ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนมากกว่า 50% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญมาจากการขุดเจาะในทะเลอ่าวไทย รวมทั้งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมา
แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของผู้รับสัมปทานขุดเจาะจากรายเก่า-รายใหม่ ปริมาณก๊าซที่ขุดได้ยังไม่เท่าเดิม จึงต้องมีการนำเข้าก๊าซ LNG จากตะวันออกกลางเข้ามาสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แพงกว่าก๊าซในอ่าวไทย

วันนี้ทีมข่าว Special Report สนทนากับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน และรองประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับทิศทางการแก้ปัญหาเรื่องพลังงาน-ค่าไฟฟ้าแพง ถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จลุล่วงในเร็วๆนี้

ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย-เมียนมามีปัญหา

นายพิชัยกล่าวว่าสิ่งแรกที่ต้องแก้แน่นอนคือปัญหาค่าไฟฟ้าของประเทศไทยแพงกว่าประเทศเวียดนาม โดยค่าไฟถือเป็นต้นทุนของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นต้องมาดูว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำไมปริมาณไฟฟ้าจึงล้นในระบบ ทำไมค่าไฟจึงแพง โดยมีสาเหตุสำคัญคือ “ต้นทุน” การผลิตไฟสูง

เราทราบกันดีว่าเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าคือก๊าซ เป็นก๊าซในทะเลอ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปีแล้ว เป็นก๊าซที่มีคุณภาพ นำเข้าโรงแยกก๊าซ แล้วต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมปิโตรเคมี-ผลิตเม็ดพลาสติก แต่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยหร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ และสภาพเป็นกระเปาะเล็กๆ น้อยๆ ต้องเจาะกันหลายสิบหลุมกว่าจะได้ปริมาณเยอะๆ ซึ่งต่างจากแหล่งก๊าซของมาเลเซีย และกาตาร์ เจาะแค่หลุมเดียวเจอก๊าซในปริมาณมากๆไปเลย

ส่วนอีกแหล่งคือก๊าซจากประเทศเมียนมา ส่งเข้ามายังโรงไฟฟ้าที่ จ.ราชบุรี แต่ก๊าซจากเมียนมาคุณสมบัติสู้ก๊าซในอ่าวไทยไม่ได้ คือนำเข้าโรงไฟฟ้าเพื่อเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้อย่างเดียว และตอนนี้ปริมาณก็หร่อยหรอลงไปด้วย และเราควรที่จะขอสัมปทานในแหล่งใหม่ๆ แต่เนื่องจากเมียนมามีปัญหาภายใน จึงอาจจะคาราคาซังกันอยู่

เมื่อปัญหาก๊าซในอ่าวไทยไม่พอกับความต้องการ จึงต้องสั่งนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อมาผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น จากต้นทุน 2-3 บาท/หน่วย (ก๊าซในอ่าวไทย) กลายเป็น 5-10 บาท/หน่วย (LNG) ขึ้นอยู่กับราคาขึ้นๆ ลงๆ ของ LNG

“เพื่อไทย” มา!ลุยเจรจา “กัมพูชา” ทันที

“ถ้าพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เราทำแน่นอนและทันทีคือการเจรจากับกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกัน พูดง่ายๆว่าถึงเวลาที่ต้องขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะไทยมีโรงแยกก๊าซของปตท. ถึง 6 โรง สามารถต่อยอดไปเป็นปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่นๆมากมาย คิดเป็นมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากมีบริษัทที่ปรึกษาทำรายงานว่าแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนน่าจะมีในปริมาณเท่ากับ หรือมากกว่าแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่เราขุดกันมากว่า 30 ปี คิดเป็นมูลค่าก๊าซและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนมากกว่า 10 ล้านล้านบาท และนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 6-20 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง”

นายพิชัยกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาตนเคยกระตุ้นให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รีบไปเจรจากับกัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟฟ้า และเป็นแผนการใช้พลังงานในอนาคต คือให้พล.อ.ประยุทธ์ไปเจรจาก่อนที่พรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล เพื่อไม่มีข้อครหาภายหลัง แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ทำ เนื่องจากถ้ารีบลุยเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ต้องเจรจากันเพื่อรีบขุดก๊าซ-น้ำมันขึ้นมาใช้ เพราะต่อไปในอนาคตสังคมโลกจะแอนตี้พลังงานฟอสซิลกันมากขึ้น

เข้าใจกันง่ายขึ้นด้วย 8 เหตุผลที่ไทยควรเร่งเจรจากัมพูชาเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ดังนี้

1.ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีปริมาณมาก ซึ่งจะมีมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี คาดกันว่ามีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ทั้งนี้จะเจรจาเฉพาะการแบ่งพลังงานเท่านั้น ไม่มีการพูดถึงการแบ่งดินแดน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่คงหาข้อยุติไม่ได้

2.ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากประเทศเมียนมาลดลง โดยปัจจุบันแหล่งพลังงานของไทยในอ่าวไทยเริ่มลดลงมาก แถมยังมีปัญหาการส่งมอบสัมปทาน ยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งมอบยิ่งลดลง อีกทั้งเมียนมามีความขัดแย้งอย่างมากภายในประเทศ มีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซ จึงยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซจากเมียนมายิ่งลดลง ทั้งนี้ราคาก๊าซจากอ่าวไทยและราคาก๊าซจากเมียนมาร์มีราคาถูกกว่าราคาก๊าซ LNG ที่นำเข้ามามาก ทำให้ได้ต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่า โดยเฉพาะราคาไฟฟ้า ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะแก้ปัญหานี้ได้ แถมยังมีปริมาณมากเกินพอที่จะไม่ต้องนำเข้าก๊าซเพิ่ม

3.ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน อีกทั้งเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ เพราะปัจจุบันราคาค่าไฟฟ้าประเทศไทยแพงกว่าค่าไฟฟ้าของเวียดนามมาก ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซในพื้นที่อ่าวไทยอยู่หน่วยละ 2-3 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าราคาไฟฟ้าปัจจุบันหน่วยละ 4.70 บาท ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันมาก

4.ในอนาคตการใช้พลังงานจากฟอสซิลทั้งก๊าซ น้ำมัน และถ่านหินจะลดลงมาก เนื่องจากปัญหาโลกร้อน อีกทั้งคนจะใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวกันมากขึ้น ก๊าซและน้ำมันในอนาคตอาจจะไม่มีราคาเลยก็เป็นได้

5.ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อน เป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) สามารถนำมาเข้าโรงแยกก๊าซและนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว 6 โรง อีกทั้งมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่ การนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาขึ้นมาได้ ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก

6.นอกจากจะได้ก๊าซในราคาถูกเพื่อลดต้นทุนพลังงานแล้ว รัฐยังจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่างไทย และกัมพูชา โดยในอดีตรัฐเคยเก็บค่าภาคหลวงได้ถึงปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท ยังไม่นับธุรกิจต่อเนื่องทั้งธุรกิจขายก๊าซ ธุรกิจปิโตรเคมี โรงงานพลาสติก ฯลฯ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม จ้างงาน และจ่ายภาษีให้รัฐทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรายได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาให้กับรัฐได้อย่างมหาศาล ซึ่งรัฐสามารถนำไปใช้ในโครงการสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุได้

7.ค่าภาคหลวงที่จะได้รับ น่าจะได้ในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณมากอย่างแน่นอน ทำให้สามารถปรับค่าภาคหลวงให้มากกว่าเดิมได้ ทำให้รัฐได้เงินมากขึ้น

8.การสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่จะนำขึ้นมาใช้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี ไม่ใช่เจรจาจบแล้วจะได้ก๊าซธรรมชาติขึ้นมาในทันที ดังนั้นจึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่