ปัญหาอาชญากรทางเทคโนโลยี หรือที่เรียกติดปากกันว่า “แก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์” ยังอาละวาดในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อลวงเอาเงินในบัญชีธนาคารของเหยื่อ ตั้งแต่หลักหมื่นบาท ไปจนถึงหลักล้านบาท มีให้เห็นเป็นข่าวรายวัน
ขณะที่หน่วยงานรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
วันนี้ทีมข่าว Special Report สนทนากับ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงดังกล่าวของ 5 หน่วยงาน
5หน่วยงานแลกเปลี่ยนข้อมูล-ธนาคารสแกน “บัญชีม้า”
ร.ต.อ.เขมชาติกล่าวว่าแก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์ไม่ว่าจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการหลอกลวงต้มตุ๋นเหยื่อในรูปแบบไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัสดุไปรษณีย์ตกค้าง สิ่งของตกค้างอยู่ที่ศุลกากร หลังสุดมามุกใหม่เรื่องการเสียภาษีที่ดิน แต่สุดท้ายปลายทาง คือ “บัญชีธนาคาร” หรือถ้าเป็นบัญชีของแก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์ เราจะเรียกกันว่า “บัญชีม้า”
สำหรับบันทึกข้อตกลงดังกล่าวของ 5 หน่วยงาน ในหลักการคือต่อไปนี้เราจะแชร์ข้อมูลกัน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ ต่อไปนี้ต้องประสานข้อมูลกัน ธนาคารไหนเจอข้อมูลน่าสงสัยว่าเป็น “บัญชีม้า” ก็ต้องแจ้ง
โดยข้อสงสัยที่ว่าเป็นบัญชีม้า เช่น คนๆเดียวทำไมเปิดบัญชีธนาคารมากถึง 20-30 บัญชี ทำธุรกิจอะไรจึงมีเงินไหลเข้าๆ ออกๆ เป็นหลักแสนบาท หลักล้านบาท มีการโอนเข้า โอนออกโดยทันทีทันใด หรือบางคนมีบัญชีเดียว แต่มีธุรกรรมทางการเงินแปลกๆ ผ่านบัญชีธนาคาร ก็อาจจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันให้ทราบด้วย
ประการต่อมา จากปกติผู้เสียหายจากแก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์ จะไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วตำรวจจึงไปแจ้งกับธนาคาร ขั้นตอนเหล่านี้มีปัญหาในเรื่องของความล่าช้า-ความรวดเร็วของคดี ส่วนหนึ่งคือตำรวจบางท่านไม่ได้เชี่ยวชาญปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอาจมีการปฏิบัติกับผู้เสียหายไม่เท่าเทียมกันทุกคน
ถ้าพลาดท่าโจร! รีบโทรฯแจ้งธนาคารก่อนไปหาตำรวจ
แต่จากนี้ไปผู้เสียหายที่รู้ตัวว่าพลาดท่าแก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์ คุณรีบโทรฯไปแจ้งที่ธนาคารทันที ตามบัญชีต้นทางของผู้เสียหาย หรือบัญชีปลายทางที่เผลอโอนเงินไปให้โจร เนื่องจากบัญชีธนาคารถือว่าเป็นหัวใจหลักในการได้ทรัพย์สิน
