องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย ( ไอเอสอาร์โอ ) ส่งจรวด “แอลวีเอ็ม3-เอ็ม4” จากฐานปล่อยจรวด ภายในศูนย์อวกาศ สาทิช ธาวัน บนเกาะศรีหริโกฏะ ในอ่าวเบงกอล เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อนำส่งยานสำรวจดวงจันทร์ “จันทรายาน-3”
ต่อจากนั้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ยานสำรวจดวงจันทร์ “จันทรายาน-3” ประสบความสำเร็จ ในการเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ หากทุกขั้นตอนที่เหลือเป็นไปตามแผนการ จันทรายานจะลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค. ที่จะถึง และอินเดียจะเป็นประเทศที่ 4 ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งประสบความสำเร็จ ในการส่งยานสำรวจลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ ต่อจากสหรัฐ สหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน และจีน
อย่างไรก็ตาม อินเดียใช้งบประมาณสร้างยานสำรวจดวงจันทร์ต่ำกว่าอีกสามประเทศดังกล่าวมาก โดยข้อมูลของไอเอสอาร์โอระบุว่า งบประมาณสำหรับโครงการสำรวจจันทรยาน-3 อยู่ที่ประมาณ 74.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 2,607 ล้านบาท ) ทว่าต้องแลกด้วยการใช้เวลาเดินทางที่นานกว่าปกติ
ทั้งนี้ อินเดียเริ่มภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรก เมื่อปี 2551 ด้วยการส่งยานจันทรายาน-1 ซึ่งสามารถเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ปีนั้น ตามด้วยภารกิจจันทรายาน-2 เมื่อปี 2562 แต่เกิดขาดการติดต่อในช่วงนาทีลงจอด และมีการยืนยันในเวลาต่อมา ว่ายานตกกระแทกกับพื้นผิวดวงจันทร์
รัฐบาลอินเดียก่อตั้งไอเอสอาร์โอ เมื่อปี 2505 เพื่อเน้นย้ำและต่อยอดความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาอวกาศ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1920 ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตดาวเทียมดวงแรกของประเทศ ในชื่อ “อารยะภัตตะ” ( Aryabhatta ) ซึ่งเดินทางขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2518 ด้วยความช่วยเหลือในการนำส่งจากจรวดขององค์การอวกาศสหภาพโซเวียต
หลังจากนั้น ไอเอสอาร์โอมีความคืบหน้าด้านการพัฒนาพาหนะสำรวจอวกาศอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถสร้างจรวดสำหรับขนส่งดาวเทียมหลายประเภทได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่ หรือดาวเทียมแบบโคจรค้างฟ้า และปัจจุบัน อินเดียเป็นประเทศมีจำนวนดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกลมากที่สุดในโลก
สำหรับเป้าหมายภายในอนาคตอันใกล้ของไอเอสอาร์โอ รวมถึงการส่งมนุษย์ออกไปสำรวจอวกาศ และแน่นอนว่า ต้องรวมถึงการเดินหน้าโครงการจันทรายาน ซึ่งเป็นแผนงานที่ไอเอสอาร์โอดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานาน 15 ปีแล้ว
หากภารกิจจันทรายาน-3 ประสบความสำเร็จ การดำเนินงานขั้นต่อไปของโครงการสำรวจดวงจันทร์โดยอินเดีย คือภารกิจ “จันทรายาน-4” มีกำหนดการเดินทางในเบื้องต้น คือในปี 2568 โดยได้รับความสนับสนุนทางเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น แล้วตามด้วย “จันทรายาน-5” และ “จันทรายาน-6” ซึ่งจะเป็นการขุดเจาะพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อเก็บตัวอย่าง แล้วนำตัวอย่างนั้นกลับมาศึกษาที่โลกต่อไป
ความใฝ่ฝันด้านอวกาศของอินเดียไม่ได้หยุดยั้งอยู่ที่เพียงการมุ่งมั่นสำรวจดวงจันทร์ ไอเอสอาร์โอมีโครงการสำรวจดาวอังคารด้วย “มังคลายาน” ออกเดินทางไปจากโลก เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2556 และประสบความสำเร็จในการเคลื่อนเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2557
ภารกิจมังคลายานสร้างประวัติศาสตร์ ให้อินเดียเป็นประเทศแรกของโลก ที่ประสบความสำเร็จจากความพยายามเพียงครั้งแรก ในการส่งยานสำรวจไปโคจรรอบดาวอังคาร โดยที่ผ่านมา มีเพียงสหรัฐ องค์การอวกาศยุโรป ( อีเอสเอ ) และสหภาพโซเวียต เท่านั้นที่สามารถพิชิตดาวอังคารได้ และมีภารกิจจำนวน 23 ครั้ง จากทั้งสิ้น 41 ครั้ง ที่ประสบความล้มเหลว
การส่งยานอวกาศขึ้นสำรวจดาวอังคารของอินเดียในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการประกาศศักดาของประเทศที่ไม่เป็นรองใคร ในด้านวิทยาการและการพัฒนาด้วย
ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่จากพลเมืองประมาณ 1,400 ล้านคน ยังคงมีฐานะยากจน แต่ประเทศนี้กลับสามารถผลิตบุคลากรคุณภาพในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ วิศวกร และแพทย์ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ทำให้อินเดียสามารถผลิตมังคลายานได้ด้วยงบประมาณเพียง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 2,622 ล้านบาท ) ซึ่งน้อยกว่าเกือบสิบเท่าตัว เมื่อเทียบกับยานสำรวจ “มาเวน” ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ ที่มีราคาสูงถึง 671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 23,458 ล้านบาท ).
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES