อย่างไรก็ตาม กับ “สันติภาพในสังคมไทย” เอง… “ก็น่าคิดว่าจากนี้จะเป็นเช่นไร??” และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “ดัชนีชี้วัด” ที่น่าสนใจ…

“สันติภาพ”…วันนี้มาดู “ในเชิงวิชาการ”

มีการ “จำแนกนิยามสันติภาพ 2 แบบ”

คือ “สันติภาพเชิงบวก-สันติภาพเชิงลบ”

เกี่ยวกับสันติภาพในเชิงวิชาการนั้นเรื่องนี้มีข้อมูลวิชาการน่าสนใจ โดย ชลัท ประเทืองรัตนา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้มีการอรรถาธิบายเอาไว้ผ่านทางบทความ “ดัชนีสันติภาพโลกและสถานการณ์สันติภาพในสังคมไทย” โดยระบุไว้ว่า… สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ ได้มีการจัดทำเกี่ยวกับ “ดัชนีสันติภาพโลก” มานานมากกว่า 10 ปีแล้ว และมีการวัดและเปรียบเทียบ “ความสงบสุข” ของประเทศต่าง ๆ 163 ชาติ เป็นประจำทุก ๆ ปี ซึ่งสถาบันฯ ดังกล่าวได้ “นิยาม” ถึงคำว่า “สันติภาพ” เอาไว้เป็น 2 ประเภท คือ… สันติภาพเชิงบวก และ สันติภาพเชิงลบ

ส่วน “การวัดระดับสันติภาพ” นั้น…

จะ “วัดจากสันติภาพเชิงลบเท่านั้น”

ทั้งนี้ ทางผู้จัดทำบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังได้มีการแจกแจงไว้ต่อไปว่า… สาเหตุที่ใช้สันติภาพเชิงลบเป็นตัวชี้วัดนั้น เนื่องจากสามารถใช้วัดได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีข้อมูลที่ครบถ้วนมากกว่าสันติภาพเชิงบวก โดยหัวข้อ “สันติภาพเชิงลบ” นั้น ก็จะ ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก รวม 23 ตัวชี้วัด ที่มีทั้งการชี้วัดเชิงปริมาณและคุณภาพ …นี่เป็นคำอธิบายถึง “เหตุผล” ที่การชี้วัดเกี่ยวกับระดับสันติภาพนั้นจะเลือกใช้เฉพาะแค่ “ตัวชี้วัดจากสันติภาพเชิงลบ” เท่านั้น

สำหรับ “ตัวชี้วัด” ของ “สันติภาพเชิงลบ” ที่มีการใช้ วัดระดับสันติภาพ เพื่อการ จัดอันดับสันติภาพโลก นั้น ในบทความวิชาการดังกล่าวก็ได้อธิบายไว้ว่า… ตัวชี้วัดของสันติภาพเชิงลบที่ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก รวม 23 ตัวชี้วัดนั้น แต่ละตัวชี้วัดจะมีการอธิบาย และ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากองค์กรและสถาบันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้…

ด้านที่ 1 ความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศที่ดำรงอยู่ (Ongoing Domestic and International Conflict) วัดจากการรับรู้ของประชาชน ด้านอาชญากรรม อัตราอาชญากรรม เสถียรภาพการเมือง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนครั้งการสู้รบ การสู้รบยังคงดำรงอยู่หรือไม่ โดยด้านนี้มี ตัวชี้วัด 6 ตัว คือ 1.จำนวนและระยะเวลาของ ความขัดแย้งในประเทศ 2.จำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในประเทศ 3.จำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งนอกประเทศ 4.จำนวน ระยะเวลา และบทบาทในความขัดแย้งภายนอก 5.ความเข้มข้นของความขัดแย้งภายใน 6.ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

ถัดมา ด้านที่ 2 ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม (Societal Safety and Security) วัดจากจำนวนผู้ลี้ภัยสงคราม จำนวนฆาตกรรม ประชากรในเรือนจำ จำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ความสูญเสียจากการก่อการร้าย รวมถึงวัดจาก ความไว้วางใจของคนในสังคมด้านนิติธรรม และ เสถียรภาพทางการเมือง และผลกระทบของการประท้วง โดยมี ตัวชี้วัด 10 ตัว คือ 1.ระดับการรับรู้ต่ออาชญากรรมหรือการทำผิดกฎหมายในสังคม 2.จำนวนผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่น 3.ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง 4.ความหวาดกลัวทางการเมือง 5.ผลกระทบการก่อการร้าย 6.จำนวนการฆาตกรรม 7.ระดับอาชญากรรมรุนแรง 8.ความรุนแรงจากการประท้วง 9.จำนวนประชากรในเรือนจำ 10.จำนวนเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและตำรวจ

จะเห็นว่า 2 ด้านนี้มีกรณี “การเมือง”

“เสถียรภาพ” นั้น “ก็มีผลต่อการชี้วัด”

ส่วน ด้านที่ 3 การทหาร (Militarization) วัดจากงานด้านการทหารและการสนับสนุนปฏิบัติการสันติภาพทางทหารของสหประชาชาติ โดยเป็นการประเมินค่าใช้จ่ายทางการทหารว่ามีมากน้อยเพียงใดในเชิงเปรียบเทียบกับ GDP รวมถึงการสนับสนุนเงินให้สหประชาชาติในการรักษาสันติภาพของประเทศต่าง ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด ตลอดจนวัดจากจำนวนอาวุธและบุคลากรในกองทัพ ผ่าน ตัวชี้วัด 7 ตัว คือ 1.ค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อเปอร์เซ็นต์ของ GDP 2.จำนวนบุคลากรในกองทัพ 3.จำนวนการนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศ 4.จำนวนการส่งออกอาวุธไปต่างประเทศ 5.การสนับสนุนทางการเงินให้การรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ 6.อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธหนัก 7.การเข้าถึงอาวุธขนาดเล็ก …เหล่านี้ก็ “ชี้วัดระดับสันติภาพ”

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายบทความดังกล่าวข้างต้นได้ระบุไว้ด้วยว่า… การวัดสถานการณ์สันติภาพโลกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่เนื่องจากแต่ละประเทศมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การบูรณาการงานด้านสันติภาพของประเทศไทยจะมีประโยชน์มากขึ้นถ้าหากจะมีการพัฒนา ตัวชี้วัดด้านสันติภาพภายใต้บริบทของสังคมไทย ขึ้นมาอย่างเจาะจง เพื่อที่จะนำสู่การเลือกใช้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับไทยต่อไป …และนี่ก็เป็นเรื่อง “สันติภาพเชิงวิชาการ-การชี้วัดสันติภาพ” ซึ่ง… “กับไทยจากนี้ก็น่าคิด??”…

“การเมือง” ยุคนี้ “จะส่งเสริมสันติภาพ?”

หรือ “จะฉุดดึงสันติภาพไทยให้ดิ่งลง?”.