ปัจจุบันแม้จะผ่านการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศมาแล้วเกือบ 3 เดือน แต่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรี เพราะยังตั้งรัฐบาลกันไม่เสร็จ ท่ามกลางเสียงบ่นหนาหูจากผู้คนหลายภาคธุรกิจ ตั้งแต่นักลงทุนขนาดใหญ่-เอสเอ็มอี ลงไปถึงระดับชาวบ้านว่าเศรษฐกิจยังซึมๆ การค้าขายไม่คึกคัก เม็ดเงินไม่สะพัด แต่ตอนนี้ชาวนากำลังยิ้มอย่างมีความสุข เนื่องจากราคาข้าวเปลือกตั้งแต่ยังไม่เก็บเกี่ยวปรับตัวสูง ราคาทะลุตันละ 10,000 บาทไปแล้ว
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? วันนี้ทีมข่าว Special Report สนทนากับนายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย นอกจากคลุกคลีกับธุรกิจโรงสีข้าวของครอบครัวมากว่า 30 ปี ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอีกด้วย
“อินเดีย” มีปัญหา-ชาวนาไทยรับอานิสงส์
นายรังสรรค์กล่าวว่าตอนนี้ประเทศอินเดียสร้างความตื่นตระหนกไปทั้งโลก เนื่องจากประกาศงดการส่งออกข้าวขาว เพราะเกรงว่าข้าวจะไม่พอกิน ไม่พอใช้ภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาอินเดียเป็นเบอร์ 1 ของโลก ในปริมาณการส่งออกข้าว และเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แซงหน้าประเทศจีนไปแล้ว
แต่ปีนี้อินเดียวเจอภัยทางธรรมชาติ ทั้งปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง จึงเกรงว่าข้าวจะไม่พอบริโภคภายในประเทศ จึงชะลอการส่งออกไว้ก่อน เพื่อขอดูสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงไปจนถึงเดือนพ.ย.66
เมื่อเบอร์ 1 ของโลกประกาศชะลอการส่งออกข้าว ผลดีจึงตกอยู่กับชาวนาไทย เนื่องจากตอนนี้ราคาข้าวสารขาว 5% ขยับขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 20 บาท โดยปรับราคาแพงขึ้นจาก 10 วันก่อน ถึงกิโลกรัมละ 5 บาท เรียกว่าปรับตัวขึ้นมา 30% และน่าจะปรับขึ้นไปถึง 40% ในอนาคตอันใกล้
“ถ้าข้าวสารแพง ข้าวเปลือกของชาวนาก็ต้องแพงไปด้วย โดยช่วงเดือนส.ค.65 ราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละ 8,500 บาท แต่ปัจจุบันราคาปรับขึ้นมาถึงตันละ 12,000-12,500 บาท คือราคาข้าวเปลือกปีนี้แพงกว่าปีที่แล้วตันละ 3,500-4,000 บาท ขณะที่สถานการณ์การซื้อ-ขายยังปกติ ข้าวของชาวนาในแถบจ.กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพิ่งเริ่มเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 10 กว่าวัน ทยอยเก็บเกี่ยวกันไปเรื่อยๆจนถึงเดือนต.ค.66 จึงจะหมด แต่แนวโน้มของราคาข้าวเปลือกยังขยับตัวสูงขึ้น
“พ่อค้า-โรงสี” รอดตัว!ไม่มีเสียงครหากดราคาข้าว
นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวต่อไปว่าประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 60 ล้านไร่ สำหรับปี 66 เราคาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศประมาณ 28-30 ล้านตัน (ตัวเลขกลมๆ) เมื่อสีออกมาเป็นข้าวสารจะเหลือประมาณ 20 ล้านตัน ในจำนวนนี้ใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ และใช้ในภาคอุตสาหรรมต่างๆ รวมกันแล้วประมาณ 10 ล้านตัน ดังนั้นจึงจะเหลือข้าวสารเพื่อการส่งออกประมาณ 10 ล้านตัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว-ข้าวหอมมะลิ-ข้าวนึ่ง-ข้าวเหนียว
ส่วนเรื่องปัญหาสภาพดิน-ฟ้า-อากาศ และภัยทางธรรมชาติ ไม่มีใครคาดการณ์ได้ แต่เมื่ออินเดียซึ่งเป็นเบอร์ 1 ส่งออกข้าวประสบปัญหา จึงเป็นโอกาสของเบอร์ 2-3 คือไทยและเวียดนามต้องแข่งขันกัน โดยอันดับ 2-3 จะสลับกัน บางปีไทย บางปีเวียดนาม บางปีเวียดนามเจอพายุมรสุมหนักๆ นาข้าวเสียหายมากเหมือนกัน ดังนั้นภาพรวมและทิศทางของราคาข้าวจะปรับตัวไปอีก แต่ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ ตราบใดที่อินเดียยังต้องรอดูสถานการณ์การผลิตข้าว และภัยทางธรรมชาติไปจนถึงเดือนพ.ย.66 หลังจากนั้นจึงตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการส่งออกข้าวอีกครั้ง
“ที่ผ่านมาพ่อค้าข้าว และโรงสีข้าวมักจะตกเป็นจำเลยของสังคม เนื่องจากถูกต่อว่ามาโดยตลอดว่าเป็นคนกดราคาข้าวเปลือกของชาวนา ข้าวเปลือกถูก แต่ทำไมข้าวสารแพง? อะไรเหล่านี้เป็นต้น เพราะพวกเราอยู่ใกล้ชิดชาวนามากที่สุด แต่ปีนี้ไม่ถูกต่อว่าเพราะราคาข้าวเปลือก-ข้าวสารแพง ปรับขึ้นตามกลไกของตลาดโลก สมาชิกในสมาคมฯจึงแซวกันว่าตอนที่มีรัฐบาลข้าวราคาถูก แต่พอยังไม่มีรัฐบาลราคาข้าวกลับดีขึ้น 30-40% แค่ในช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมา ตรงนี้จึงสะท้อนความจริงได้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาล แต่เกี่ยวกับกลไกของตลาดโลก” นายรังสรรค์ กล่าว