เพราะ “เกี่ยวพันย้อนโยงถึงประชาชนคนไทยกลุ่มใหญ่มาก” กลุ่มที่มีอาชีพภาคเกษตร ซึ่งความชัดเจนกรณีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลใหม่ ก็ย่อมหมายถึงความชัดเจนของ “นโยบายรัฐทางด้านการเกษตร” ด้วย…ว่า “ต่อไปจะเป็นเช่นไร??”…

วันนี้มาดู “อัปเดตเศรษฐกิจการเกษตร”

ที่ตัวเลขก็จะ “ฉายภาพชีวิตคนเกษตร”

ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ “เป็นเช่นไรบ้าง?”

ทั้งนี้ “ภาวะทางการเกษตรไทย” อัปเดตเศรษฐกิจการเกษตร ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะนำเสนอวันนี้ เป็นข้อมูลภาวะช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หรือ ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 ที่มีการเปิดเผยไว้โดย ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเป็นภาวะทั้ง… สาขาพืช, สาขาปศุสัตว์, สาขาประมง, สาขาบริการทางการเกษตร และรวมถึง สาขาป่าไม้ ซึ่ง…ที่ก็น่าจะดู ๆ น่าจะเห็น ๆ กันไว้ด้วย โดยสังเขปมีดังนี้…

เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไทย ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่… “สาขาพืช” ที่เป็น “สาขาการผลิตหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดของภาคเกษตร” มีภาวะ “หดตัวลง” ซึ่งจากข้อมูล…เพราะปัจจัยปริมาณฝน น้ำในอ่างเก็บน้ำ-แหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้งยังมีสภาพอากาศแปรปรวน และก็ ยังมีปัจจัยอื่น…

ปัจจัยลบมีตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้

และ “ถึงตอนนี้พิษปัจจัยลบนี้ก็ยังคงมี!!”

อันสืบเนื่องจาก “ปัจจัยลบ” ดังกล่าวข้างต้น… ในพื้นที่ ภาคตะวันออก มีลมพายุสลับกับมีฝนตกชุกต่อเนื่อง ส่งผลให้ กลุ่มผลไม้เกิดปัญหาดอกและผลร่วงหล่นเสียหาย ส่วนในพื้นที่ ภาคใต้ ที่มีฝนน้อยและมีสภาพอากาศร้อน ก็ส่งผลให้ ปาล์มน้ำมันและยางพาราเกิดปัญหามีผลผลิตลดลง ขณะที่ปัจจัยลบอื่นก็คือ “ราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญหลายชนิดอยู่ในระดับสูง” ไม่ว่าจะ… ปุ๋ยพืช วัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ “ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น” เกษตรกรมีการชะลอการผลิต ลดการผลิต ใช้ปัจจัยการผลิตลดลง จึงส่งผลให้ภาพรวมของภาคเกษตรขยายตัวได้ไม่มากนัก

เมื่อลงลึกดูกันแบบรายสาขา กับสาขาที่ยังพอขยายตัวได้-รอพัฒนาต่อไปนั้น ข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่า… “สาขาปศุสัตว์”  ขยายตัวร้อยละ 3.2  ซึ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคือ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น และ ไข่ไก่ ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น แต่… ก็มีสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง คือ น้ำนมดิบ เนื่องจากจำนวนแม่โคให้นมลดลง ประกอบกับ ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น เกษตรกรปรับลดปริมาณการให้อาหารข้นที่ราคาสูง เกษตรกรบางรายต้องเลิกเลี้ยง ปริมาณน้ำนมจึงลดลง

ถัดมา“สาขาประมง” ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นคือ กุ้งขาวแวนนาไม มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่… ก็มีสินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง คือ สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ปริมาณลดลง เพราะ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนหลักปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ปลานิล-ปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจาก ต้นทุนอาหารอยู่ในระดับสูง ปริมาณน้ำมีน้อย ประกอบกับพื้นแหล่งผลิตสำคัญในภาคกลางมีสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

สำหรับ “สาขาบริการทางการเกษตร” บริการเตรียมดิน เก็บเกี่ยวผลผลิต ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากการที่ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะปลูก ส่วน “สาขาป่าไม้” ขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยที่เพิ่มขึ้นคือ ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ และการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น จีน ลาว ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคบริการในประเทศ และการส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ครั่ง เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเลี้ยง และเป็นที่ต้องการของตลาดอินเดีย แต่… ก็มีสินค้าสาขาป่าไม้ที่มีผลผลิตลดลง คือ ไม้ยางพารา และ รังนก ก็ลดลง เนื่องจากการส่งออกไปจีนลดลง

จะเห็นว่า “สาขาที่ขยายตัวก็มีส่วนที่ลด”

แล้ว “สาขาที่สถิติหดตัวล่ะ…จะยังไง??”

ทั้งนี้ ที่มีภาวะ “หดตัวลง” คือ “สาขาพืช” หดตัวร้อยละ 1.6 ซึ่งแม้ก็มีส่วนที่เพิ่มขึ้น คือ ลำไย ผลผลิตเพิ่ม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่ม ข้าวนาปรัง ก็ผลผลิตเพิ่ม ขณะที่ ข้าวนาปี ผลผลิต ทรงตัว แต่… ที่มีภาวะหดตัวในไตรมาส 2 ปีนี้ คือ มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลงเพราะสภาพอากาศ ทุเรียน ผลผลิตลดลง ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ เนื่องจากอากาศแปรปรวน ขณะที่ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลงทั้งจากปริมาณฝนน้อย อากาศร้อนจัด และ ปุ๋ยราคาสูง เกษตรกรต้องคุมต้นทุนการผลิตด้วยการลดปริมาณการใส่ปุ๋ย ทำให้ผลผลิตไม่ค่อยสมบูรณ์ มีปริมาณผลผลิตลดลง …เหล่านี้คือ “ภาวะทางการเกษตรไทย” ซึ่งประชาชนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องก็ย่อมต้อง “ลุ้นภาวะทางการเมืองไทย” ด้วย

“รัฐบาลพิเศษ” น่ะ…“คนเกษตรก็รอดู??”

“รอให้การเมืองนิ่ง?…ช่วยพัฒนาต่อ?”…

“ที่มีปัญหา…ก็รอนโยบายช่วยแก้??”.