไขให้พิสูจน์ความจน และต้องแจ้งรายได้ เป็นการปูทางไปสู่ระบบเส้นสาย การทุจริต การให้ข้อมูลจะโกหกกันเต็มไปหมด ใครไม่มีเส้นก็ไม่ได้เงิน คนจนจริงๆจะไม่ได้เงิน ทั้งที่ภาครัฐควรจ่ายตามเงื่อนไขธรรมชาติ คือจ่ายตามอายุและท้องที่ โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นระบบประกันสังคมเหมือนกันทั้งประเทศดีที่สุด สวัสดิการคนทุกสาขาอาชีพไม่เหลื่อมล้ำกัน เช่น สิงคโปร์เก็บเข้าประกันสังคมตั้งแต่หนุ่ม-สาวถึง 23% ของรายได้ และจ่ายภาษีอีก 20% รวมกันคือ 43% ในยามเกษียณจึงอยู่สบาย เหมือนประเทศยุโรปตอนเหนือคนของเขาจ่ายเข้ารัฐกว่า 60% ของรายได้ รัฐจึงดูแลให้หมด แต่หนุ่ม-สาวไทยจ่ายประกันสังคม 5% นายจ้างสมทบให้อีก 5% รัฐบาลช่วยอีก 2.75% แค่นี้ยังบ่นกันหนักอยู่แล้ว” ศ.ดร.สุชาติกล่าว