“แก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่จะมี 3 บัญชีม้า หรือมากกว่านั้น คือบัญชีม้าแถวที่ 1 บัญชีม้าแถวที่ 2 และบัญชีม้าแถวที่ 3 โดยจะมีการโอนเงินจากแถวที่ 1-2-3 ใช้เวลาประมาณ 3-7 นาที ซึ่งบัญชีแถวที่ 3 อาจจะเป็นบัญชีที่ยังอยู่ในประเทศ หรืออยู่นอกประเทศ แต่ถ้าผู้เสียหายรีบโทรฯแจ้งกับธนาคารของบัญชีต้นทาง (ผู้เสียหาย) หรือบัญชีปลายทาง (บัญชีม้า) ก็มีโอกาสที่จะสกัดกั้นการโอนเงินไว้ได้ทันในช่วงบัญชีแถวที่ 3 หลังจากแจ้งกับธนาคารแล้ว ผู้เสียหายจึงไปแจ้งความกับตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง”
ร.ต.อ.เขมชาติกล่าวต่อไปว่า ยอดปิระมิดของแก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่จะไปจบที่ชาวไต้หวัน (ระดับวางแผน-เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี) รองลงมาคือชาวจีน (ผู้ร่วมก่อการ-หาคนรับจ้างเปิดบัญชีม้า) และท้ายสุดคือชาวไทย-กัมพูชา-ฟิลิปปินส์ (แรงงาน)
ถ้าจะหลอกต้มคนไทย ก็ให้คนไทยโทรฯไปหาเหยื่อที่เป็นชาวไทย ถ้าจะหลอกต้มคนกัมพูชา ก็ให้คนกัมพูชาโทรฯไปหาเหยื่อที่เป็นชาวกัมพูชา โดยมีการฝึก-สอน วิธีการพูดโต้ตอบกับเหยื่อ และสร้างบรรยากาศให้สมจริง ถ้าจะมั่วว่าเป็นตำรวจโทรฯไปหาเหยื่อ ก็จะมีเสียงวิทยุสื่อสารของตำรวจ (เสียง ว.) แทรกเข้าไปขณะสนทนากับเหยื่อด้วย
อย่าโลภ-อย่ากดลิงค์-อย่าโอนเงินง่ายๆ
สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางบัญชีธนาคารถือว่าชอทแรก แต่ชอทต่อไปจะเป็นเรื่องของซิมโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ซึ่งในกรอบของความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ดังกล่าว ต้องมี “กสทช.” เข้ามาร่วมด้วย ในรูปแบบของการตั้งข้อสังเกตในเบื้องต้นว่าทำไมคนๆเดียวแต่มีซิมการ์ดมากมาย มีช่องทางการใช้อินเทอร์เน็ต (ยูสเซอร์) มากนัก ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นเรื่องของอนาคตอันใกล้
ในส่วนของ “ดีเอสไอ” กำลังรอประกาศกฎกระทรวง เพื่อเข้าไปรับผิดชอบคดีแก๊งโจรคอลเซ็นเตอร์ โดยส่วนตัวไม่ทราบว่าเรื่องประกาศกฎกระทรวงไปอยู่ในคณะรัฐมนตรีแล้ว หรือว่าอยู่ที่สำนักงานกฤษฏีกาเพื่อพิจารณาตรวจสอบในเรื่องถ้อยคำต่างๆให้สมบูรณ์ เมื่อมีประกาศกฎกระทรวงออกมา ดีเอสไอจึงรับทำคดีได้ ซึ่งต้องคุยกันอีกครั้งว่าบัญชีม้ากี่บัญชี หรือมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ คดีจึงจะมาถึงมือดีเอสไอ
“ข้อควรระวังของประชาชนทั่วไปคืออย่าโลภ! อย่ากดลิงค์สุ่มสี่สุ่มห้า อย่าพูดคุยกับคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ อย่าโอนเงินง่ายๆ และไม่ต้องเสียเวลาเช็คเบอร์ที่โทรฯมาหาเรา แต่ต้องโทรฯเช็คไปยังเบอร์ของหน่วยงานรัฐว่ามีอะไรกับเราหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าหน่วยงานของรัฐไม่ควรส่งลิงค์ไปหาประชาชน ถ้าหน่วยงานไหนไม่มีการส่งลิงค์ให้ประชาชนต้องประกาศแจ้งให้ชัดเจน เอาเป็นว่าในบางประเทศจะไม่มีหน่วยงานรัฐส่งลิงค์ให้ประชาชนเลย” ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ กล่าว