…เป็นภาพ “คุณแม่ยุคดิจิทัล” ที่ทาง พญ.อรสุดา สมประสิทธิ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์เชียงราย สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ถึง “แรงกดดัน+ภาวะทางสังคม” ที่เหล่าคุณแม่ยุคนี้ต้องเผชิญและรับมือกับสถานการณ์นี้…

ชี้ว่า “เป็นคุณแม่ยุคใหม่ยิ่งไม่ใช่ง่าย ๆ”

เป็นงานหนักและ “มีแรงกดดันสูงมาก”

อาจมีผลให้รู้สึก “เครียดมาก-โดดเดี่ยว”

ทั้งนี้ “12 สิงหาคม” ที่ใกล้จะมาถึง ในไทยได้กำหนดเป็น “วันแม่แห่งชาติ” เพื่อจะให้บรรดาลูก ๆ ได้รำลึกถึงพระคุณแม่ และความเสียสละที่ผู้เป็นแม่ต่างก็ทุ่มเทเพื่อลูก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปรวดเร็ว อีกทั้งโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลง กรณีนี้ทำให้ คุณแม่ยุคนี้เผชิญกับ “ภาวะทางสังคม-แรงกดดันต่าง ๆ” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนหลาย ๆ คน “เครียดมาก” และรู้สึก “โดดเดี่ยวมาก” ซึ่งถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือย่อม “กระทบชีวิตของคุณแม่” อย่างแน่นอน โดยสำหรับ “ข้อกังวล” เรื่องนี้นั้น ทางแพทย์ท่านดังกล่าวก็ได้สะท้อน “มุมวิเคราะห์น่าสนใจ” ผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ด้วย…

พญ.อรสุดา ได้สะท้อนมา โดยสังเขปมีว่า… ปัจจุบัน คุณแม่ยุคใหม่ต้องแบกรับแรงกดดันหลายทาง และถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวเพิ่มขึ้น จากสภาพทางสังคมและสภาพครอบครัวที่เปลี่ยนไปซึ่งถือเป็น “ปัจจัยปัญหา” เรื่องนี้ ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของคุณแม่ยุคใหม่จำนวนมาก …ทั้งนี้ ภาพสถานการณ์ที่คุณแม่ยุคดิจิทัลต้องเผชิญ ดังที่คุณหมอท่านนี้ระบุ กรณีนี้ก็สอดคล้องกับผลสำรวจโดยสถาบันรามจิตติ ที่พบว่า เป็นคุณแม่ยุคใหม่ไม่ง่าย เพราะการเลี้ยงลูกทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสภาพสังคมยุคอดีต  โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ขาดเวลาเลี้ยงดูลูกจากการ ต้องทำงานนอกบ้าน ด้วย…

ต้องรับมือค่าครองชีพที่ปรับตัวสูง!!

ถามว่า… เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่ยุคนี้? และทำไมการเลี้ยงลูกยุคนี้ถึงไม่ง่าย? กับเรื่องนี้ทาง พญ.อรสุดา ก็ได้วิเคราะห์และสะท้อนผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… สิ่งที่คุณแม่ยุคใหม่ต้องเผชิญอยู่นั้น ขอใช้คำว่า… “เป็นยุคคุณแม่ผู้ถูกคาดหวัง” จากการที่… “สังคมชอบวาดภาพให้คุณแม่ยุคใหม่ยุคดิจิทัลนั้นต้องเก่งทั้งนอกบ้านและในบ้าน” อีกทั้งยังถูกคาดหวังให้ “ต้องประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูก” ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณแม่ยุคนี้จำนวนไม่น้อยจะ“รู้สึกเครียด-รู้สึกโดดเดี่ยว” รวมถึง “รู้สึกไม่เป็นตัวเอง” เนื่องจากต้องทำตามความคาดหวังของสังคมและคนรอบข้าง…

เพราะ “เป็นคุณแม่ผู้ถูกคาดหวัง” นี่เอง

“ส่งผลให้คุณแม่ไม่น้อยรู้สึกกดดันมาก”

ทั้งนี้ ทาง พญ.อรสุดา ได้เสนอแนะว่า… ถ้าหากคุณแม่มีระบบซัพพอร์ท หรือมีระบบช่วยดูแลลูก ๆ เพื่อที่คุณแม่จะได้ไม่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลเมื่อต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เช่น “ศูนย์เด็กเล็ก” ก็น่าจะช่วยลดแรงกดดันในชีวิตให้กับบรรดาคุณแม่ได้ อย่างไรก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าคุณแม่ทุกคนจะเข้าถึงระบบซัพพอร์ทเช่นนี้ได้ง่าย ๆ เพราะการนำลูกฝากให้ศูนย์เหล่านี้ดูแล บางครั้งก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่าย ทำให้คุณแม่จะต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ดังนั้น ถ้ามีกลไกที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ได้ ก็น่าจะช่วยคุณแม่ได้ไม่มากก็น้อย …นี่เป็น “ข้อเสนอ” ที่น่าพิจารณา…

คือ…“มีกลไกสนับสนุนคุณแม่เพิ่มขึ้น”

อย่างเช่น“ภาครัฐควรเพิ่มศูนย์ดูแลเด็ก”

ส่วนคำถามที่ว่า… ทำไม่คุณแม่ยุคใหม่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว? แล้วคุณพ่อทำไมไม่มีบทบาทในเรื่องนี้? กับประเด็นนี้ ทาง พญ.อรสุดา ระบุว่า…นอกจากกรณี “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจากหย่าร้าง” แล้ว อีกกรณีที่พบมากขึ้นก็คือ“คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจากปัจจัยเศรษฐกิจ” เพราะด้วยฐานะครอบครัว ทำให้คุณพ่อต้องทุ่มกับการออกไปทำงานหาเงิน จึงไม่มีเวลาช่วยดูแลลูก อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าในส่วนของคุณพ่อก็อาจมีได้ 2 แบบ แบบแรก… เป็นพ่อที่เข้าใจและพยายามช่วยคุณแม่ ส่วนอีกแบบ… เป็นพ่อที่ตั้งใจปล่อยภาระให้คุณแม่ จากทัศนคติชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าการเลี้ยงลูกคือหน้าที่ของแม่คนเดียว…

ที่ทำให้เกิดเป็น“ยุคคุณแม่ผู้โดดเดี่ยว”

จากการ “ต้องเลี้ยงลูกคนเดียวลำพัง”

“ไม่มีคุณแม่ที่ดีที่สุดในโลก มีแต่คุณแม่ที่ดีในแบบของตัวเองและเหมาะกับสถานการณ์ของบ้านหรือครอบครัวเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่ฝากไว้คือ อยากให้คุณแม่ทุกคนยอมรับในความเป็นแม่ในแบบฉบับของตัวเอง และอยากให้สังคมไม่ตั้งความคาดหวังให้คุณแม่ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพื่อให้เป็นคุณแม่ที่เหมาะกับลูกและครอบครัว กับเป็นคุณแม่ที่มีความสุข จะดีกว่า” …ทาง พญ.อรสุดา สมประสิทธิ์ ให้แนวทางไว้ ซึ่งเริ่มจาก“ไม่คาดหวัง-ไม่กดดัน”…

“ส่งเสริม” กรณี “คุณแม่แบบฉบับตัวเอง”

ส่วนผู้ที่ “เป็นคุณแม่ผู้โดดเดี่ยวไปแล้ว”

ก็ “ต้องปลดล็อก”…ตอนหน้ามาดูวิธี…